กระแสการไหลบ่าของทุนต่างชาติเข้ามาในหลายธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดส่งออกผลไม้ไทย ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา “ล้งต่างชาติ” เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งการขยายตัวของล้งต่างชาติไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดส่งออกผลไม้ไทย แต่ยังท้าทายความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วย
โจทย์ใหญ่ในวันนี้ คือ..จะทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจล้งผลไม้ไทย และมีการกำกับดูแลของภาครัฐที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยได้รับประโยชน์มากที่สุด
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการศึกษา “แนวทางส่งเสริมศักยภาพธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร: โรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้งผลไม้)” ของคณะผู้วิจัย ด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ของล้งผลไม้ในประเทศไทย ผลกระทบของธุรกิจล้งผลไม้ของชาวต่างชาติที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานผลไม้ไทย รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาและดำเนินการตามความเหมาะสม
การศึกษาในครั้งนี้คณะผู้วิจัย ทีดีอาร์ไอ ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลผลไม้ที่ล้งรับซื้อที่มีมูลค่าและปริมาณการส่งออกสูง 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย และมะพร้าวน้ำหอม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน จันทบุรี ราชบุรี และชุมพร
พัฒนาการล้งต่างชาติในไทย
ความเป็นมาของล้งผลไม้และการเข้ามาของล้งผลไม้ต่างชาติ แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้
ก่อนปี 2547 ตลาดผลไม้ไทยเป็นตลาดในประเทศ โดยเกษตรกรขายผลไม้ให้กับพ่อค้าคนกลาง และมีการนำไปขายที่ตลาดกลาง และกระจายสู่ตลาดท้องถิ่น
ช่วงปี 2547-2552 ภายหลังจากเกิดความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ACFTA) ทำให้มีการลดภาษีสินค้าผักผลไม้ระหว่างกัน โดยภาษีศุลกากรลดลงเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้การค้าไทย-จีนในช่วงนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เริ่มมีล้งคนไทยเข้ามาตั้งจุดรวบรวมและรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ปลูกเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ
ช่วงปี 2553-2555 เป็นช่วงที่ตลาดผลไม้ไทยขยายตัวมากขึ้น ตลาดจีนเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของไทย โดยผลไม้ที่ส่งออกมาก คือ ลำใยสด ลำใยอบแห้ง ทุเรียน และมังคุด และเป็นช่วงเวลาที่ล้งต่างชาติเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจล้งผลไม้เพื่อส่งออกไปจีน
นับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ล้งผลไม้มีการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยมีผลไม้ชนิดอื่นที่ตลาดต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมเป็นผลไม้สำคัญในการส่งออกเพิ่มเติมเข้ามา ห่วงโซ่อุปทานการซื้อขายผลไม้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยล้งต่างชาติ โดยเฉพาะสัญชาติจีนเข้ามามีบทบาทสูงขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานผลไม้ส่งออกของไทย
สัดส่วนสัญชาติล้งผลไม้ในไทย
ในปี 2567 มีจำนวนโรงคัดบรรจุส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรจำนวน 2,122 ราย ประกอบด้วยล้งในพื้นที่ภาคเหนือ 197 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26 ราย ภาคกลาง (รวมภาคตะวันออก) 1,252 ราย และภาคใต้ 647 ราย
เมื่อแบ่งสัดส่วนของล้งตามสัญชาติของผู้ประกอบการ จากการวิเคราะห์ข้อมูลล้งผลไม้จากฐานข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ล้งสัญชาติไทยมีสัดส่วนมากที่สุด โดยสัดส่วนร้อยละ 67 เป็นล้งที่คนไทยมีทุนจดทะเบียนร้อยละร้อย รองลงมาร้อยละ 31 เป็นล้งร่วมทุนของคนไทยกับชาวต่างชาติ โดยคนไทยมีสัดส่วนการถือครองหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 ในขณะที่ล้งที่เป็นของผู้ประกอบการสัญชาติจีนมีทุนจดทะเบียนมากกว่าร้อยละ 50 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2
อย่างไรก็ดี แม้ล้งผลไม้ที่ถือครองโดยผู้ประกอบการจีนจะมีสัดส่วนที่น้อยมาก แต่เมื่อพิจารณาในแง่รายได้ พบว่า ล้งจีนมีสัดส่วนรายได้สูงในธุรกิจนี้ แสดงให้เห็นว่าล้งจีนเข้ามามีอิทธิพลสูงในตลาดผลไม้ในประเทศไทย
รูปแบบการรับซื้อของล้งผลไม้
โดยทั่วไปการรับซื้อผลไม้ของล้งในประเทศไทย มี 5 รูปแบบ ได้แก่ 1. ล้งตั้งจุดรับซื้อในพื้นที่ปลูกผลไม้ โดยเกษตรกรนำผลผลิตมาขายให้แก่ล้งผลไม้ 2. ล้งรับซื้อผ่านผู้รวบรวมหรือพ่อค้าคนกลาง 3.ล้งให้ผู้แทนล้ง ซึ่งอาจเป็นคนไทยหรือคนจีนเข้าไปติดต่อซื้อผลไม้ทั้งแบบเหมาสวนและ/หรือไม่เหมาสวน ก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจนถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว 4.ล้งเข้าร่วมประมูลจากกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่หรือวิสาหกิจชุมชน (กรณี มังคุด) และ 5. ล้งมีสวนของตนเองหรือเช่าสวนปลูกผลไม้ผันตนเองจากเกษตรกรมาเป็นผู้รวบรวมและเป็นเจ้าของล้ง
จากการลงพื้นที่ของคณะผู้วิจัย ทีดีอาร์ไอ พบว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจของล้งไทยและล้งต่างชาติ คือ สร้างแบรนด์ผลไม้ขายเองโดยดำเนินธุรกิจครบวงจร และแพ็คผลไม้ตามคำสั่งซื้อของพ่อค้าปลายทางในจีน ขณะที่ล้งไทยนอกจากดำเนินธุรกิจใน 2 รูปแบบข้างต้นแล้ว ยังรับจ้างรวบรวม รับซื้อ คัดเกรด และบรรจุ รวมถึงรับจ้างแพ็คอิสระด้วย ซึ่ง 2 รูปแบบท้ายนี้ไม่ได้ส่งออกส่งออกเอง
คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ ได้ศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
ล้งผลไม้ที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กำหนดประเภทธุรกิจที่ห้ามคนต่างชาติประกอบกิจการ หรือทำได้แต่ต้องขออนุญาต โดยล้งต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจ รับซื้อ คัดคุณภาพ บรรจุผลไม้ และส่งออกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่หากล้งรับซื้อผลไม้ในไทยและจำหน่ายสินค้าบางส่วนในประเทศไทย (ถือว่าเป็นการค้าภายในเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตทางการเกษตรพื้นเมือง) หรือล้งรับจ้างคัดคุณภาพและบรรจุผลไม้ให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่น ถือเป็นธุรกิจบริการในบัญชีสาม (21) การทำธุรกิจบริการอื่น ดังนั้น ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกฉบับ คือ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายกำกับพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการกรณีล้งผลไม้ อาจมีพฤติกรรมละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ได้ใน 2 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1: ล้งมีพฤติกรรมปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น เช่น กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมในสัญญา, กำหนดหรือปรับลดราคาซื้อภายหลังการทำสัญญาและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ เช่น การชะลอเข้าเก็บผลไม้ การเลือกเก็บผลไม้บางส่วน ทั้งนี้หากเกิดการร้องเรียนขึ้นมาระหว่างล้งและเกษตรกรและพิสูจน์ได้ว่าล้งละเมิดกฎหมายแข่งขันทางการค้าจริงก็จะถูกลงโทษ โดยมีบทลงโทษ ปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำผิด หากเป็นการกระทำความผิดปีแรกของการประกอบธุรกิจ ให้ชำระค่าปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท
กรณี 2: การกระทำอันเป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน จำกัดการแข่งขัน เช่น การกำหนดราคาซื้อการร่วมกันจำกัดปริมาณของสินค้า การร่วมกันกำหนดแบ่งท้องที่หรือกำหนดเกษตรกรที่จะรับซื้อ อันเป็นการจำกัดทางเลือกขายผลไม้ของเกษตรกร หรือที่เรียกว่า “ฮั้ว” ซึ่งมีบทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเป็นการกระทำความผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ ต้องจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือชำระค่าปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้คณะผู้วิจัยมีข้อสังเกตว่ามีความยากในการพิสูจน์พฤติกรรมว่าเข้าข่ายเป็นการฮั้วหรือไม่
ผลกระทบของการเข้ามาทำธุรกิจล้งผลไม้ของต่างชาติ
ล้งผลไม้ต่างชาติมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อการค้าผลไม้ในไทยมี โดยผลกระทบทางบวก พบว่า มีผลให้ตลาดส่งออกผลไม้ไทยขยายตัวมากขึ้น เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพสูงเนื่องจากราคาผลไม้ขึ้นอยู่กับคุณภาพผลผลิต เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่จากการตั้งล้งผลไม้ในแหล่งเพาะปลูกมากขึ้น
เกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายผลผลิตที่หลากหลายมากขึ้น ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางซึ่งช่วยลดปัญหาการถูกกดราคา นอกจากนี้ราคาผลไม้ขยับสูงขึ้น ส่งผลดีต่อระบบราคาผลไม้โดยรวม และล้งไทยเองก็มีรายได้จากการทำธุรกิจรับบรรจุผลไม้ รวมทั้งรัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีการทำธุรกิจล้งผลไม้ และช่วยแก้ปัญหาที่เกษตรกรเผชิญอยู่ เช่น การขายผลไม้แบบเหมาสวน ทำให้เกษตรกรได้รับเงินมัดจำส่วนหนึ่งมาใช้ในการบำรุงรักษาสวน อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยโดยล้งจะนำแรงงานเข้ามาเก็บเกี่ยวผลผลิตเองในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว และเกษตรกรมั่นใจได้ว่ามีตลาดรองรับผลผลิต
ส่วนผลกระทบทางลบ พบว่า ปัจจุบันไทยพึ่งพิงตลาดส่งออกจีนเพียงตลาดเดียว ทำให้มีความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการไทยและเกษตรกรมากขึ้น เช่น หากมีปัญหาทางการเมืองหรือการเกิดโรคระบาดและการตรวจพบแมลงหรือสารปนเปื้อนในผลไม้จนจีนต้องปิดด่านเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีต นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลในการเข้ามาครอบงำตลาดของล้งจีน โดยนักลงทุนจีนเข้ามาทำธุรกิจล้งผลไม้ในไทยเพิ่มขึ้นและมีบทบาทตลอดห่วงโซ่อุปทานการส่งออกผลไม้ รวมถึงขยายการซื้อขายผลไม้หลากหลายชนิดไปยังหลายจังหวัด จนเกิดความกังวลว่าล้งจีนอาจมีอำนาจเหนือตลาดและสามารถกำหนดราคาผลไม้ไทยในอนาคต
ล้งไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาด แม้ว่าในขณะที่ตลาดส่งออกขยายตัวมากขึ้น แต่ล้งไทยส่วนใหญ่ทำธุรกิจเป็นเพียงผู้รวบรวมและคัดบรรจุตามคำสั่งซื้อเท่านั้นซึ่งได้ผลกำไรไม่มาก และยังมีล้งจีนเข้ามาทำธุรกิจรับจ้างแพ็คเป็นคู่แข่งด้วย นอกจากนี้ล้งไทยยังเสียเปรียบในการเข้าถึงตลาดจีนเนื่องจากข้อจำกัดด้านเงินทุน ภาษา และกฎระเบียบของประเทศจีน
ขณะเดียวกันยังมีความกังวลเรื่องการเข้ามาครอบครองที่ดินเพื่อการเกษตรของคนจีน โดยใช้คนไทยเป็นตัวแทน หรือนอมินี แม้ไทยจะมีกฎหมายกำกับดูแลในเรื่องนี้ แต่หากไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง อาจส่งผลต่อการครอบครองที่ดินของคนจีนในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเฝ้าระวัง รวมถึงหากคนจีนเข้ามาครอบงำธุรกิจผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทานอาจมีความเสี่ยงในพฤติกรรมฮั้วราคารับซื้อผลไม้
เปิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
แม้การส่งออกผลไม้ของไทยจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมาก แต่ยังมีหลายอย่างที่ควรปรับปรุงเพื่อทำให้การส่งออกผลไม้ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดใหม่ไปพร้อมกับการเพิ่มส่วนแบ่งที่ควรจะได้ให้มากกว่าเดิม เนื่องจากไทยพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก ดังนั้นต้องพยายามที่จะทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกมากกว่านี้โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
ขยายตลาดผลไม้ไปยังตลาดอื่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแสวงหาตลาดใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย หรือประเทศที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ควรทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น ผ่านทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดใหม่ และเพิ่มงบประมาณและกิจกรรมในการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศ
การกำกับดูแล รัฐควรเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น การติดตามและเฝ้าระวังพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม การเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพผลไม้ที่ออกสู่ตลาด และตรวจสอบความเป็นเจ้าของที่ดินของล้งต่างชาติ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไม่เกิดความเสียเปรียบ เสียประโยชน์ของประเทศไทย
การเพิ่มศักยภาพโรงคัดบรรจุผลไม้ไทย รัฐควรให้การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ หรือเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนการรวมกลุ่มของโรงคัดบรรจุผลไม้ไทยและเกษตรกร สนับสนุนความรู้และการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและคุณภาพผลผลิต เช่น การพัฒนาเครื่องคัดเกรด บรรจุภัณฑ์ การรักษาคุณภาพผลไม้ การตรวจสอบย้อนกลับ เป็นต้น ที่สำคัญต้องสนับสนุนให้ล้งไทยมีความสามารถในการส่งออกได้เอง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้างเครือข่ายกับผู้รับซื้อในต่างประเทศ ให้ความรู้ด้านกฎระเบียบทางการค้าในประเทศปลายทาง รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและทักษะของทีมเก็บเกี่ยวหรือสายตัด เพื่อรักษามาตรฐานคุณภาพของผลไม้
การเชื่อมโยงข้อมูล ต้องเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบตั้งแต่ระดับสวนจนถึงตลาดส่งออก และสามารถติดตามสถานการณ์การส่งออกได้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์เชิงลึก เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกรมวิชาการเกษตร ที่มีเพียง ชื่อ ที่อยู่ และประเภทผลไม้ที่ส่งออก เข้ากับฐานข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่มีข้อมูลบริษัทเชิงลึก เช่น สัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ ทุนจดทะเบียน รายได้ งบกำไรขาดทุน
“ล้งจีนสร้างโอกาส แต่ไม่ได้เป็นโอกาสที่ปราศจากปัญหา ดังนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องแก้ปัญหา เฝ้าระวังติดตาม และปรับตัวเพื่อขจัดปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าจีนเป็นตลาดใหญ่มาก และยังเติบโตได้อีกมาก ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ไทยโตไปกับจีน โดยที่อย่างน้อยไทยสามารถรักษาสถานภาพส่วนแบ่งที่ยุติธรรมได้” ดร.วิศาล บุปผเวส หัวหน้าโครงการวิจัย ทีดีอาร์ไอ ระบุ
คณะผู้วิจัย ทีดีอาร์ไอ ประกอบด้วย ดร. วิศาล บุปผเวส หัวหน้าโครงการ , ขนิษฐา ปะกินำหัง, พันปรีชา ภู่ทอง ทีมวิจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา
รับชมย้อนหลัง งานสัมมนา “ติดปีกล้งผลไม้ เสริมแกร่งไทยสู่เวทีโลก”
เอกสารประกอบการนำเสนอ
เสียงสะท้อนจากล้งไทย-เกษตรกร
“เริ่มแรกการผลิตส่งออกของผลไม้ไทยส่งออกไปจีน เป็นของผู้ประกอบการไทยจีนสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง หลังจากนั้นล้งจีนลุกคืบเข้ามาเป็นล้งตั้งในไทยเอง ตอนนี้คืบไปเป็นเกษตรกรผู้ผลิตแล้วด้วย เราต้องรับทราบเรื่องนี้เพื่อที่จะวางแผนรับมือว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง”
เป็นเสียงสะท้อนจาก “เวโรจน์ วงศ์ประดู่” เลขาสมาคมมะพร้าวน้ำหอมไทย ภายในงานสัมมนา “ติดปีกล้งผลไม้ เสริมแกร่งไทยสู่เวทีโลก” ที่กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา
ตัวแทนสมาคมมะพร้าวน้ำหอม ยังเปิดเผยด้วยว่า ในปีที่ผ่านมามีล้งมะพร้าวน้ำหอมของไทย “เจ๊ง”
ไปแล้วครึ่งหนึ่ง เนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนจากส่วนต่างของราคารับซื้อจริง กับราคาที่ถูกกำหนดมาจากปลายทาง
การสู้ศึกของล้งผลไม้ไทยในขณะนี้ เขามองว่า ล้งไทย โดยการสนับสนุนจากภาครัฐ ควรใช้เกมธุรกิจเดียวกับจีน นั่นคือ การผลักดันให้ล้งไทยไปเปิดตลาดที่จีนเพื่อจะได้รับทราบราคาที่แท้จริงของตลาดปลายทาง ดังนั้นจะต้องช่วยกันเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยทั้งรายใหญ่หรือรายย่อยไปเปิดตลาดขายที่จีน
ขณะที่“สัญชัย ปุรณะชัยคีรี” นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย มองว่า ผู้ประกอบการล้งผลไม้ขนาดใหญ่ในไทยมีทั้ง ล้งไทย ล้งจีน และล้งเวียดนาม ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรมองว่าใครดีใครไม่ดี แต่ให้คิดว่า ผลไม้ไทยในขณะนี้มีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยซื้อและกระจายผลไม้ไปที่จีนจำนวนมาก จากเดิมที่ในอดีตที่มีล้งไทยเพียง 25 ล้งเท่านั้น แต่ในขณะนี้บริษัทจีน 1 บริษัทมีล้งในไทยถึง 20 ล้ง
“ถ้าเราลองบอกว่าไม่เอาบริษัทจีน ให้ปิดบริษัท เราจะเอาผลไม้ไปไว้ไหน เกษตรกรไทยก็จบ ทุกวันนี้ 20 ล้ง ส่งผลไม้ไปจีนวันหนึ่งประมาณ 40 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 800 ตัน เราต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการไทยอ่อนแอลงเรื่อยๆ ทั้งทุน และระบบขนส่งโดยเปรียบเทียบกับล้งจีน เวลาล้งจีนเข้ามาทีหนึ่ง นำทุนมา 2 พันล้านบาททุนไทยจะไปสู้ได้อย่างไร ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้ได้ก็คือการกำกับดูแลให้มีความเสมอภาคในการแข่งขัน”
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็นจากผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งเสียงไปยังภาครัฐ เพื่อให้สนับสนุน “ล้งไทย” ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก