tdri logo
tdri logo
25 กรกฎาคม 2024
Read in 5 Minutes

Views

งดเว้นการปิด ‘อากรแสตมป์’ ช่วยลดภาระ-ต้นทุนบริษัท

ภาระอย่างหนึ่งในการประชุมของบริษัทที่เราอาจจะนึกไม่ถึงก็คือ ภาระจากการที่กฎหมายกำหนดให้ปิดอากรแสตมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมและต้อง “มอบฉันทะ” ให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทน

ประมวลรัษฎากรกำหนดให้หนังสือมอบฉันทะจะต้องปิดด้วย “อากรแสตมป์” ให้ถูกต้อง แม้กฎหมายจะระบุว่า การเสียภาษีและปิดอากรแสตมป์เป็นความรับผิดชอบของผู้มอบฉันทะ แต่ในทางปฏิบัติบริษัทเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (corporate governance)

กระบวนการดังกล่าวจึงถือเป็นหนึ่งในภาระงานของบริษัท เพราะทุกบริษัทจะต้องจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ขณะที่การปิดอากรลงในเอกสารมอบฉันทะของผู้ถือหุ้นนั้น มีค่าใช้จ่ายฉบับละ 30 บาทต่อครั้ง ทั้งยังมีต้นทุนด้านอื่นด้วย เช่น ค่าตอบแทนและระยะเวลาที่ใช้ปิดอากรแสตมป์ลงในหนังสือมอบฉันทะทุกฉบับ ซึ่งมีจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัท

นั่นหมายความว่า หากคำนวณต้นทุนในการปิดอากรแสตมป์ของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์กว่า 800 บริษัท และบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์อีกจำนวนมากจะพบว่าบริษัทมีต้นทุนจากการปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบฉันทะจำนวนไม่น้อยทีเดียว

ในขณะที่หน่วยงานรัฐก็มีรายได้จากการจัดเก็บอากรแสตมป์ในสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับรายได้จากฐานอื่น โดยสถิติของกรมสรรพากร ปีงบประมาณ 2566 รัฐมีรายได้จากอากรแสตมป์ประมาณ 17,066 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.82 ของรายได้จากภาษีที่กรมสรรพากรเก็บได้ทั้งหมด

สาเหตุที่เก็บรายได้จากอากรแสตมป์ได้น้อยนั้น อาทิ การเลี่ยงภาษีได้ง่ายจาก “การเวียนแสตมป์” หรือการนำแสตมป์ซึ่งปิดลงในเอกสารที่ใช้ไปแล้วกลับมาปิดเอกสารใช้ซ้ำอีกครั้ง และยังรวมถึงความไม่ชัดเจนของนิยามคำว่า “ตราสาร” ในประมวลรัษฎากรที่ทำให้ไม่แน่ใจว่าเอกสารใดจะต้องเสียภาษีบ้าง กฎหมายเพียงแต่ระบุว่า ตราสาร คือเอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด

แม้ว่าในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐจะนำระบบ E-stamp มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก และง่ายต่อการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแทนปิดอากรแสตมป์ แต่การต้องติดอากรแสตมป์กับธุรกรรมเล็กน้อยนั้น ยังคงเป็นภาระกับประชาชน ทีมวิจัยจึงเสนอให้ทบทวนการเก็บอากรจากหนังสือมอบฉันทะในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของบริษัท

หากพิจารณาจากเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการปิดอากรแสตมป์นั้น เป็นไปเพื่อให้รัฐรับรู้การทำธุรกรรมโดยกฎหมายกำหนดให้ปิดอากรในหนังสือมอบฉันทะและขีดฆ่า ไม่เช่นนั้นจะใช้เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในศาลไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติเรื่องนี้กลายเป็นความเสี่ยงในการทำธุรกรรม จากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่าการปิดอากรแสตมป์ไม่ได้มีผลในการพิสูจน์ความแท้จริงของเอกสารแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้ามกลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีในการตัดพยานแก่อีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวคือ กรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีเอกสารมาแสดงในการนำสืบ เช่น การนำสืบเรื่องการมอบฉันทะ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีเอกสารมอบฉันทะที่ถูกต้องมาแสดง หากคู่ความฝ่ายนั้นไม่มีเอกสารมอบฉันทะที่มีการปิดอากรแสตมป์ถูกต้องครบถ้วน ก็จะไม่สามารถสืบพยานบุคคลแทนได้

ดังนั้น การที่รัฐเข้ามาเก็บภาษีกับธุรกรรมมอบฉันทะ จึงอาจเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่รัฐได้รับจากการเก็บภาษีลักษณะดังกล่าว

จากการศึกษาแนวทางปฏิบัติของต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ พบว่ามีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเสียภาษีอากรแสตมป์ โดยเห็นว่าการปิดอากรแสตมป์ลงในเอกสารเป็นการสร้างอุปสรรคในการทำการค้าการลงทุนมากกว่ามองว่าเป็นการจัดเก็บเพื่อสร้างรายได้ให้รัฐ ทำให้มีการจัดเก็บภาษีอากรแสตมป์เพียงบางรายการเท่านั้น

ตัวอย่างกฎหมาย Stamp Duties Act 1929 ของสิงคโปร์ ได้กำหนดประเภทเอกสารที่ต้องชำระอากรไว้เฉพาะธุรกรรมการเช่าทรัพย์สิน การจำนอง การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ซื้อ การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ขาย และการซื้อขายหุ้น (share transfer) ของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของประเทศไทยตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้ธุรกรรมที่ยังจำเป็นต้องปิดอากรแสตมป์มีมากถึง 28 ลักษณะตราสาร

ดังนั้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดำเนินการธุรกิจและลดภาระของบริษัท กรมสรรพากรอาจพิจารณายกเว้นการเก็บภาษีอากรจากธุรกรรมการมอบฉันทะเพื่อประชุมผู้ถือหุ้น โดยเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างต้นทุนที่บริษัทต้องแบกรับจากการจ่ายภาษีอากรแสตมป์ และรายได้ที่ภาครัฐจะได้รับจากการเก็บอากรแสตมป์

หากมีการยกเว้นการเก็บภาษีดังกล่าว บริษัทอาจสามารถนำเงินที่เป็นต้นทุนค่าอากรแสตมป์และค่าบริหารจัดการไปใช้ในการลงทุนหรือทำธุรกิจอย่างอื่นที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทแล้วสร้างประโยชน์ตอบแทนกลับมาในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน

บทความโดย ชุติมา สุทธิประภา นักวิจัย และ เขมภัทร ทฤษฎิคุณ นักวิจัยอาวุโส ทีมกฎหมายเพื่อการพัฒนา ทีดีอาร์ไอ

บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “โครงการกิโยตินกฎระเบียบ ตลาดทุน” โดยทีดีอาร์ไอและกองทุนส่งเสริม การพัฒนาตลาดทุน (CMDF)

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 กรกฎาคม 2567

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด