หมากเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากพืชหนึ่งของโลก ที่ทั้งผลผลิตและการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาใน 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ราคาหมากในตลาดที่สำคัญของโลกและราคาส่งออกหมากของไทยในทศวรรษที่ผ่านมาค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยางและปาล์ม
ในปี 2559-2565 หมากสร้างรายได้นับพันล้านบาทต่อปี โดยมีมูลค่าส่งออกสุทธิ 1,045–2,151 ล้านบาทต่อปี กระทั่งในปี 2566 ที่ไทยมีปัญหาการส่งออก ก็ยังคงมีมูลค่าส่งออกสุทธิ 994 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถึงแม้ว่าราคาส่งออกที่เคยสูงถึง 50-60 บาท/กก. จะลดเหลือประมาณ 37 บาท/กก. ในปีที่ผ่านมา
แม้หมากจะสร้างมูลค่าการส่งออกได้มาก แต่กลับเป็นพืชที่ได้รับความสนใจจากภาครัฐน้อยกว่าพืชอื่น ตัวอย่างเช่น สถิติการเพาะปลูกและข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรที่รายงานโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรแทบไม่มีข้อมูลหรือรายงานที่เกี่ยวกับหมาก ในขณะที่รายงานข้อมูลของอีก 30 พืชที่หลายพืชมีมูลค่าส่งออกน้อยกว่าหมากมาก เช่น กาแฟ ชา พริกไทย ถั่วลิสง และผลไม้ส่วนใหญ่ และเมื่อเกิดปัญหาการส่งออกในช่วงปีเศษที่ผ่านมา ก็ยังไม่ปรากฎการดำเนินการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหานี้
เกษตรกรไทยมักปลูกหมากเป็นพืชเสริมหรือปลูกแซมพืชอื่น การผลิตหมากในไทยช่วยสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรจำนวนมากในทุกภาค โดยเฉพาะภาคใต้ที่เป็นแหล่งผลิตหมากส่งออกสำคัญของไทย ชาวสวนยางก็มีรายได้เสริมจากการทำหมากแห้งในช่วงหยุดกรีดยางในช่วงยางผลัดใบ
ที่ผ่านมาหมากไทยส่งออกไป 2 ตลาดหลักคือ (1) ตลาดหมากแห้งที่มีอินเดียเป็นปลายทางสำคัญ ซึ่งไทยเคยส่งออกผ่านเมียนมาเป็นหลัก และ (2) ตลาดหมากสดมีจีนเป็นปลายทางสำคัญ ส่งออกผ่านเวียดนามเป็นหลัก
อินเดียเป็นทั้งประเทศผู้ผลิต บริโภค และนำเข้าหมากที่สำคัญที่สุดของโลก และหมากก็เป็นพืชการเมืองของอินเดียที่มีผู้ปลูกจำนวนมากในหลายรัฐ ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียมีมาตรการปกป้องหมากหลายมาตรการ ในปัจจุบันการส่งออกหมากไทยไปอินเดียโดยตรงจะต้องเสียอากรนำเข้า 100% ของมูลค่า และภาษีนำเข้าเพิ่มเติม (Tariff) อีกประมาณ 88 บาท/กก. (เมื่อต้นปี 2566 อินเดียเคยตั้งภาษีนำเข้านี้สูงถึงประมาณ 477 บาท/กก.) ในขณะที่เมียนมาเคยได้รับการยกเว้นอากรนำเข้าแต่ปัจจุบันเสียภาษี 40% นอกจากนี้อินเดียยังกำหนดราคาขั้นต่ำในการนำเข้าหมากไว้ที่ 143 บาท/กก. ทำให้ที่ผ่านมาอินโดนีเซียและไทยเลี่ยงไปส่งออกหมากแห้งผ่านเมียนมา
แต่ในสองปีหลังอินเดียเข้มงวดกับทั้งการปราบปรามหมากสวมสิทธิ์และการลักลอบนำเข้าตามชายแดน ประกอบกับเมียนมามีปัญหาสงครามภายใน ทำให้ไทยประสบปัญหาในการส่งออกหมากผ่านเมียนมาเป็นอย่างมาก และถึงแม้ว่าหมากไทยบางส่วนจะถูกส่งไปบังกลาเทศซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากอินเดีย แต่ก็ส่งออกทางนี้ได้น้อยมาก
ในส่วนของตลาดหมากสดที่มีปลายทางที่จีนนั้น ถึงแม้ปัญหาจะไม่รุนแรงเท่า แต่การส่งออกก็ชะงักไปในบางปี (เช่น 2566) และอาจเป็นตลาดที่อนาคตไม่สดใสมากนัก ซึ่งขึ้นกับนโยบายของจีนด้วย ถึงแม้ว่าการบริโภคหมากในจีนน่าจะยังเพิ่มขึ้นจากการมีผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นอาหารหรือขนมขบเคี้ยวที่ดึงดูดผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาได้ไม่น้อย จากปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลไทยควรเร่งหาทางแก้ไขเพื่อช่วยเกษตรกร ซึ่งผู้วิจัยเสนอให้ใช้มาตรการดังต่อไปนี้
มาตรการแรก เร่งเจรจาทางการค้ากับประเทศผู้ซื้อปลายทางที่สำคัญโดยตรง โดยเฉพาะตลาดอินเดีย ซึ่งไทยควรเร่งเจรจากับรัฐบาลอินเดียโดยใช้หรืออ้างอิงกลไกการเจรจาการค้าที่มีอยู่แล้วอย่าง BIMSTEC, FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) เพื่อขอปรับลดภาษีศุลกากร และขอโควตายกเว้นการใช้ราคานำเข้าขั้นต่ำกับหมากไทย (คล้ายกับที่อินเดียยกเว้นให้ภูฏานปีละ 17,000 ตัน)
แม้ว่าอาจไม่ง่ายเพราะหมากเป็นสินค้าการเมืองที่สำคัญของอินเดีย แต่อินเดียก็ยังมีหมากไม่เพียงพอและต้องนำเข้าทุกปี ซึ่งในทางปฎิบัติอินเดียก็ต้องนำเข้าจากประเทศที่มีหมากเหลือมากอย่างอินโดนีเซียหรือไทยไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ถ้ารัฐบาลเจรจากับอินเดียได้สำเร็จก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการส่งออกของหมากไทยไม่ให้ขึ้นกับผู้ค้าต่างชาติเกือบทั้งหมดที่ทำให้การส่งออกต้องหยุดชะงักเมื่อผู้ค้าต่างชาติหยุดรับซื้อเช่นตั้งแต่กลางปี 2566 ถึงต้นปี 2567
มาตรการที่สอง ไทยควรหาลู่ทางขยายตลาดส่งออกหมากเพิ่มขึ้น ทั้งตลาดใหม่ๆ เช่นในยุโรปและตะวันออกกลางที่มีแรงงานและผู้อพยพจากเอเชียเข้าไปมากขึ้น (ซึ่งรัฐบาลน่าจะช่วยได้โดยใช้กลไกทูตพาณิชย์และการเจรจาการค้า) หรือตลาดที่มีอยู่แต่ที่ผ่านมาไทยยังเข้าไม่ถึง โดยในกรณีหลังไทยควรศึกษาจากอินโดนีเซียที่เป็นผู้ส่งออกหมากรายใหญ่ที่สุดของโลก (ประมาณ 35-40% ของมูลค่าส่งออกรวมของโลก) ที่นอกจากอินโดนีเซียจะใช้วิธีแข่งด้วยราคา (เช่นในปี 2566 อินโดนีเซียส่งออกหมากที่ราคาเฉลี่ย 25.8 บาท/กก.) แล้ว อินโดนีเซียก็ยังสามารถปรับช่องทางการขายหมากของตนได้ตลอด เช่นตั้งแต่ปี 2561 ที่ปากีสถานหยุดนำเข้าหมากจากอินโดนีเซีย อินโดนีเซียก็ปรับมาส่งออกผ่านไทยไปเมียนมาและอินเดียเพิ่มขึ้น และยังส่งออกหมากไปอิหร่าน (ซึ่งน่าจะส่งต่อไปปากีสถานด้วย) และตั้งแต่ปี 2565 ที่การส่งออกผ่านไทยมีปัญหา อินโดนีเซียก็สามารถเพิ่มการส่งออกไปอินเดียและยังสามารถขายให้อิหร่านได้ (กราฟด้านล่าง)
มาตรการที่สาม ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หมาก ปัจจุบันหมากไทยถูกขายเป็นสินค้าแปรรูปขั้นต้น ในขณะที่อินเดียและจีนมีการแปรรูปหมากและมีผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น ต้มอบเป็นขนม ทำผงหมาก สกัดสารที่มีมากในหมาก (เช่นแทนนิน) และทำสารฟอกหนัง นอกจากนี้หมากมีสารกระตุ้นที่อาจพัฒนาเป็นยาต้านโรคซึมเศร้าได้ และในปัจจุบันก็พบว่ามีสารที่ต้านอนุมูลอิสระด้วย ดังนั้นภาครัฐควรสนับสนุนการวิจัยพัฒนาในด้านยา ถึงแม้จะมีข้อควรระวังที่รัฐไม่ควรส่งเสริมการบริโภคหมากโดยตรง ไม่ว่าหมากสด หมากแห้ง ผงหมาก หรือขนมขบเคี้ยว เพราะมีหลักฐานว่าหมากมีสารก่อมะเร็งในช่องปาก การพัฒนาจึงควรส่งเสริมการสกัดสารต่างๆ ในหมากออกมาศึกษาวิจัยคุณสมบัติทางยาเป็นหลัก
บทความโดย : ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, วุฒิพงษ์ ตุ้นยุทธ์ และอรุณพร พรพูนสวัสดิ์
บทความนี้สรุปย่อจากงานวิจัย “การวิเคราะห์โครงสร้างห่วงโซ่คุณค่าของหมากไทย และแนวทางส่งเสริมการสร้างมูลค่าและความยั่งยืน” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์