ความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันและการเรียกรับสินบนเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ที่บริษัทข้ามชาติพิจารณาในการตัดสินใจเลือกลงทุนหรือเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย
ที่ผ่านมาไม่นานนี้มีกรณีบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ จ่ายเสียค่าปรับแก่สำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐ เพื่อยุติคดีที่บริษัทลูกในประเทศไทยจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกกับสัญญาจัดซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่ของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง
กรณีนี้อาจเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การจ่ายสินบนเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจ แต่เป็นความเสี่ยงของบริษัทข้ามชาติที่จะถูกดำเนินคดีในประเทศแม่ ที่มีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านสินบนข้ามชาติเข้มงวดโดยเฉพาะสหรัฐฯ
โจทย์สำคัญจะทำอย่างไรให้ไทยสามารถจัดการความเสี่ยงสำคัญนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาหน่วยงานตัวแทนประเทศไทยร่วมเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (กรอบความร่วมมือ IPEF) ซึ่งครอบคลุมหัวข้อ “เศรษฐกิจที่เป็นธรรม” (Fair Economy) อันเป็นหัวข้อสำคัญที่ 4 หรือเสา 4 (Pillar 4)
โดยมีหลักการส่งเสริมความโปร่งใส เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการลงทุนและส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การต่อต้านการทุจริตและการฟอกเงิน และการจัดเก็บภาษีเงินได้ให้โปร่งใส
หากกรอบความร่วมมือ IPEF เสา 4 บรรลุข้อตกลงและสามารถดำเนินการได้จริง นอกจากจะตอบโจทย์เศรษฐกิจไทยที่ยังมีข้อจำกัดเดิมแล้ว ยังสามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้
โดยเฉพาะกระแสการปฏิรูประบบภาษีอากรระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ที่บังคับให้ไทยต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีกับรัฐบาลต่างประเทศ และมีจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทข้ามชาติโดยเฉพาะอัตราภาษีจริงขั้นต่ำร้อยละ 15 ตามข้อตกลงของประเทศสมาชิกกลุ่ม OECD และภาคีรวม 140 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย
โดยหลักการแล้วไทยจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปนี้ที่ช่วยลดการสูญเสียรายได้จากภาษี เมื่อต้องแข่งขันกับประเทศอื่นดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือที่เรียกว่ามาตรการ BOI แต่ก็จะทำให้ไทยใช้มาตรการ BOI ได้น้อยลง และต้องหามาตรการอื่นมาเสริม เช่น การให้เงินก้อนอุดหนุนโครงการลงทุน
การจัดการสินบนข้ามชาติและปฏิรูปการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล จะช่วยเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างบริษัทข้ามชาติที่สนใจลงทุนในไทย ที่ไม่ต้องจ่ายสินบนเพื่อชิงความได้เปรียบทางธุรกิจ แต่แข่งขันกันที่นวัตกรรม
อีกทั้งประเทศต่างๆ ไม่ต้องแข่งขันลดภาษีเพื่อช่วงชิงเงินทุนจากต่างประเทศ แต่เน้นสร้างกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน
การปรับกฎระเบียบและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านทุจริตและการจัดเก็บภาษีเงินได้บริษัทข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับไทยที่รัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ข้อมูลเชิงเทคนิค และแรงจูงใจทางการเมือง
กรอบความร่วมมือ IPEF เสา 4 จะช่วยเสริมศักยภาพของรัฐไทย โดยไม่ได้สร้างภาระผูกพันฉบับใหม่ต่อประเทศไทย แต่เป็นการนำเอาอนุสัญญาหรือกรอบความร่วมมือสากลที่ไทยร่วมลงนามไว้ก่อนหน้ามาสร้างความร่วมมือกัน พร้อมกลไกสนับสนุนด้านเทคนิคแก่หน่วยงานรัฐ
ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ปปง. ที่ต้องปฏิรูปและบังคับกฎระเบียบต่อต้านทุจริตและการฟอกเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ได้แก่ อนุสัญญาต่อต้านคอร์รัปชันของสหประชาชาติ (UNCAC) อนุสัญญาต่อต้านการให้สินบนของ OECD (OECD’s Anti-Bribery Convention) และมาตรฐานต่อต้านการฟอกเงินขององค์กรสากล FATF
นอกจากนี้ยังมีกรมสรรพากรที่จะได้รับการสนับสนุนให้ปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายภาษีอากร ให้สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือด้านภาษีของ OECD เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษี (OECD’s Global Forum) และการจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (OECD’s Two-Pillar Solution)
คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ พบว่า ไทยยังต้องปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตและการฟอกเงิน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในประเด็นใหญ่และยาก เช่น การมีมาตรการระบุ “ผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง” และการปรับปรุงกฎหมายเพื่อยินยอมให้นิติบุคคลชำระเงินค่าปรับเพื่อระงับคดีทุจริตตามแนวทางที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้จัดการกับสินบนข้ามชาติของบริษัทสหรัฐฯ ดังตัวอย่างในตอนต้นของบทความ
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ไทยยังต้องการการสนับสนุนจากต่างประเทศเพื่อรวบรวมหลักฐานและตรวจสอบเส้นทางการเงินคดีสินบนข้ามชาติ และติดตามยึดทรัพย์สินจากคดีทุจริตที่ถูกโอนถ่ายไปต่างประเทศกลับมาไทย (asset recovery)
ด้วยเพราะไทยแทบไม่มีตัวอย่างการติดตามทรัพย์สินจากคดีทุจริตที่สำเร็จให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ มีเพียง 1 คดีที่เด่นชัดคือการติดตามยึดเงินสินบนจากคดีทุจริตการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ปี 2556 มูลค่าราว 10 ล้านบาทจากต่างประเทศ ในขณะที่ช่วงเวลาที่ผ่านมายังปรากฎคดีทุจริต สินบนข้ามชาติและคดีฟอกเงินมูลค่าสูงหลายคดีที่น่าสงสัยว่ามีการถ่ายโอนทรัพย์สินออกนอกประเทศ
ดังนั้น การได้รับการประสานข้อมูลธุรกรรมการเงินในคดีทุจริตและสินบนข้ามชาติจากประเทศภาคีกรอบความร่วมมือ IPEF เสา 4 จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานปราบปรามทุจริตและการฟอกเงินของไทยอย่างมาก
ส่วนการดำเนินการกรอบความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศยังไม่ปรากฎอุปสรรคที่กรมสรรพากรจะไม่สามารถปฏิบัติตามได้ โดยไทยมีความพร้อมด้านกฎระเบียบประกอบกับกรอบความร่วมมือด้านภาษีฯ ยังมีรายละเอียดบางประการที่รอความชัดเจน จึงยังไม่ส่งผลกระทบใดต่อไทยชัดเจน
โดยรวมแล้ว กรอบความร่วมมือ IPEF เสา 4 “เศรษฐกิจที่เป็นธรรม” จะสร้างโอกาสและแรงสนับสนุนให้ไทยได้เร่งตรวจจับการทุจริตและสินบนข้ามชาติที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการประกอบธุรกิจและลงทุนในประเทศไทย และช่วยให้ไทยปรับปรุงกฎหมายและมาตรการจัดเก็บภาษีธุรกิจให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเด็นทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไทยต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่รัฐบาลได้ลงนามไว้ก่อนหน้านี้ กรอบความร่วมมือ IPEF เสา 4 จึงไม่สร้างภาระผูกพันใหม่แก่ไทย
นอกจากนี้ การปฏิรูปกฎระเบียบในหัวข้อข้างต้นเป็นประเด็นหลักที่ไทยต้องดำเนินการอยู่แล้ว ในกระบวนการประเมินเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาล
กรอบความร่วมมือ IPEF เสา 4 จึงเป็นกลไกเสริมให้การปฏิรูปมีโอกาสคืบหน้าไปได้ยิ่งขึ้น เปรียบเสมือน “ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว” พร้อมกัน
บทความโดย : ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส นโยบายการกำกับดูแลที่ดี ทีดีอาร์ไอ
เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.กรุงเพทธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 กันยายน 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง
IPEF Pillar II กับความยืดหยุ่นของซัพพลายไทย
IPEF Pillar III กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม