tdri logo
tdri logo
25 กรกฎาคม 2024
Read in 5 Minutes

Views

ทางเลือกปฏิรูป ‘ระบบยืนยันตัวตน’ ลดซับซ้อน-ตัดต้นทุน

ทุกครั้งที่นักลงทุนเปิดบัญชีหลักทรัพย์และบัญชีหน่วยลงทุนจะต้องยืนยันตัวตน (KYC) พร้อมให้ข้อมูลประเมินความเสี่ยงต่อการฟอกเงิน (CDD) ซึ่งต้องกรอกข้อมูลชุดเดียวกันกับทุกบริษัทที่เปิดบัญชี

ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทุกแห่งมีหน้าที่ปรับปรุงข้อมูล KYC และ CDD ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงที่บริษัทจะถูกใช้เป็นแหล่งของการฟอกเงิน อีกทั้งยังให้บริษัททราบการเปลี่ยนแปลงข้อมูลของลูกค้า เช่น ข้อมูลการติดต่อ ความเคลื่อนไหวทางการเงิน ระดับความเสี่ยงในการฟอกเงิน เป็นต้น

โดยจะต้องทำแบบทบทวนข้อมูลประเมินความเสี่ยงต่อการฟอกเงิน (CDD) เป็นประจำทุก 1-5 ปี ขึ้นอยู่กับผลการประเมินความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งสร้างภาระเกินสมควรให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะการเสียเวลาดำเนินการที่เหมือนกันทุกบริษัท

ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่นักลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต. จึงควรพิจารณาปรับแนวทางให้ บล. และ บลจ. ปรับปรุงกระบวนการยืนยันตัวตนและการทบทวนข้อมูลของลูกค้าให้เป็นปัจจุบัน โดยอาจศึกษาจากแนวทางของต่างประเทศ ดังนี้

แนวทางแรก คือ การตั้งหน่วยงานกลาง (Central KYC) ทำหน้าที่เก็บรวบรวม ข้อมูล KYC/CDD ของลูกค้า โดยทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องรายงานข้อมูล ผ่านหน่วยกลางและทุกหน่วยงานสามารถขอใช้บริการข้อมูลการยืนยันตัวตนของลูกค้าผ่านหน่วยงานกลางนี้ได้

เช่นเดียวกับอินเดีย ที่รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานกลาง ซึ่งก็คือ The Central KYC Records Registry (CKYCR) โดยกำหนดมาตรฐานสำหรับการจัดเก็บข้อมูล KYC/CDD ประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมรูปถ่าย ลายเซ็น ลายนิ้วมือ และเอกสารรับรองตนเอง

ขณะที่หน่วยงาน สถาบันการเงินหรือ บริษัทต่างๆ ที่มีการรายงานข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้าที่ถูกจัดเก็บในทะเบียนกลางของ CKYCR ได้ ทำให้ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลากรอกข้อมูลใหม่ทุกครั้ง แต่บุคคลอื่นหรือหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้รายงานข้อมูลจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ข้อมูลดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แนวทางนี้อาจมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจากการนำข้อมูลของลูกค้ามารวมไว้เพียงแห่งเดียว อาจเกิดการรั่วไหลของข้อมูลไปสู่มิจฉาชีพได้ และอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ เทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย หน่วยงานกลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลทะเบียนราษฎร คือ กรมการปกครอง ซึ่งได้พัฒนาระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรร่วมกับหน่วยงานภาครัฐผ่านแอปพลิเคชัน “ThaiD” เพื่อใช้ในการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน รวมถึงเปรียบเทียบใบหน้า (Face Verification System) ทางดิจิทัล

หากประชาชนเข้าไปใช้บริการจากภาครัฐหรือเอกชนสามารถใช้ระบบ ดังกล่าวเพื่อยืนยันตัวตนก่อนใช้บริการได้ แต่ข้อจำกัดของ ThaiD คือ การเปรียบเทียบ ใบหน้ากับรูปถ่ายที่ยังไม่เป็นปัจจุบัน เนื่องจากการบันทึกรูปถ่ายใบหน้าของ กรมการปกครองจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งจะทำทุก 5 ปี

แนวทางที่สอง การใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบอัตโนมัติ หรือ KYC Automation โดยในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐ ลิทัวเนีย เอสโทเนีย หรือแคนาดา เปิดโอกาสให้บุคคลที่สามหรือ บริษัทเอกชนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้บริการยืนยันตัวตนแบบอัตโนมัติ แก่สถาบันการเงินหรือหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องทำการยืนยันตัวตนของลูกค้า

ทั้งนี้ ระบบ KYC Automation จะใช้ซอฟต์แวร์ในการตรวจสอบ ทั้งเอกสารประจำตัวของลูกค้า หนังสือเดินทาง ใบขับขี่และใบเสร็จค่าสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งใช้การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง และอัลกอริทึม เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของลูกค้าแต่ละรายได้ทันที

ในสหรัฐมีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการยืนยันตัวตนขั้นสูง ชื่อว่า “Mitek” และถือเป็นผู้นำระดับโลกด้านการเชื่อมต่อข้อมูลทางกายภาพกับข้อมูลดิจิทัล โดยได้รับความไว้วางใจจากธนาคารในสหรัฐ และองค์กรขนาดใหญ่ในโลกถึง 7,500 แห่ง

“Sanction Scanner” เป็นผู้ให้บริการยืนยันตัวตนในสหราชอาณาจักร โดยมีการคัดกรองข้อมูลลูกค้าตามรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันการฟอกเงิน รายชื่อบุคคลเฝ้าระวัง และรายชื่อบุคคลที่มีสถานะทางการเมืองมากกว่า 3,000 รายการ รวมทั้งใช้อัลกอริทึมคัดกรองลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงและสามารถแจ้งเตือน แบบทันที (real time) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

ขณะที่ในประเทศไทยมี บริษัทเนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) หนึ่งในผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลแบบอัตโนมัติ โดยให้บริการทั้งการเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์ การขอสินเชื่อออนไลน์ รวมถึงการเปิดบัญชีการลงทุนในตลาดทุน แต่ไม่ใช่บล. และ บลจ. ทุกรายที่จะใช้บริการของ NDID เนื่องจากต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าธรรมเนียมประมาณครั้งละ 115 บาทต่อรายการทำให้ บล. และ บลจ. มีต้นทุนรวมกันประมาณ 128.4 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี จากการประเมินต้นทุนการยืนยันตัวตนของลูกค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เมื่อเปิดบัญชีหลักทรัพย์และบัญชีกองทุนใหม่ คือ 189.9 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีต้นทุนค่าเสียโอกาสของนักลงทุนจากเวลาที่สูญเสียไปจากการทำ KYC/CDD ทุกบัญชีอีกประมาณ 355.3 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้น หากมีการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้สะดวกขึ้น และช่วยลดภาระต้นทุนของนักลงทุน รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายของการใช้ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนให้กับ บล. และ บลจ.ได้ โดยแนวทางในระยะสั้น สำนักงาน ก.ล.ต. อาจเจรจาขอลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการผ่านระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนของ NDID เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับ บล. และบลจ. ที่จะใช้บริการ

ส่วนในระยะยาว บล. และ บลจ. อาจพิจารณาทางเลือกของการใช้ระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตนผ่านระบบ ThaiD ของกรมการปกครอง แต่สำนักงาน ก.ล.ต. ควรร่วมพัฒนาระบบการถ่ายรูปเพื่อเปรียบเทียบใบหน้าให้เป็นปัจจุบันกับกรมการปกครอง

ทั้งนี้ การปรับปรุงกระบวนการ KYC/CDD ของการเปิดบัญชีลงทุนจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสของนักลงทุนที่สูญเสียเวลาไปกับการทำ KYC/CDD ทุกบัญชี โดยเฉพาะการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันกับหน่วยงานเพียงแห่งเดียวจะทำให้นักลงทุนไม่ต้องดำเนินการซ้ำซ้อนทุกบัญชี

บทความโดย ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายการกำกับดูแลที่ดี

บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “โครงการกิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน” โดยทีดีอาร์ไอและกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)

เผยแพร่ครั้งแรก : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 กรกฎาคม 2567

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด