ทีดีอาร์ไอ เปิดผลศึกษา “เจาะประเด็นความท้าทายในการแข่งขันบนธุรกิจแพลตฟอร์มขายสินค้าและการขนส่ง” ชี้ ตลาดซื้อขายออนไลน์ผ่าน App-Web โตไว มูลค่าตลาดพุ่งทะยาน หลายแสนล้านต่อปี ขณะที่ 2 แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 68 เปอร์เซ็นต์ ห่วงกลยุทธ์สองขาทั้งขายและส่งเอง เสี่ยงผูกขาด กระทบธุรกิจที่ให้บริการเฉพาะขนส่ง แนะปรับหลักคิดติดตามแข่งขันและ ปรับกม.ป้องกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาและเสวนาในหัวข้อ “เจาะประเด็นความท้าทายในการแข่งขันบนธุรกิจแพลตฟอร์มขายสินค้าและการขนส่ง” เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยทีมวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ประกอบด้วย ดร. ภาวิน ศิริประภานุกูล นายชาคร เลิศนิทัศน์ นายธนิน ว่องวงศ์ และนายสพล ตัณฑ์ประพันธ์ ภายใต้โครงการ ศึกษาวิเคราะห์ติดตามพฤติกรรมในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ E-Marketplace (แพลตฟอร์มสื่อกลางสำหรับซื้อขายสินค้า ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน) และธุรกิจแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ที่อาจก่อให้เกิดการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560
คณะวิจัย พบว่า ในปี 2565 ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มรายใหญ่ 2 รายครอบครองส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจ E-Marketplace สูงถึงร้อยละ 68 ของยอดเงินจำหน่ายของผู้ประกอบธุรกิจ E-Marketplace ในประเทศไทยทั้งหมด นอกจากนี้ จากงานศึกษาของ Krungthai COMPASS ยังชี้ให้เห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ E-Marketplace ขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยมูลค่าตลาดเติบโตจาก 2 แสนล้านบาท ในปี 2562 สู่ 6 แสนล้านบาทในปี 2566 อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะโครงสร้างของธุรกิจ E-Marketplace และจำนวนผู้ซื้อสินค้าและผู้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม E-Marketplace ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี่เอง จึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมฝ่าฝืน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่งานศึกษาชิ้นนี้ถึงพฤติกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดความผิด
ห่วงใช้อำนาจเหนือตลาด ในธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม
ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของธุรกิจ E-Marketplace ในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการประกอบธุรกิจที่ขยายขอบข่ายการดำเนินกิจการไปยังอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดระบบนิเวศของธุรกิจ ส่งผลให้มีประโยชน์ต่อการลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจระยะยาว จากการสร้างความประหยัดจากความหลากหลาย (Economy of Scope) หรือการที่ธุรกิจสามารถประหยัดต้นทุนได้มากถ้าดำเนินธุรกิจหลายชนิดในเวลาเดียวกัน และ ความประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) หรือการผลิตสินค้าจำนวนมากที่ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลง
ขณะเดียวกันงานศึกษาชิ้นนี้ยังให้ความสำคัญกับศึกษาถึงการเชื่อมโยงข้ามอุตสาหกรรมที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจ E-Marketplace และธุรกิจแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ ซึ่งอาจนำมาสู่พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือแข่งขันที่ลดลง รวมไปถึงการใช้อำนาจเหนือตลาด ที่ส่งผลต่อธุรกิจแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ในรายที่ให้บริการเฉพาะการขนส่งสินค้าแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ด้วย
บังคับใช้กม.ให้สอดคล้องกับตลาดจริง เสริมแข่งขันที่เป็นธรรม
คณะผู้วิจัย จึงมีข้อเสนอว่า ในการกำกับดูแลธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มจำเป็นต้องอาศัยประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อใช้ในการติดตามความเสี่ยงดังกล่าว รวมทั้งควรพิจารณาหลักกฎหมายเชิงป้องกัน (Ex-ante regulation) ที่กำหนดพฤติกรรมต้องห้ามของธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ อันเป็นมาตรฐานการกำกับการแข่งขันของธุรกิจดิจิทัลในระดับโลก เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมในธุรกิจ ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้า ควรมีแนวทางการติดตามพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นระบบและสะท้อนลักษณะระบบนิเวศของอุตสาหกรรม พร้อมทั้งการบังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องมีหลักคิดที่เหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยี จนนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
วงเสวนาถกความท้าทายการแข่งขันแพลตฟอร์มขายสินค้า-ขนส่ง
ขณะที่เวทีเสวนาในหัวข้อ “เจาะประเด็นความท้าทายในการแข่งขันบนธุรกิจแพลตฟอร์มขายสินค้าและขนส่ง” มีผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประกอบด้วย น.ส.ศุกระวรรณ เศวตะพุกกะ ตัวแทนกลุ่มผู้ขายสินค้าออนไลน์ น.ส.ศุภจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ศูนย์พัฒนากฎหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ,- ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการด้านกฎหมายดิจิทัลและการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน ทีดีอาร์ไอ ,ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต ทีดีอาร์ไอและอดีตผู้บริหารบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลก และดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดำเนินรายการโดยนายชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