tdri logo
tdri logo
17 พฤษภาคม 2024
Read in 5 Minutes

Views

ถึงเวลาเปิดทางให้เยาวชน ออมผ่านตลาดทุน

สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์และมีแนวโน้มที่สัดส่วนประชากรวัยเกษียณจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังที่รัฐจะไม่สามารถจัดหาสวัสดิการยามเกษียณแก่ประชาชนได้อย่างเพียงพอ

ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมให้ประชาชนได้มีเงินออมสำหรับวัยเกษียณจึงเป็น “ทางรอด” มากกว่า “ทางเลือก” ของประเทศไทย

ในปัจจุบันประชาชนทั่วไปมีช่องทางออมเงินเพื่อการเกษียณอยู่หลายช่องทางทั้งแบบภาคบังคับ เช่น ประกันสังคม และแบบสมัครใจ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสิ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดต่างๆ ที่รอการปรับปรุง เช่น กำหนดยอดเงินออมสะสมต่อเดือนน้อย มีนโยบายการหาผลตอบแทนแบบเน้นความเสี่ยงต่ำทำให้ผลตอบแทนระยะยาวไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ หรือสามารถเริ่มฝากเงินได้เมื่อเข้าสู่วัยทำงานแล้วเท่านั้น เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางการส่งเสริมการออมอีกแนวทางหนึ่งคือ การให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีสามารถลงทุนในตลาดทุนได้เพื่อเพิ่มระยะเวลาการออมเงิน ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนทบต้นเกิดเพิ่มพูนมากขึ้นจากแหล่งเงินออมที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้

เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นผู้เขียนขอแสดงตัวอย่างผ่านการเปรียบเทียบระหว่างบุคคลสองคน โดยคนแรกเริ่มลงทุนในตลาดทุนตั้งแต่อายุ 20 ปี ส่วนคนที่สองเริ่มลงทุนในตลาดทุนตั้งแต่อายุ 18 ปี หากทั้งสองคนเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี คนแรกจะมีเวลาลงทุน 40 ปี ส่วนคนที่สองจะมีเวลาลงทุน 42 ปี ถ้าทั้งสองคนทยอยลงทุนตามแนวคิด Dollar Cost Averaging เดือนละ 1,000 บาทและ ได้ผลตอบแทน 7% ต่อปีตามอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของ SET ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (0.6% ต่อเดือน)

เมื่ออายุ 60 ปีคนที่เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 20 ปีจะได้ผลตอบแทนรวมเงินลงทุนประมาณ 2.6 ล้านบาท ส่วนคนที่เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 18 ปีจะได้ประมาณ 3 ล้านบาทจะเห็นได้ว่าการลงทุนเร็วขึ้นเพียง 2 ปีด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันจะทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้นถึง 16% หรือประมาณ 400,000 บาท

แม้ผลตอบแทนทบต้นจากการลงทุนจะมีพลังมากในระยะยาวและมีความเป็นไปได้ที่จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปีจากการลงทุนในตลาดทุน แต่กระนั้นตลาดทุนไทยยังมีข้อจำกัดบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของเยาวชน เช่น การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนของเยาวชนที่อายุไม่ถึง 20 ปีต้องให้ผู้ปกครองยินยอมเสียก่อน และยังไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่ยืดหยุ่นให้ทยอยลงทุนในมูลค่าต่ำและมีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเยาวชน

ข้อจำกัดเกี่ยวกับการเปิดบัญชีของเยาวชนนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 ซึ่งหากเยาวชนทำการเปิดบัญชีลงทุนโดยที่ผู้ปกครองไม่ได้ให้ความยินยอมจะถือว่าบัญชีนั้นๆ เป็น “โมฆียะ” สามารถถูกบอกล้างได้ ส่งผลให้ปัจจุบันในการเปิดบัญชีลงทุนให้เยาวชนนั้นบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะให้ผู้ปกครองให้ความยินยอมก่อน ซึ่งอาจทำให้เยาวชนถูกกีดกันจากการลงทุนในตลาดทุนไปโดยปริยาย

ผู้เขียนจึงเสนอว่าควรมีกฎระเบียบที่สร้างความชัดเจนว่า เยาวชนไทยสามารถเปิดบัญชีลงทุนได้ เช่น การออก พ.ร.บ.การออมและการลงทุนสำหรับผู้เยาว์และควรมีการกำหนดบัญชีสำหรับเยาวชนขึ้นมาเหมือนกับในต่างประเทศด้วย

ยกตัวอย่างเช่นในสหราชอาณาจักร ที่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่เรียกว่า Junior Individual Saving Accounts (Junior ISAs) ซึ่งก่อตั้งภายใต้กฎหมาย The Individual Savings Account Regu lations 1998 โดยเป็นบัญชีที่เยาวชนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปสามารถเปิดได้เอง (เยาวชนในสหราชอาณาจักรบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 18 ปี) ทั้งนี้หากเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี ผู้ปกครองสามารถเปิดบัญชีนี้ในนามของบุตรและจัดการลงทุนในหลักทรัพย์แทนบุตรได้แต่เมื่อบุตรอายุครบ 16 ปีจะมีการโอนสิทธิ์จัดการบัญชีให้กับบุตร

ขณะเดียวกันควรต้องมีการกำหนดผลิตภัณฑ์การลงทุน ที่บัญชีสำหรับเยาวชนสามารถลงทุนได้และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากเกินสมควรแก่เยาวชน เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนในการลงทุนจริง นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันเยาวชนจากความเสียหายที่รุนแรงจนอาจทำให้เยาวชนมีอคติต่อตลาดทุนและล้มเลิกการลงทุนในตลาดทุนไป

อย่างไรก็ตาม การเปิดทางให้เยาวชนลงทุนในตลาดทุนเพื่อเพิ่มระยะเวลาการออมเงินนั้นจะประสบความสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มีการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินร่วมด้วย เพราะความรู้จะเป็นเกราะคุ้มกันตลอดชีวิตให้คนไทยในโลกของการเงินและการลงทุน

บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “โครงการกิโยตินกฎระเบียบ ตลาดทุน” โดยทีดีอาร์ไอและกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)

บทความโดย : ธนภูมิ ไชยศิริ และ ธิปไตร แสละวงศ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เผบแพร่ครั้งแรก : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม 2567

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด