tdri logo
tdri logo
28 สิงหาคม 2024
Read in 5 Minutes

Views

IPEF Pillar II กับความยืดหยุ่นของซัพพลายไทย

ภายใต้บริบทภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีความอ่อนไหวมากขึ้น

สหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มจัดตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) ในปี 2565 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และ การลงทุนกับประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยมี 14 ประเทศเข้าร่วมเจรจา ได้แก่ สหรัฐ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้, อินเดีย, ฟิจิ, บรูไน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, เวียดนามและไทย

กรอบความร่วมมือ IPEF ประกอบด้วยความร่วมมือภายใต้ 4 เสาหลัก (Pillars) ได้แก่ เสาความร่วมมือด้านการค้า (Trade) ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม (Clean Economy) และด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Fair Economy)

ทั้งนี้ IPEF เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ครอบคลุมประเด็นการเข้าถึงตลาด (Market Access) และไม่ใช่ความตกลงการค้าเสรี

บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะเสาความร่วมมือที่ 2 ด้าน ห่วงโซ่อุปทาน ที่ประเทศสมาชิกลงนามกันไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 ถือเป็นความตกลง IPEF ฉบับแรกที่เสร็จสมบูรณ์ โดยแต่ละประเทศอยู่ในขั้นตอนการให้สัตยาบัน

สำหรับ IPEF ด้านห่วงโซ่อุปทาน มีแนวคิดมาจากปัญหาภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruptions) จากการกระจุกตัวการผลิตในบางภูมิภาคหรือบางประเทศ โดยอาจเกิดมากขึ้น หากเกิดสงครามการค้า-เทคโนโลยี หรือ ภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัวเองในวิกฤติโควิด-19 และการกระจุกตัวการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

หลายประเทศได้ลดความเสี่ยง โดยใช้กลยุทธ์ย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่ หรือไปยังประเทศมิตรเพื่อลดการพึ่งพาประเทศที่มีความเสี่ยง เช่น ญี่ปุ่น สนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ หรือย้ายไปลงทุนในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

IPEF ยังกำหนดให้มีกลไกประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก 2 หน่วยงาน คือ คณะมนตรีซัพพลายเชน (IPEF Supply Chain Council) และเครือข่ายแก้ปัญหาวิกฤติซัพพลายเชน รวมทั้งยังกำหนดให้จัดตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาด้าน สิทธิแรงงาน” ขึ้นมาดูแลประเด็นสิทธิแรงงานด้วย

สำรวจโอกาส ความเสี่ยงของอุตสาหกรรม ไทยจากการเข้าร่วม

การเข้าร่วม IPEF ด้านห่วงโซ่อุปทานจะทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้ทราบข้อมูลล่วงหน้าจากการแลกเปลี่ยนกับประเทศสมาชิก และมีโอกาสกำหนดวาระรวมทั้งมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชน และอาจได้รับประโยชน์หากประเทศสมาชิกต้องการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย

คณะผู้วิจัย TDRI โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้สำรวจปัญหา โอกาสและความเสี่ยงจากการเข้าร่วม IPEF ด้านห่วงโซ่อุปทานในบางอุตสาหกรรมที่อาจถูกกำหนดเป็นสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญในเสาหลักที่ 2 ดังนี้

ยานยนต์และชิ้นส่วน ปัญหาขาดบางชิ้นส่วนทำให้การผลิตชะงัก ซึ่งโอกาสจากการเข้าร่วมจะส่งผลให้มีโอกาสดึงดูดการลงทุนในสินค้าหลักบางรายการ เช่น แบตเตอรี่ได้ ส่วนความเสี่ยงต่อประเทศไทยนั้นน่าจะมีไม่มาก เนื่องจากไม่ได้เป็นฐานการผลิตสินค้าหลักที่มีความเสี่ยงของซัพพลายเซน

ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาการขาดแคลนชิปเคยส่งผลกระทบการผลิตในหลายอุตสาหกรรม IPEF อาจช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในทางอ้อมจากความโปร่งใสในซัพพลายเชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจช่วยการวางแผนลดการขาดแคลนชิปได้ ส่วนความเสี่ยงจากการที่การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์กระจุกตัวในระดับสูงในไทย อาจมีความเสี่ยงจากการถูกกระตุ้นให้ย้ายฐานการผลิตจากไทยบ้าง แต่น่าจะไม่มาก เพราะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไม่น่าจะเป็นสินค้าหลัก

ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การขาดแคลนสินค้าบางรายการ เช่น วัคซีน ยา และ PPE ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านสุขภาพในช่วงโควิด-19 ระบาด การเข้าร่วม IPEF อาจทำให้ไทยได้รับการจัดสรรสินค้าที่เคยขาดแคลนในช่วงเกิดโรคระบาด และอาจมีโอกาสเป็นฐานการผลิต การทดลองทางคลินิก และการวิจัยด้านวัคซีน โดยไม่น่าจะมีความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิตเพราะปัจจุบันไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิตสำคัญ

สรุปตัวอย่างของปัญหาที่ผ่านมาในซัพพลายเชน โอกาส และความเสี่ยงจากการเข้าร่วม Pillar II ในอุตสาหกรรมที่เลือกมาศึกษา

ประเด็นยานยนต์และชิ้นส่วนไมโครอิเล็กทรอนิกส์ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อาหารแปรรูป
ตัวอย่างของปัญหาที่ผ่านมาใน
ซัพพลายเชน
ขาดบางชิ้นส่วนทำให้การผลิตชะงักงันขาดชิปซึ่งทำให้การผลิตชะงักงันในหลายอุตสาหกรรมขาดสินค้าบางรายการเช่น วัคซีนยาและ PPPE ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านสุขภาพเกิดโรคไข้หวัดนก และอาจมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ และมีปัญหาเรื่องการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมง
โอกาสจากการเข้าร่วม Pillar IIได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ล่วงหน้าจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศสมาชิก IPEF Pillar II มีโอกาสในการกำหนดวาระ (Agenda) และมาตรฐาน (Standard) ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนได้รับประโยชน์ร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นจากการมี IPEF Supply Chain Crisis Network
มีโอกาสดึงดูดการลงทุนในสินค้าหลักบางรายการ เช่น แบตเตอรี่ได้ประโยชน์ในทางอ้อมจากความโปร่งใสในซัพพลายเชนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจลดการขาดแคลนชิป  มีโอกาสได้รับการจัดสรรสินค้าบางรายการเช่น วัคซีน ยา และ PPE ในช่วงเกิดโรคระบาดระดับโลกมีโอกาสเป็นแหล่งซัพพลายโปรตีนแก่ประเทศต่างๆ ในช่วงเกิดการขาดแคลนอาหาร เช่น เกิดโรคหวัดนกและโรคระบาดในสุกรในวงกว้าง
  มีโอกาสเป็นฐานการผลิต การทดลองทางคลินิก และการวิจัยด้านวัคซีน 
ความเสี่ยงจากการเข้าร่วม Pillar IIการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลกระจุกตัวสูงในไทย อาจมีความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิต แต่น่าจะไม่สูง เพราะเครื่องยนต์ดีเซลไม่น่าใช่สินค้าหลัก (Key Goods) ตามกรอบของ IPEF Piller IIการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์กระจุกตัวสูงในไทย อาจมีความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิต แต่น่าจะไม่สูง เพราะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไม่น่าใช่สินค้าหลัก (Key Goods) ตามกรอบของ IPEF Piller IIไม่น่าจะมีความเสี่ยงไม่น่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มเติม นอกเหนือจากความเสี่ยงเดิมที่เกี่ยวข้องปัญหาสิ่งแวดล้อมและแรงงานในซัพพลายเชน

สำรวจประโยชน์จากการเข้าร่วม IPEF Pillar II

กล่าวโดยสรุป ไทยอาจได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม IPEF Pillar II หลายประการ คือ 1.ไทยสามารถร่วมกำหนดกลไก ในการพัฒนาซัพพลายเชน ซึ่งอาจช่วยให้รัฐบาลและผู้ประกอบการในไทยได้รับทราบข้อมูลโดยเร็ว และสามารถเตรียมการปรับตัว และรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ แรงงาน และผู้บริโภคในประเทศได้

2.ไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะ เครือข่ายแก้ปัญหาวิกฤติซัพพลายเชน

3.ไทยมีโอกาสดึงดูดการลงทุนในการผลิตสินค้าหลักจากทั้งประเทศสมาชิก IPEF และที่ไม่ได้เป็นสมาชิก

4.ไทยอาจใช้ IPEF เป็นช่องทางเพิ่มเติมในการเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกลดอุปสรรคทางการค้าต่อสินค้าส่งออกจากไทย ทั้งในรูปภาษีศุลกากรและที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร เพื่อทำให้ซัพพลายเซนของสินค้าหลักหรือสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะ

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์จาก IPEF ไทย ควรบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน

นอกจากนี้ หน่วยงานที่สนับสนุนการทำงานของผู้แทนไทยในคณะมนตรีซัพพลายเชน และเครือข่ายแก้ปัญหาวิกฤติซัพพลายเชน ควรเน้นการทำงานเชิงรุกโดยเร่งจัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมทั้งติดตาม ความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ไทยอาจได้รับผลกระทบจากการที่ไทยเป็นผู้ผลิตที่สำคัญใน IPEF และอาจมีความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิต เพื่อเตรียมมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนกฎระเบียบในประเทศ เพื่อให้เกิดกฎระเบียบที่เอื้อให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลทางธุรกิจ ในขณะที่ยังสามารถคุ้มครองข้อมูลลับและข้อมูลอ่อนไหว โดยมีกลไกจัดทำมาตรฐานคุ้มครองข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากกรอบความร่วมมือนี้

บทความโดย : ขนิษฐา ปะกินำหัง นักวิจัย ด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา ทีดีอาร์ไอ

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2567

ติดตามบทความเกี่ยวกับเสาความ ร่วมมือที่ 3 Clean Economy และเสาความร่วมมือที่ 4 Fair Economy ได้ในตอนต่อไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด