3 ปัจจัยทำไทยท่วมซ้ำซาก จัดการน้ำรวมศูนย์แต่แยกส่วน-ขาดการป้องกันก่อนเกิดเหตุ -ลงทุนลดเสี่ยงน้อย ชู “หาดใหญ่โมเดล” ต้นแบบกลไกจัดการที่ดี พร้อมเปิด 4 ข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติจริง แนะออก กม. เปิดทางตั้งผู้ว่าฯซูเปอร์ซีอีโอ-ผู้บัญชาการลุ่มน้ำพื้นที่เสี่ยงสูง

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “รับมือภัยพิบัติ…จัดการวิกฤตภัยธรรมชาติ” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 ของทีดีอาร์ไอ ว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยในช่วงปี 2543-2562 เกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศถึง 146 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 138 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 2.8 แสนล้านบาท โดยภัยธรรมชาติมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะเหตุอุทกภัยซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 2 พันคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 ล้านล้านบาท ขณะที่เหตุน้ำท่วมล่าสุดในพื้นที่ภาคเหนือ คาดการณ์ว่ามีความเสียหายสูงถึง 2.7 หมื่นล้านบาท

ดร.เสาวรัจ ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ไทยเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก จนก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลมี 3 สาเหตุ 1.การบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์แต่แยกส่วน 2.ขาดการป้องกันและเตรียมพร้อมที่ดีก่อนเกิดเหตุ โดยเฉพาะระบบเตือนสาธารณภัยของไทย และ 3.ขาดการวางแผนและจัดลำดับการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ทั้งที่การลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้ามีความคุ้มค่าสูง มีผลตอบแทน 9 เท่า ทั้งนี้ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาการรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ได้ คือการที่ท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐมีขีดความสามารถที่จำกัดในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติ รวมทั้งขาดการบูรณาการในการทำงาน และการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตามไทยสามารถนำบทเรียนความสำเร็จของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น มาใช้ในการบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศได้

ด้านนายณัฐสิฏ รักษ์เกียรติวงศ์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในประเทศไทยเองก็มีพื้นที่ที่มีแนวปฏิบัติที่ดีเช่นกัน ซึ่งก็คือ “หาดใหญ่โมเดล” โดยพื้นที่หาดใหญ่มีความเสี่ยงสูง และในอดีตถูกน้ำท่วมใหญ่ทุก 10 ปี ปัจจุบันหาดใหญ่มีกลไกบริหารความเสี่ยง และสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาเพียงพอที่ประชาชนจะสามารถขนย้ายสิ่งของมีค่า และอพยพไปในที่ปลอดภัยเพื่อลดความสูญเสียได้ ปัจจัยที่ทำให้หาดใหญ่โมเดลประสบความสำเร็จ คือการที่มีศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ และมีชุดปฏิบัติการที่เป็นข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ทำการประเมินสถานกาณ์ และจัดทำระเบียบวิธีการเตือนภัยในระดับต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้เดินหน้าสู่การปฏิบัติจริงนั้น ดร.เสาวรัจ และนายณัฐสิฏ มีข้อเสนอ ดังนี้ 1. ตั้งศูนย์วิชาการภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยง เช่นจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อทำให้เกิดองค์ความรู้ในการจัดการรับมือความเสี่ยงภัยพิบัติ โดยสนับสนุนทรัพยากรให้แก่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคด้วยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.) 2. เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิคของหน่วยงานรัฐส่วนกลาง โดยขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) 3. ยกระดับการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงาน โดยให้อำนาจตามกฎหมายและอำนาจให้คุณให้โทษร่วมกับการสร้างความพร้อมรับผิดรับชอบของหน่วยงานในพื้นที่ โดยเร่งออกพ.ร.บ.ยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้มีความทันสมัย เริ่มใช้กับจังหวัดและลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้มี “ผู้ว่าซูเปอร์ซีอีโอ” และผู้บัญชาการลุ่มน้ำ เพื่อให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และ 4. แก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม โดยระงับการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติมไป พร้อมกับการทยอยแก้ไขปัญหาจากการใช้ที่ดินผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต
ไทย “ติดกับดักมองสั้น” วางแผนประเมินความเสี่ยงรับภัยโลกรวนในแผนการคลัง การเงิน-ธุรกิจไม่เพียงพอ หากไม่เร่งปรับตัว จะเสี่ยงถูกลดอันดับเครดิตประเทศ เสนอดึงทุกภาคส่วนร่วมลงขันลงทุน สร้างนวัตกรรมประกันภัยพร้อมตั้งกองทุนปรับตัวฯ สู้โลกรวน
ขณะที่ ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “การเงิน-ประกันภัยปรับอย่างไรรับโลกรวน” ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากไทยไม่เร่งปรับตัวเพื่อรับมือ ภายในปี 2050 อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการถูกลดอันดับเครดิตของประเทศลงถึง 2 ระดับ หรือจาก BBB+ เหลือ BBB- ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในโครงการปรับตัวต่าง ๆ เช่น สร้างระบบเตือนภัยและปรับโครงสร้างพื้นฐานให้ยืดหยุ่น โดยโครงการเหล่านี้สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 4 เท่าของเงินลงทุน แต่ที่ผ่านมาไทยติด “กับดักมองสั้น” ทำให้ขาดการวางแผนและประเมินความเสี่ยงระยะยาว ตลอดจนยังขาดการรวมความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเข้าไปในแผนการเงินและธุรกิจ รวมถึงปัญหางบประมาณจำกัด ทำให้การลงทุนด้านการปรับตัวไม่ได้รับความสำคัญเมื่อเทียบกับโครงการที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการลดก๊าซเรือนกระจก

