tdri logo
tdri logo
9 ตุลาคม 2024
Read in 5 Minutes

Views

TDRI ห่วง “โลกเดือด” ทำภัยพิบัติรุนแรง เสนอปรับไทยตั้งรับความเสี่ยง

ทีดีอาร์ไอห่วง “โลกเดือด” ทำภัยพิบัติรุนแรง กระทบเศรษฐกิจ-สังคม เสนอปรับไทยตั้งรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับ 5 ความท้าทาย เตรียมเปิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในเวทีวิชาการประจำปี 30 ต.ค.นี้   

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรงในประเทศไทยในปัจจุบันว่า การที่ภัยพิบัติเช่น น้ำท่วมเกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากการที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นต่อเนื่องจนเข้าข่าย “โลกเดือด”  ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยที่ผ่านมาหลายประเทศได้เร่งปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ และควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนแล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ภาครัฐทั้งส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจเอกชนและประชาชนไทยยังให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยต่อการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ แม้จะมีแนวคิดในบางด้านอยู่บ้าง เช่น การจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งและน้ำท่วม แต่ก็แทบยังไม่มียุทธศาสตร์การรับมือกับผลกระทบในด้านอื่น

ดร. สมเกียรติ ระบุว่า โจทย์สำคัญของประเทศจะทำอย่างไรให้ไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสามารถอยู่รอดได้ในยุค “โลกเดือด” ไม่ว่าจะเป็นการปรับภาคเกษตรให้พร้อมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งสลับกับน้ำท่วมฉับพลัน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าที่แม่นยำ ตลอดจนการพัฒนาระบบการเงินและเครื่องมือประกันภัยที่จะช่วยในการปรับตัวและกระจายความเสี่ยงจากภัยทางธรรมชาติต่างๆ

ดร. สมเกียรติ กล่าวว่า การปรับตัวให้อยู่รอดในยุคโลกเดือดนอกจากต้องมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมแล้วจะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม โดยมาตรการต่าง ๆ จะต้องคุ้มครองประชาชนในวงกว้าง ไม่มีกลุ่มใดตกหล่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความสามารถในการปรับตัวต่ำ และต้องไม่สร้างผลกระทบจากการปรับตัวที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้มาตรการที่ช่วยรับมือกับผลกระทบในพื้นหนึ่ง แต่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นในพื้นที่อื่น หรือเพิ่มความเสี่ยงขึ้นในอนาคต  ด้วยเหตุผลเหล่านี้การจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีของทีดีอาร์ไอในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ทีดีอาร์ไอครบรอบ 40 ปี จึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยทีมนักวิจัยของทีดีอาร์ไอจะนำเสนอทิศทางด้านนโยบายและมาตรการในการเตรียมการปรับประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศ ภายใต้หัวข้อ “ปรับประเทศไทย … ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” เพื่อให้ประเทศไทยมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรมต่อประชาชนกลุ่มต่างๆ มากที่สุด

จัดการเมือง ตั้งรับภัยพิบัติ ลดความเสี่ยง

ด้านดร. สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า เมืองจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น โดยเมืองในประเทศไทยเจอกับภัยจากความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลเซาะชายฝั่ง จึงต้องมีแนวทางตั้งรับปรับตัวในระยะยาวที่พิจารณาทุกมิติของการพัฒนาเมืองอย่างรอบคอบ ทั้งการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานหลากหลายรูปแบบในการลดความรุนแรงของภัยพิบัติ การจัดการผังเมือง และการเก็บข้อมูลภัยเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง

“หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น จำเป็นต้องมีความเข้าใจต่อภัยธรรมชาติ กลุ่มเปราะบางในเมือง และความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของเมือง เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงของภัยพิบัติที่จะรุนแรงขึ้น ถ้าไม่สามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ประชาชนและภาคเศรษฐกิจจะประสบปัญหาความยากลำบากในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจมากขึ้น” ดร.สุเมธ ระบุ

ดร. สุเมธ กล่าวว่า หากประเทศไทยยังอยู่แบบนี้ต่อไป โดยไม่มีการปรับเพื่อเปลี่ยนเมืองให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ก็จะส่งผลต่อการบริหารจัดการของภาครัฐ ทำให้ต้นทุนของภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบจากเกิดภัยพิบัติสูงขึ้น ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของประเทศจะต่ำลงเรื่อยๆ เพราะงบประมาณในส่วนนี้ที่นำไปบรรเทาผลกระทบสามารถนำไปใช้แก้ไขในปัญหาระยะยาว หรือไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆได้ ดังนั้นจะเกิดความเสี่ยงและฉุดรั้งเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แต่หากมีการวางยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติในอนาคตได้ ซึ่งข้อเสนอแนะทั้งหมดจะถูกนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของทีดีอาร์ไอ หรือTDRI Annual Public Conference ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้

ชวนร่วมหาคำตอบ “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” 30 ต.ค.นี้

สำหรับงาน  TDRI Annual Public Conference 2024 “ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” จะจัดขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์  โดยภายในงานจะมีการนำเสนอ 5 หัวข้อจากนักวิชาการทีดีอาร์ไอ ประกอบด้วย 1. ปรับประเทศไทย…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ โดยดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ 2. ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง โดยดร. นิพนธ์ พัวพงศกร และ ดร. นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ 3. สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ โดยดร. สุเมธ องกิตติกุล 4. รับมือภัยพิบัติ…จัดการวิกฤตภัยธรรมชาติ โดยดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู และนายณัฐสิฎ รักษ์เกียรติวงศ์ และ5. การเงิน-ประกันภัย…ปรับอย่างไรรับโลกรวน? โดยดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์

นอกจากนี้ยังมีเสวนาในหัวข้อ “เคลื่อนประเทศ ปรับไทยให้รอด ในยุคโลกเดือด” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.และหัวหน้าพรรคประชาชน นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บ.ป่าสาละ จำกัด มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น และนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว The Standard เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งทาง Onsite และ Online สามารถลงทะเบียนภายในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ได้ที่นี่ (คลิก)

นักวิจัย

ดร. สุเมธ องกิตติกุล
รองประธานสถาบัน ดูแลงานด้านการบริหารระบบงานภายใน / ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์
ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์
นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร
นักวิชาการเกียรติคุณ
ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด