tdri logo
tdri logo
6 กันยายน 2024
Read in 5 Minutes

Views

IPEF Pillar III กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในยุคที่สังคมโลกหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) เสาความร่วมมือที่ 3 (IPEF Pillar III) ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Clean Economy) จึงมีความสำคัญและเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศสมาชิก

กรอบความร่วมมือนี้เป็นการรวมพลังของประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้เทคโนโลยีสะอาด การลงทุนที่ยั่งยืน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

IPEF Pillar III เป็นด้านหนึ่งในความร่วมมือ IPEF 4 เสาหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย ด้านการค้า ด้านห่วงโซ่อุปทาน ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

คณะผู้วิจัย TDRI โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้สำรวจปัญหา โอกาสและความเสี่ยงจากการเข้าร่วม IPEF ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเสาหลักที่ 3 ที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมลงนามกันไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567

การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว : แนวทางและโอกาสสำหรับประเทศไทย

ประเทศไทยมีความต้องการที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของ IPEF ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ข้อตกลงนี้มุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้เทคโนโลยีสะอาดและการลงทุนที่ยั่งยืน

ความร่วมมือนี้สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ การตรวจจับและลดการรั่วไหล ของก๊าซมีเทน รวมทั้งการพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองในฐานะพลังงานทางเลือกที่สำคัญสำหรับอนาคต แม้ว่าต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่ แต่ด้วยการสนับสนุนทางเทคโนโลยีจากประเทศสมาชิก IPEF และการปรับใช้กลไกภาษีคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยผลักดันการใช้พลังงานนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ยังถือเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นด้านอุปทานไฟฟ้าที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทยอีกด้วย

ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวต้องเกิดการปรับตัวอย่างจริงจังในภาคอุตสาหกรรมและขนส่งของประเทศไทย

ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้เริ่มใช้มาตรการกำหนดภาษีคาร์บอน ข้ามพรมแดน หรือ CBAM ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทย เช่น ซีเมนต์ พลาสติก เหล็ก โดยตรง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงการศึกษา และพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอุตสาหกรรมขนส่ง

การจัดการที่ดิน การเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดการที่ดินและทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมและ เทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น การปรับพื้นที่นาข้าว และการใช้โดรนฉีดพ่นปุ๋ยเพื่อลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก โดยการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก IPEF จะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสในการเรียนรู้และนำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาใช้ในภาคการเกษตรและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะจากภาคพลังงานที่ยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างมาก

ความท้าทายนี้นำมาซึ่งการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจัดตั้ง Thailand CCUS Consortium ในการพัฒนาเทคโนโลยี CCUS (Carbon Capture, Utilization, and Storage) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการ Thailand CCS Hub และ โครงการ Eastern Thailand CCS Hub

นอกจากนั้นไทยยังได้รับความร่วมมือจากญี่ปุ่นในโครงการสำรวจทางธรณีวิทยาเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี CCUS ร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศอย่าง JGC Partner และ INPEX Cooperation

ส่งเสริมจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวและสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการริเริ่มนโยบายส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว โดยกรมควบคุมมลพิษ ในช่วงปี 2565-2570 โดยใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย ที่มุ่งสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนโยบายนี้เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แม้การดำเนินการยังขึ้นอยู่กับความสมัครใจของหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ แต่ก็ได้สร้างแรงกระตุ้นที่ดีในภาคธุรกิจเอกชน

พัฒนาทักษะแรงงานด้วยการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม กระทรวงแรงงาน ของประเทศไทยได้ดำเนินแผนปฏิบัติการแรงงาน 5 ปี โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถของคนงานในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เน้นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม โดยจำเป็นต้องมีนโยบายทางเศรษฐกิจและการจัดการองค์กรที่ชัดเจนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและยั่งยืนสำหรับแรงงานในทุกภาคส่วน

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากความร่วมมือ IPEF ด้านเศรษฐกิจที่สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องอาศัยการดำเนินการที่เข้มแข็งและชัดเจนจากภาครัฐ ในการพัฒนานโยบายและเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเฉพาะบทบาทของผู้แทนไทยใน IPEF Clean Committee ที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการความร่วมมือ Cooperative Work Programme และการพัฒนากลไกสนับสนุนจากภาครัฐ

เช่น การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์เขียว การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปฏิรูปตลาดพลังงานเพื่อเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้า

โดยสรุป การเข้าร่วม IPEF Pillar ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสที่สำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานและเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทย แต่ต้องการการดำเนินการและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศสามารถปรับตัวและก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ได้อย่างมั่นคง

บทความโดย ดร. อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เผยแพร่ครั้งแรก : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กันยายน 2567

ติดตามบทความเกี่ยวกับเสาความร่วมมือ ที่ 4 Fair Economy ได้ในตอนต่อไป

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด