นักเศรษฐศาสตร์ ทีดีอาร์ไอ ชี้ โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ เดินเครื่องผลักดันงบปี 68 ให้เร็ว พร้อมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบ 67 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เน้น เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน พัฒนาทักษะแรงงาน ดัน เอสเอ็มอีไทยสู้ศึกสินค้าจีน แนะ ลดสเกล-เพิ่มเงื่อนไข ดิจิทัลวอลเล็ตสำหรับกลุ่มคนทั่วไป เห็นด้วยกับคอนเซ็ปต์ Negative Income tax ภาครัฐได้ฐานข้อมูลปชช.ช่วยเหลือได้ตรงจุด แต่ต้องคำนึงถึงงบประมาณด้วยว่าจะเพียงพอหรือไม่
ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงโจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่ควรเร่งดำเนินการภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ว่า ในระยะสั้นทุกฝ่ายจึงคาดหวังให้รัฐบาลเร่งผลักดันพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ออกมาให้เร็ว เนื่องจากงบประมาณของปีนี้ออกมาล่าช้ากว่ากำหนดมากแล้ว แต่มีการคาดการณ์กันว่าร่างพ.ร.บ.งบฯปี68 ล่าช้าออกไปอีกประมาณ 1 เดือน เนื่องจากต้องรอการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นอกจากนี้ภาคเอกชน ยังต้องการให้ภาครัฐเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งปี 67 รวมถึงปีถัดไปเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ดร.กิริฎา ระบุว่า ส่วนในระยะถัดไปต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย เพราะตอนนี้ไทยต้องรับมือกับการแข่งขันจากต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากสินค้าจีนที่เข้ามา โดยที่เอสเอ็มอีของไทยอาจไม่แข็งแกร่งพอที่จะแข่งขันกับสินค้าจีนได้ ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการชะลอสินค้าที่ทะลักเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นการซื้อเวลาให้ทางเอสเอ็มอีไทยได้ปรับตัวได้ในระยะหนึ่ง แต่ไม่สามารถกีดกันสินค้าจากต่างประเทศได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของไทย ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมีความคาดหวังว่าแรงงานของไทยจะมีทักษะในการทำงานกับเครื่องจักร รวมถึงระบบอัตโนมัติต่างๆได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นความซ้ำซ้อนของกฎระเบียบและขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ ที่หากมีการปฏิรูปก็จะเป็นผลดีในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงยังส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยได้อีกด้วย
ชี้ ปรับดิจิทัลวอลเลต เป็นเงินสด เน้นกลุ่มเปราะบางก่อน ได้ผลทางเศรษฐกิจ เงินหมุนเร็ว
สำหรับการปรับเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะมอบให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ วงเงิน 1.45 แสนล้านบาทเป็นกลุ่มแรกก่อนภายในเดือนกันยายนนี้ ส่วนกลุ่มคนทั่วไปอีก 30 ล้านคนจะถูกจัดสรรในระยะถัดไปนั้น ดร.กิริฎา กล่าวว่า ตามรายงานข่าวระบุว่าจะมีการปรับ 2 อย่าง คือ กลุ่มของผู้ที่ได้รับเงิน 1 หมื่นบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม และมีการปรับจากการให้เงินดิจิทัลเป็นเงินสด ซึ่งหากมีการดำเนินการในลักษณะนี้จริง จะได้ผลต่อเศรษฐกิจแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยและเงินหมุนในประเทศได้เร็ว เนื่องจากว่าการให้แบบเจาะจงกับกลุ่มที่มีความจำเป็น อย่างผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มพิการ จะทำให้เงินก้อนนี้ถูกใช้ในทันทีและใช้หมด ไม่ได้ถูกนำไปเก็บออมซึ่งจะไม่เกิดผลทางเศรษฐกิจ หรือ ไปซื้อของนำเข้าจากต่างประเทศที่จะทำให้เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตามมองว่าผลของโครงการอาจจะไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แบบที่คาดไว้ เพราะว่าเงินส่วนหนึ่งที่นำมาใช้เป็นการเกลี่ยมาจากวงเงินงบประมาณที่สามารถนำไปใช้ในโครงการอื่นได้
“ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายนี้ เกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณให้มากที่สุด คิดว่าก้อนแรกที่ให้กับกลุ่มเปราะบางมีความคุ้มค่าระดับหนึ่ง แต่ที่เหลืออีกก้อนจำนวน 3 แสนล้านบาทที่จะให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป หากสามารถดีไซน์โครงการนี้ได้ใหม่ เห็นว่าอาจจะไม่ต้องแจกทุกคน หรืออาจจะลดสเกลการแจกลงมา หรือถ้าจะแจกจริงๆ น่าจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมเล็กน้อย เช่น ในจำนวนเงิน 1 หมื่นบาท คนที่ได้รับสิทธิต้องนำไปใช้สำหรับอัพสกิล หรือ รีสกิล 2,000 บาทได้ไหม เพื่อเป็นการเพิ่มพูนทักษะของประชาชนในระยะยาวด้วย ซึ่งดีกว่าให้ครั้งเดียวแล้วหายไปเลย” ดร.กิริฎาระบุ
คอนเซ็ปต์ Negative Income tax ดี ภาครัฐได้ Database ใหม่
ดร.กิริฎา กล่าวถึงกรณีที่มีการแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงภาษีแบบ Negative Income tax ว่า ระบบภาษีแบบ Negative Income tax คือการให้ประชาชนมาลงทะเบียนอยู่ในระบบภาษี ซึ่งก็คือภาษีบุคคลธรรมดา แล้วหากใครมีรายได้ต่อปีไม่ถึงเกณฑ์ที่รัฐกำหนด รัฐก็จะมอบเงินช่วยเหลือให้แทนที่จะเก็บภาษี เพื่อให้บุคคลนั้นๆมีรายได้ถึงเกณฑ์รายได้ที่รัฐกำหนดไว้ สำหรับภาษีประเภทนี้นั้นไม่ได้เป็นไอเดียใหม่ เพราะเคยมีการพูดถึงเรื่องนี้เมื่อประมาณประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว รัฐบาลในขณะนั้นมีไอเดียว่าจะผลักดัน แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้ทำต่อ อย่างไรก็ตามหากจะมีการผลักดันในตอนนี้ เห็นว่าน่าจะสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต เพราะเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าระบบภาษีได้ง่ายขึ้น
“ถ้าจะทำจริงๆ คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยให้รัฐบาลทราบข้อมูลประชาชนทันที และประชาชนเองก็ไม่ต้องลำบากไปลงทะเบียนทุกครั้งที่มีปัญหาหรือเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่จะต้องไปลงทะเบียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามีฐานข้อมูลนี้รัฐบาลจะรู้เลยว่าตอนนี้ใครเดือดร้อน ใครรายได้น้อย ต่ำกว่าเกณฑ์ก็สามารถท็อปอัพเงินให้ปชช.ที่เดือดร้อนจริงๆ ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานใหม่ที่รัฐบาล สามารถใช้ได้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องในการช่วยเหลือประชาชน แต่ยังมีรายละเอียดต่างๆที่จะต้องพิจารณากันต่ออีกหลายเรื่อง เช่น จะกำหนดเงินรายได้ขั้นต่ำเท่าไหร่ แล้วรัฐบาลจะมีงบประมาณพอหรือไม่ถ้าจะต้องไปมอบเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้กับทุกคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งภาษีประเภทนี้มีใช้อยู่ในบางประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นประเทศมีเงิน ซึ่งหากบ้านเราจะใช้ก็คงจะต้องมาดูในรายละเอียด”
คาดเศรษฐกิจไตรมาสที่เหลือดีกว่าครึ่งปีแรก ท่องเที่ยว-ส่งออก-ลงทุน ฟื้น
ดร.กิริฎา ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่าจะดีกว่าครึ่งแรก จากการท่องเที่ยว การส่งออกที่ฟื้นตัวไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ในเรื่องของการลงทุนท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ บริษัทต่างๆกำลังปรับซัพพลายเชน ทำให้มีความต้องการหาที่ลงทุนใหม่ๆ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจมาลงทุน ซึ่งหากดูจากจำนวนบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกให้กับนักลงทุนต่างชาติในเวลาปีครึ่งที่ผ่านมา ถือว่ามีจำนวนที่สูงมาก และสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี มูลค่าประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่านักลงทุนที่ได้บัตรบีโอไอไปจะเริ่มเข้ามาลงทุนในไทยช่วงครึ่งหลังของปีนี้