ดร.ชาริกา เสนอว่า เพื่อก้าวข้ามกับดักเหล่านี้ รัฐบาลและภาคเอกชนควรบูรณาการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับการวางแผนการคลังและการเงินอย่างจริงจัง พร้อมกับสร้างระบบการเงินแบบลงขัน (blended financing) ที่ผสานเงินทุนจากหลายภาคส่วน และจัดตั้งกองทุนปรับตัว (Adaptation Fund) ที่มีรายได้จากภาษี เช่น ภาษีคาร์บอน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการที่จำเป็นและสำคัญต่อการปรับตัว ขณะเดียวกันจะต้องสร้างนวัตกรรมประกันภัยพิบัติ ที่มีคุณสมบัติให้ทุกคนเข้าถึงได้ สามารถจ่ายเงินชดเชยทันการณ์ และส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม เช่น ระบบประกันภัยแบบประกันดัชนี ซึ่งมีจุดเด่นที่หากค่าดัชนีถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ประกันก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้ทันทีไม่ต้องไปตรวจความเสียหาย เช่นประเทศเคนยาที่มีการประกันภัยแล้งปศุสัตว์ หากดัชนีภัยแล้งถึงเกณฑ์ เกษตรกรจะได้เงินประกันซื้ออาหารเลี้ยงสัตว์ โดยทุก 1 ดอลลาร์ของค่าประกัน ลดการตายของสัตว์ได้ 25 ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือการเงินอื่นๆ ทั้งการออกพันธบัตรภัยพิบัติ ที่เป็นตราสารหนี้เชื่อมโยงกับการประกันภัย จะช่วยให้ประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วและลดความเสี่ยงภาระการคลังระยะยาวในกรณีเกิดภัยพิบัติด้วย

ทั้งนี้ภายในงานสัมมนายังมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “เคลื่อนประเทศ ปรับไทยให้รอด ในยุคโลกเดือด” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน ฝ่ายนโยบาย และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บ.ป่าสาละ จำกัด มาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น โดยนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว The Standard เป็นผู้ดำเนินรายการ
หมายเหตุ : ดาวน์โหลดบทความวิชาการ และเอกสารประกอบการนำเสนอได้ที่เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ ได้ที่นี่