เครือข่ายพลังงานสะอาด จัดงาน “แก้กับดักนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ” นักวิชาการ ชงภาครัฐ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน พร้อมออกมาตรการหนุนติดตั้งโซลาร์ในครัวเรือน-ภาคอุตสาหกรรม ให้ไทยถึงเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 โครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงาน “แก้กับดักนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ” ที่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
ดร.สิริภา จุลกาญจน์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) นำเสนอผลการศึกษา “ปลดล็อกโซลาร์บนหลังคาพาไทยถึงเป้าพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน” โดยระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เองจากการติดตั้งโซล่าร์บนหลังคา หรือที่เรียกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจายศูนย์ (distributed PV) แต่ปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีการตั้งเป้าหมายโดยตรง หรือออกมาตรการทางนโยบายและแรงจูงใจที่เหมาะสมมาใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบดังกล่าว อีกทั้งในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ แผน PDP 2024 ไม่ได้มีการระบุถึงทิศทางและนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา รวมถึงการขายไฟฟ้าส่วนเกินที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้กับการไฟฟ้าที่เรียกว่า Independent power supply (IPS) ทั้งที่ตามข้อมูลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของผู้ใช้กลุ่ม IPS และผู้ผลิตไฟฟ้าภาคประชาชน ซึ่งพบว่าภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวมจากระบบโซลาร์บนหลังคากว่า 2,050 เมกะวัตต์พีค (MWp) และยังคงมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความสนใจและความต้องการใช้พลังงานสะอาดของสังคมตั้งแต่ในระดับครัวเรือน
“การผลิตไฟฟ้าใช้เอง มีบทบาทในการช่วยลดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเครื่องการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง รวมทั้งอาจเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่และโซลาร์พร้อมแบตเตอรี่ เพื่อทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงจากพลังงานสะอาดภายในประเทศ” ดร.สิริภาระบุ
แนะ 3 ข้อเสนอปลดล็อกติดตั้งโซลาร์
ดร.สิริภา ระบุถึงแนวทางการสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนตัดสินใจลงทุนติดตั้งโซลาร์เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ว่า ปัจจัยสำคัญคือนโยบายของรัฐที่ต้องมีความชัดเจนต่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อดึงจุดเด่นของระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจายมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมีมาตรการที่ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนติดตั้งโซลาร์ จึงมีข้อเสนอแนะ 3 ด้านที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการดังนี้ 1. มีเป้าหมายที่ชัดเจนและรูปแบบโครงการที่เอื้อต่อการส่งเสริมเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ และช่วยลดต้นทุนในการขยายโครงข่ายไฟฟ้า รวมทั้งการสนับสนุนรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม 2. จัดตั้ง one-stop shop service เพื่อลดต้นทุนและทำให้ขั้นตอนการขอใบอนุญาตรวดเร็วขึ้น โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการขอใบอนุญาต และ3. การเตรียมความพร้อมของระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้ใช้ไฟฟ้าที่กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วย
“การลดความเสี่ยงทั้ง 3 มิตินี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทั้งภาคเอกชนและประชาชนในการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์และเทคโนโลยีอื่นๆมาประกอบ เช่น ระบบแบตเตอรี่ ซึ่งมิติดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ภาครัฐต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนโซลาร์บนหลังคาและส่งสัญญาณสนับสนุนอย่างจริงจังผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ เช่น การออกแบบโครงการที่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในเกิดประสิทธิภาพ กระบวนการติดตั้งที่ง่ายและสะดวก เพื่อลดภาระของประชาชน และสร้างความมั่นใจในการลงทุน สุดท้ายภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมของระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้บริโภคเป็นผู้ผลิต โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า” ดร.สิริภา ระบุ
เวที Policy Forum “ปลดล็อกนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ”
นอกจากนี้ยังมีการจัดเวที Policy Forum “ปลดล็อกนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ” มีดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward, นางรติยา จันทรเทียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสิ่งทอและเครื่องนอนแบรนด์ PASAYA, นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน TDRI ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยมีนายชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอ และนางสาวบุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล ผู้ประกาศข่าวไทยพีบีเอส ดำเนินรายการ
เปิดตัวรายการ “สะอาด Podcast” ไขข้อสงสัยพลังงานไทยทำอย่างไรให้ยั่งยืน
ภายในงานยังมีการเปิดตัวรายการ “สะอาด Podcast” ซึ่งเป็นรายการที่เกี่ยวกับการไขข้อสงสัยและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด ซึ่งกำลังมีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคน รายการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอสพอดแคสต์ กับ CASE ดำเนินรายการโดยนายชาคร เลิศนิทัศน์ และนางสาวทรรศิกา สิงห์ตุ้ย จากTDRI ทุกเย็นวันศุกร์ ผ่านเว็บไซต์, แอปพลิเคชัน ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ และเพจเฟซบุ๊ค TDRI
งานวิจัยหัวข้อ “Unlocking rooftop solar PV in Thailand: Facilitating policy and financial de-risking instruments” โดยดร.สิริภา จุลกาญจน์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI)และคณะ ฉบับเต็ม