tdri logo
tdri logo
29 ตุลาคม 2024
Read in 5 Minutes

Views

สร้างเมืองใหม่ ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

สุเมธ องกิตติกุล

บทความในส่วนนี้ จะนำเสนอความสำคัญของการตั้งรับปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของเมืองในภาพรวม และชี้ให้เห็นถึงภัยจากสภาพภูมิอากาศที่เมืองในประเทศไทยกำลังประสบ ความท้าทายที่สำคัญของการตั้งรับปรับตัวของเมืองในไทย กรณีศึกษาที่น่าสนใจของเมืองในต่างประเทศ และสรุปแนวคิดและข้อเสนอแนะต่อการตั้งรับปรับตัวในอนาคตต่อไป

1.ความสำคัญของการตั้งรับปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เมือง

การตั้งถิ่นฐานของประชากรโลกในพื้นที่เมือง ทำให้เมืองนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของประชากรโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจมากกว่าพื้นที่ใด ๆ ในโลก ข้อมูลจาก World Bank (2023) ระบุว่า ในปัจจุบันประชากรราว 4.4 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 56 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเมือง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในปี ค.ศ. 2050 และกว่าร้อยละ 80 ของ GDP มาจากเขตเมือง แสดงให้เห็นว่าเมืองเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้หลายเมืองทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และจำเป็นต้องหาแนวทางในการตั้งรับปรับตัว

ในทำนองเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (2566) ได้อ้างอิงข้อมูลจาก International Labor Organization (ILO) พบว่าปัจจุบันสัดส่วนคนไทยมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมือง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับทั่วโลก ซึ่งเมืองในไทยก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ภัยจากความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง บางเมืองสามารถเจอภัยได้หลากหลายรูปแบบ เช่น กรุงเทพมหานคร ได้รับผลกระทบทั้ง 3 ภัย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 ถึง 2016 โดยเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban heat island) ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5.26 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับการขยายตัวของความเป็นเมือง (Khamchiangta & Dhakal, 2020)

อีกทั้งประสบปัญหาน้ำท่วมขังกว่า 737 จุด[1] และตลอด 40 ปีที่ผ่านมา พื้นที่กรุงเทพฯ ในเขตบางขุนเทียนถูกน้ำทะเลกัดเซาะไปกว่า 2,735 ไร่[2] ขณะที่ เชียงใหม่ เมืองหลักในภาคเหนือต้องเผชิญกับภัยร้อน จากการเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในพื้นที่เมือง ทำให้ตั้งแต่ปี 2557
ถึง 2564 อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.01 องศาเซลเซียส (ใจดี, 2566) และเผชิญกับภัยน้ำท่วมในปี 2567 คิดเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังประมาณ 3,504 ไร่[3] (จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดย GISTDA)

1.1 ภัยจากความร้อน

เมืองในประเทศไทยหลายเมืองกำลังเผชิญปรากฏการณ์เกาะความร้อน หรือโดมความร้อน ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิในพื้นที่เมืองสูงกว่าพื้นที่รอบนอกเมือง โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบเมือง การใช้วัสดุที่สะสมความร้อน และกิจกรรมของมนุษย์ทั้งความร้อนจากอาคารและยานยนต์ นอกจากกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ที่กล่าวไปข้างต้น ยังพบการเกิดเกาะความร้อนของจังหวัดในภาคตะวันออก

ทั้งนี้ ในปี 2549 ถึง 2560 เกิดการขยายตัวของเกาะความร้อนอย่างมากในภาคตะวันออก และมีแนวโน้มกระจายตัวมากขึ้น เนื่องจากภาคตะวันออกมีการพัฒนาของอุตสาหกรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินจากพื้นที่ว่างเปล่า และพื้นที่เกษตรกรรมให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัย มีอาคารสิ่งก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐานกระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาค โดยผลการศึกษาพบว่าพื้นที่เมือง และสิ่งปลูกสร้างมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิว ซึ่งตลอด 11 ปี การขยายตัวของเมืองส่งผลให้อุณหภูมิของเมืองในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 2.56 องศาเซลเซียส (สร้อยทอง, จันทร์ชิดฟ้า, ชายหาด, และ เพ่งพิศ, 2560)

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบว่าระหว่างปี 2561 และ 2567 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนในประเทศไทยเพิ่มจาก 18 คน เป็น 62 คน โดยกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ คนทำงานกลางแจ้ง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด แม้ว่าปัจจุบัน เมืองในประเทศไทยมีมาตรการบรรเทาปัญหาความร้อนด้วยการเก็บข้อมูลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบและกำหนดมาตรการช่วยเหลือ เช่น การเก็บข้อมูลกลุ่มเปราะบางในชุมชนจัดตั้งของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาจัดทำแผนที่กลุ่มเปราะบาง (Vulnerability Map) สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และกำหนดมาตรการช่วยเหลือ ทั้งการเฝ้าระวังผู้ป่วยจากความร้อน และการประชาสัมพันธ์การรับมือกับความร้อน แต่ยังไม่สามารถลดความร้อนในเมืองได้ เนื่องจากยังไม่มีแผนการลงทุนตั้งรับปรับตัวกับความร้อนในระยะยาว ที่คำนึงถึงการพัฒนาเมืองที่ช่วยลดความร้อนในเมือง เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการปรับปรุงอาคารตามเกณฑ์อาคารเขียว เป็นต้น

1.2 ภัยจากน้ำท่วม

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น และเกิดปรากฏการณ์ฝนตกแช่ หรือฝนตกหนักกะทันหัน (Cloudburst) ได้บ่อยครั้งขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังชั่วคราว และกระทบกับการเดินทางของคนเมือง สำหรับกรุงเทพมหานคร ฝนที่ตกในช่วงเวลาเร่งด่วน (16.00 – 18.00 น.)
สร้างความล่าช้าจากการเดินทางได้กว่า 2 พันชั่วโมงต่อวัน[4] ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากค่าเสียโอกาสที่เกิดจากปัญหาการจราจรติดขัด นอกจากนี้ ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นยังทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน อาคารสิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจได้

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของเมืองในประเทศไทยยังเน้นการลงทุนในสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก เช่น เขื่อน
คันกั้นน้ำ และระบบระบายน้ำ แต่ยังขาดการส่งเสริมมาตรการเชิงระบบนิเวศ การจัดการผังเมือง รวมถึงแผนและการลงทุนตั้งรับปรับตัว จึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวได้ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การตั้งรับปรับตัวกับน้ำท่วมของเทศบาลนครหาดใหญ่ โดยมีศูนย์วิจัยภัยพิบัติภาคใต้ ทำหน้าที่เป็น
‘โซ่ข้อกลาง’ เชื่อมข้อมูลระหว่างภาครัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และประชาชน

อีกทั้งมีการรวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในคลอง ตลอดจนบริหารจัดการน้ำ เพื่อวิเคราะห์และแจ้งเตือนน้ำท่วมล่วงหน้า 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม มาตรการในภาพรวมยังเป็นการบรรเทาปัญหาด้วยการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และยังไม่ยั่งยืนมากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านรูปแบบขององค์กร กล่าวคือ ศูนย์วิจัยฯ เป็นเพียงหน่วยงานภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ไม่มีฐานะขององค์กรอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ ระบบจัดการน้ำในพื้นที่ก็ยังใช้มาตรฐานจากภาครัฐส่วนกลาง ขาดการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ท้องถิ่น รวมถึงขาดงบประมาณในการลงทุนสำหรับการให้เมืองปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

1.3 ภัยจากน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเล 3,151.13 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด โดยแบ่งเป็นชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย 2,039.78 กิโลเมตร และชายฝั่งอันดามัน 1,111.35 กิโลเมตร จากการเปลี่ยนแปลง
สภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุที่รุนแรง เมื่อผนวกกับการกัดเซาะชายฝั่งจากกระแสคลื่นและลมตามธรรมชาติ ทำให้ประเทศไทยประสบกับภาวะน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยร้อยละ 26 ของชายฝั่งมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและบางพื้นที่มีการกัดเซาะรุนแรง ส่งผลให้ตลอด 30 ปี ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งราว 100,000 ไร่[5] ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจ ดังกรณีชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

หน่วยงานภาครัฐส่วนกลางและภาครัฐส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยมีการรับมือและพยายามแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีการบูรณาการการทำงานผ่านคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด รวมถึงมาตรการสิ่งก่อสร้างเชิงวิศวกรรม เช่น เขื่อน กำแพงกันคลื่น แต่การเน้นเพียงโครงสร้างถาวรไม่สามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเสียหายและเพิ่มการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ข้างเคียงเพิ่มขึ้น จึงเห็นได้ว่าการดำเนินโครงการโดยไม่พิจารณาทั้งระบบนิเวศชายฝั่ง ทำให้สิ่งก่อสร้างในบริเวณหนึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อการกัดเซาะในพื้นที่ใกล้เคียง โดยพบตัวอย่างของชายฝั่งที่มีสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้นหลังมีโครงการก่อสร้าง เช่น บริเวณหาดแสงจันทร์ จังหวัดระยอง และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง จังหวัดนครศรีธรรมราช

อีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อตั้งรับปรับตัวกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้น แม้จะผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงิน (Feasibility study) และการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Impact Assessment: EIA หรือ Environmental Health Impact Assessment: EHIA) แล้ว แต่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าจะได้โครงการที่คุ้มค่าและให้ประโยชน์สูงสุดได้ เนื่องจากกระบวนการศึกษาเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดด้านข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วนรอบด้าน ทำให้การประเมินไม่แม่นยำ อีกทั้งยังมีปัญหาด้านความเป็นอิสระของหน่วยงานผู้ประเมินโครงการ โดยผู้รับทำรายงานที่มักมีสถานะเป็นลูกจ้าง มีแนวโน้มจะจัดทำการประเมินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ว่าจ้าง กล่าวคือมีการประมาณการณ์ผลประโยชน์สูงเกินจริงและต้นทุนต่ำเกินจริง และพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่ำเกินจริง จากข้อมูลของ The 1O1 World (2566) พบว่า โครงการประเมิน EIA และ EHIA ในอดีตของประเทศไทยมีแนวโน้มผ่านร้อยละ 100 ทั้งยังขาดกลไกตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขในรายงาน EIA/EHIA และพบว่าระดับของกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนยังไม่มากพออีกด้วย

2.กรณีศึกษา การตั้งรับปรับตัวของเมืองในต่างประเทศ

การตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศของเมืองในต่างประเทศมีแนวคิดการผสมผสานโครงสร้างพื้นฐาน 4 มาตรการ ประกอบด้วย

  • Grey infrastructure: โครงสร้างพื้นฐานที่เกิดจากระบบวิศวกรรมก่อสร้าง เช่น อาคารที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบอุโมงค์ส่งน้ำ กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด
  • Green infrastructure: โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นพื้นที่สีเขียวตลอดจนองค์ประกอบสีเขียวต่าง ๆ เช่น พื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้า สวนฝนและสวนเพื่อการดูดซับน้ำ ระบบนิเวศป่าชายเลน
  • Blue Infrastructure: โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้องค์ประกอบทางน้ำ เช่น สระรับน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ เมืองฟองน้ำ (Sponge city)
  • White Measurement: การกำหนดพื้นที่ถอยร่น ลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของทรัพย์สิน

ทั้งนี้ แนวโน้มของการใช้โครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและฟ้า รวมทั้งมาตรการขาว เป็นที่แพร่หลาย
มากขึ้นในต่างประเทศ การผสมผสานโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการเหล่านี้จำเป็นต้องคำนึงถึง
การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การใช้องค์ความรู้ของท้องถิ่น กระบวนการมีส่วนร่วมและการปรับพฤติกรรมของคนในพื้นที่ร่วมด้วย โครงสร้างพื้นฐาน มาตรการ และแนวคิดเหล่านี้ สามารถปรับใช้กับการตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งภัยจากความร้อน น้ำท่วม และการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเมืองต่าง ๆ ตามบริบททางภูมิศาสตร์และลักษณะเฉพาะของเมืองที่แตกต่างกัน

2.1 ภัยจากความร้อน

เมืองต่าง ๆ ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ ได้เผชิญกับความท้าทายจากภัยร้อนในระดับที่แตกต่างกัน นำไปสู่การพัฒนามาตรการที่เป็นรูปธรรมในการรับมือตามบริบทของตนเอง

เมืองในแอริโซนา บรรเทาภัยร้อนให้กลุ่มเปราะบาง

เมืองในรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา มักเผชิญกับภาวะอุณหภูมิสูง (เกิน 100°F หรือ 38°C) อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยร้อนเฉลี่ยมากกว่า 200 รายต่อปี และในปี ค.ศ. 2022 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงกว่า 500 ราย[6] ทั้งนี้ กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงคือเด็ก ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และคนไร้บ้าน ที่เข้าไม่ถึงเครื่องปรับอากาศ เช่น ในเขตเมืองฟีนิกซ์ที่มีจำนวนคนไร้บ้านสูง พบผู้เสียชีวิตจากภาวะดังกล่าวที่เป็นคนไร้บ้านมากถึง 178 ราย[7]

รัฐบาลท้องถิ่นในระดับรัฐและเมืองได้มีการแก้ปัญหาภัยร้อนด้วยการระดมทุนรับมือปัญหาภาวะอากาศร้อนรุนแรง (extreme heat) ที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยจัดตั้งศูนย์หลบร้อน (cooling center) ศูนย์พักพิงชั่วคราว (respite center) และกำหนดจุดบริการน้ำดื่ม (water station) ตามความเสี่ยงภัยความร้อนของพื้นที่ อีกทั้งการสร้างเครือข่าย Heat Relief Network (HRN) ที่มีภาควิชาการและประชาชนร่วมด้วย โดยมีการศึกษาเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงนโยบายพื้นที่หลบร้อน ให้กลุ่มเปราะบางใช้งานได้จริง รวมถึงการวิเคราะห์ติดตามข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ปรับมาตรการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงของกลุ่มเปราะบางพัฒนาระบบเตือนภัย ตลอดจนการพัฒนากลไกใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

กรุงลอนดอน ลดภัยร้อนด้วยอาคารเขียว

คลื่นความร้อน (heat wave) ที่แผ่ขยายไปทั่วยุโรป ส่งผลให้อุณหภูมิเมืองสูงขึ้นและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2023 มีการคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยความร้อนประมาณ 2,295 ราย[8] โดยเฉพาะในเดือนกันยายน สหราชอาณาจักรได้เผชิญคลื่นความร้อนถึง 11 วัน มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 934 ราย เฉลี่ย 85 รายต่อวัน ซึ่งนับเป็นช่วงที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดในปี ค.ศ. 2023 พบใน ภาคกลางฝั่งตะวันตก (West Midlands) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast) กรุงลอนดอน (London) และภาคตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest) และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอัตราการเสียชีวิตสูง

จากปัญหาคลื่นความร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ลอนดอนมีการรับมือภัยจากความร้อนผ่านการใช้มาตรการสีเขียว (Green infrastructure) และส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการตั้งรับปรับตัว
The Greater London Authority (GLA) ร่วมมือกับภาคเอกชน (Business Improvement Districts) ออกมาตรการสนับสนุนการปรับปรุงอาคารเป็นอาคารสีเขียว (Retrofit) โดยมีแนวทางในการปรับอาคารสีเขียว ตั้งแต่การใช้แผนที่ความเสี่ยง (Risk map) กำหนดพื้นที่ปรับอาคาร (เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล บ้านพักคนชรา) ประกอบกับสร้างความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐบาลท้องถิ่น เจ้าของอาคาร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อจัดทำโครงการนำร่องสำหรับพัฒนาความพร้อมของมาตรการ ตลอดจนสนับสนุน Green Audit ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญให้ภาคเอกชนร่วมพัฒนาอาคาร และโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในเขตของตน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง

สิงคโปร์ วางกลยุทธ์ลดร้อน แก้ครบวงจร

หากพิจารณาจากลักษณะที่ตั้งและภูมิประเทศของประเทศสิงคโปร์  ซึ่งอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเพียง 137 กิโลเมตร ส่งผลให้มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี รวมทั้งได้รับผลกระทบจากปัญหาปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการเพิ่มจำนวนป่าคอนกรีตบริเวณใจกลางเมืองทำให้อุณหภูมิในตัวเมืองสิงคโปร์สูงกว่านอกเมืองถึง 7 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก1.4 – 4.6 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ. 2100 (วรรณศิริกุล, 2565)

ในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลมีการรับมือภัยร้อนอย่างครบวงจร ตัวอย่างของมาตรการเช่น การใช้นวัตกรรมติดตั้งระบบเดินน้ำผ่านท่อเข้าอาคาร การปรับปรุงระบบปรับอากาศผ่านการปรับลดการใช้เครื่องปรับอากาศที่ปล่อยความร้อน การใช้ระบบทำความเย็นบนหลังคา การควบคุมการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล เช่น รถยนต์และรถจักรยานยนต์ การควบคุมความสูงของอาคาร โดยคำนึงถึงการถ่ายเทของลม ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่เปิดโล่งสีเขียว เช่น Marina Bay และ Garden by the Bay

2.2 ภัยจากน้ำท่วม

หลายปีที่ผ่านมา ภัยจากน้ำท่วมกลายเป็นปัญหาสำคัญที่หลายเมืองทั่วโลกกำลังเผชิญ อันเป็นผล
มาจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน
ที่เพิ่มขึ้นและความรุนแรงของพายุที่มีความถี่มากขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมได้บ่อยครั้ง และกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หลายเมืองได้มีการมาตรการจัดการน้ำภายในเมืองเพื่อลดความเสี่ยงและสร้างความยืดหยุ่นให้เมืองในการตั้งรับปรับตัว โดยมีกรณีศึกษาของเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีแนวทางและมาตรการในการตั้งรับปรับตัวจากภัยน้ำท่วมได้อย่างประสิทธิภาพและยั่งยืน

โคเปนเฮเกน แก้น้ำท่วม ใช้แนวคิด Green และ Grey

โคเปนเฮเกนเป็นตัวอย่างของเมืองที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ฝนตกหนัก
และทวีความรุนแรง ส่งผลให้โคเปนเฮเกนเกิดน้ำท่วมในเมืองบ่อยครั้ง ในปี ค.ศ. 2011 โคเปนเฮเกนเกิดเหตุการณ์ Cloudburst หรือการเกิดฝนตกอย่างหนักในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งปริมาณน้ำฝนสูงถึง 150 มิลลิเมตร ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความเสียหายกว่า 1,000 ล้านยูโร[9] และกล่าวได้ว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายสูงสุดของยุโรปในปีนั้น

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โคเปนเฮเกนมีการตั้งรับปรับตัวกับภัยน้ำท่วม เกิดแผน Cloudburst Management Plan แผนรับมือภัยพิบัติที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยมีแนวคิดผสมผสานระหว่างมาตรการสีเขียว (Green infrastructure)  และมาตรการสีเทา (Grey infrastructure) โดยมาตรการปรับตัวภายใต้แนวคิด “การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง” เพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างการยอมรับของประชาชน มีการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อรองรับปริมาณน้ำในช่วงที่มีฝนตก สามารถระบายน้ำฝนได้อย่างรวดเร็ว และทำหน้าที่เป็นสวนสาธารณะในช่วงที่ไม่มีน้ำ ควบคู่กับการสร้างระบบอุโมงค์ยักษ์ใต้ดิน เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน และเพิ่มศักยภาพของระบบท่อระบายน้ำฝนที่แยกต่างหากจากท่อระบายน้ำทิ้ง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวคิดในการจัดสรรงบประมาณ โดยผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายระดับชาติ เพื่อให้สามารถใช้รายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้น้ำรวมกับการจัดหาเงินทุนของภาคเอกชน และรายได้จากภาษีสำหรับการลงทุนในระบบการจัดการน้ำ

จีนสร้างพื้นที่รับน้ำ ปรับตัวด้วย Green Blue และ Grey

การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วในประเทศจีน ทำให้พื้นที่ธรรมชาติถูกทดแทนด้วยอาคารสิ่งก่อสร้าง และถนน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ทำให้พายุมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เมืองใหญ่ในประเทศจีนประสบภัยน้ำท่วมบ่อยครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ถึง 2014 ประเทศจีนประสบภัยน้ำท่วมถึง 15 ครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จากข้อมูลทางสถิติ พบว่าภัยน้ำท่วมสร้างความเสียหายกว่าร้อยละ 1 ของ GDP[10] และมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศจีนมีการรับมือภัยน้ำท่วมผ่านการใช้มาตรการเมืองฟองน้ำ (Sponge City) ในหลายเมือง
โดยมาตรการเมืองฟองน้ำเป็นแนวคิดการผสมผสานระหว่างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructure)  โครงสร้างพื้นฐานสีฟ้า (Blue Infrastructure) และมาตรการสีเทา (Grey infrastructure) โดยใช้พื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับน้ำฝนและช่วยในการกรองมลพิษในแหล่งน้ำ บ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำฝนชั่วคราว และพื้นผิวถนนที่ออกแบบให้สามารถซึมน้ำได้ และช่วยลดการไหลบ่าของน้ำ ตัวอย่างเมืองที่ประสบความสำเร็จในการใช้แนวคิดนี้ คือเมืองฟองน้ำในพื้นที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) ที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 4,000 ล้านหยวน (509 ล้านยูโร) เมื่อเทียบกับมาตรการทั่วไปในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน[11]

โครงการ “เมืองฟองน้ำ” ของจีนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืนและ
เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ธรรมชาติมาผสมผสานกับวิศวกรรมในการจัดการน้ำฝนและน้ำท่วม
ซึ่งไม่เพียงช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้วย

2.3 ภัยจากน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลได้กลายเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศชายฝั่ง แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ กรณีศึกษาประเทศเนเธอร์แลนด์ และกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
เป็นตัวอย่างสำคัญของเมืองที่เผชิญกับปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมีการรับมือด้วยมาตรการเน้นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี นวัตกรรม ประกอบกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดจนการถอยร่นย้ายสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เนเธอร์แลนด์ แก้กัดเซาะชายฝั่ง ด้วยนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม

ประเทศเนเธอร์แลนด์เผชิญกับปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้ง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล อีกทั้งพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้เป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำ Rhine Meuse และ Scheldt ในปี ค.ศ. 1953 เนเธอร์แลนด์เผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ หรือ North Sea Flood ซึ่งเกิดจากการยกตัวสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลจากอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อน (Storm surge) ประกอบกับเป็นช่วงเวลาการเกิด Spring tide ตำแหน่งของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้เขื่อนพังทลายและมวลน้ำได้เข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว การเกิดอุทกภัยในครั้งนี้คร่าชีวิตประชาชนไปถึง 1,835 ราย บ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 43,000 หลัง พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมประมาณ 1,355,005 ไร่ พื้นที่ประมาณร้อยละ 9 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 5 ของ GDP (Orr, Stodghill, & Candu, 2007)

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประชาชนและรัฐบาลได้ถอดบทเรียนและให้ความสำคัญด้านระบบ
การจัดการน้ำด้วยการร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta Commission) และริเริ่มโครงการ Delta Works โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบจัดการน้ำของประเทศ ประกอบด้วย เขื่อน กำแพงกันคลื่น คันกั้นน้ำ และประตูระบายน้ำ รวมทั้งสิ้น 13 โครงการ อีกทั้งมีการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ตัวอย่างเช่น การก่อสร้างประตูกั้นน้ำ Eastern Scheldt ได้หยุดชะงัก เนื่องจากการคัดค้านของประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเดิมบริเวณปากแม่น้ำ Scheldt เป็นน้ำกร่อย และเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ ซึ่งการสร้างเขื่อนจะทำให้น้ำในบริเวณกลายเป็นน้ำจืด จึงมีการปรับรูปแบบจากเขื่อนเป็นประตูกั้นน้ำแบบเปิดปิดเพื่อให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ จำนวน 62 ช่อง แต่ละช่องกว้าง 40 เมตร โดยประตูกั้นน้ำจะเปิดเพื่อรักษากระแสน้ำ แต่จะปิดเมื่อเกิดพายุหรือน้ำทะเลหนุนสูง และ Maeslant Barrier กำแพงป้องกันคลื่นและน้ำทะเลหนุนด้วยระบบเทคโนโลยี Super Computer จากการประกวดออกแบบของผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ แม้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 แต่รัฐบาลยังคงติดตามประสิทธิผลของโครงการ และพัฒนาการจัดการน้ำเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต

กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย กับมาตรการ Green และ White ทางออกใหม่ที่ยั่งยืนกว่า

กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเมืองที่ตั้งรับปรับตัวกับภัยจากการ
กัดเซาะชายฝั่งด้วยมาตรการผสมผสาน โดยหากพิจารณาจากลักษณะที่ตั้งและภูมิประเทศของจาการ์ตาจะพบว่า เมืองหลวงแห่งนี้มีความเสี่ยงต่อการน้ำทะเลกัดเซาะ การทรุดตัวของเมือง และปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องด้วยจาการ์ตาตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มชายฝั่งที่มีแม่น้ำกว่า 13 สายไหลผ่าน และกว่าร้อยละ 40 ของเมืองอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล อย่างไรก็ตาม พื้นที่รับน้ำและแนวป่าชายเลนเดิมของเมืองกลับเสื่อมโทรม จากการบุกรุกตั้งที่อยู่อาศัยของประชาชน ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ น้ำท่วม และการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงเป็นวงกว้างในพื้นที่ชายฝั่งทางตอนเหนือของเมือง

แม้การย้ายเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียจะเกิดขึ้นแล้ว แต่กรุงจาการ์ตายังคงมีแผนการ
ตั้งรับปรับตัวกับภัยจากการกัดเซาะชายฝั่ง ผ่านแผน Jakarta Water Management Plan for 2030 ซึ่งเป็นการวางแผนการจัดการน้ำและการกัดเซาะของกรุงจาการ์ตาในทุกมิติ ตัวอย่างของโครงการเช่น Pluit Reservoir  Revitalization Project ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพื้นที่รับน้ำริมชายฝั่งตอนเหนือของกรุงจาการ์ตา ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยมีการสื่อสารถึงความจำเป็นในการย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่เสี่ยง และเริ่มย้ายที่อยู่อาศัยของประชาชนราว 15,000 หลังคาเรือนออกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 โดยประชาชนจะได้ไปอยู่ในที่พักถาวรที่รัฐบาลจัดไว้ให้ พร้อมมีความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในการจัดหาสิ่งของจำเป็นให้ประชาชนที่ยากไร้

อีกหนึ่งโครงการคือการฟื้นฟูระบบป่าชายเลน Muara Angke Wildlife Refuge โดยมีการจัดการขยะ การไหลของน้ำ และปลูกพันธุ์พืชเพิ่มเติมในพื้นที่ ภาพรวมของโครงการทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตามีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งลดลง อีกทั้งลดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ปัญหามลภาวะทางน้ำ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง และเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศชายฝั่ง นับว่าเป็นมาตรการที่สร้างประโยชน์ร่วมได้อย่างยั่งยืน

3.สรุปแนวคิดการตั้งรับปรับตัว

จากการทบทวนกรณีศึกษาต่างประเทศในการตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่ก่อให้เกิดภัยจากความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง สามารถสรุปมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละภัยได้ ดังนี้

ภัยจากความร้อนภัยจากน้ำท่วมภัยจากน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง
-เพิ่มพื้นที่สีเขียว
-จำกัดการใช้รถยนต์
-ปรับปรุงระบบปรับอากาศและอาคารสีเขียว
-เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่ม -ประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ -สร้างเมืองฟองน้ำ-ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนและชายหาด
-ใช้มาตรการเชิงวิศวกรรมที่เน้นนวัตกรรม และการมีส่วนร่วม
-การถอยร่นและโยกย้าย
สิ่งปลูกสร้าง

แนวทางเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการผสมผสานระหว่างโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการโดยการรับมือกับภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ควรพึ่งพาเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเชิงวิศวกรรมก่อสร้าง หรือโครงสร้างพื้นฐานสีเทาเพียงเท่านั้น แต่ควรบูรณาการเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่เน้นการเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานสีฟ้าที่มีระบบจัดการน้ำ และมาตรการสีขาวที่ให้ความสำคัญในการถอยร่นและโยกย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และใช้นวัตกรรมมาสนองตอบความต้องการที่หลากหลาย ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า มาตรการที่เหมาะสมคือ มาตรการที่สร้างประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ซึ่งหมายถึง สามารถสร้างผลลัพธ์ที่หลากหลายกับเมืองได้มากกว่าเพียงการแก้ปัญหาหนึ่งอย่าง

จากแนวคิดของกรณีศึกษาต่างประเทศที่กล่าวไปข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าแนวทางที่นำไปสู่การตั้งรับปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ มาจากความเข้าใจ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

  • เข้าใจภัยธรรมชาติ คือการตระหนักถึงลักษณะภูมิประเทศและภัยพิบัติที่เมืองเผชิญ พร้อมทั้งศึกษาบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เกาะความร้อน พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรือ
    การกัดเซาะชายฝั่ง ตลอดจนประเมินระดับความเสี่ยงที่ประชาชนและทรัพย์สินอาจได้รับผลกระทบเพื่อวางแผนป้องกันและรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เข้าใจความเปราะบาง คือการระบุและจำแนกกลุ่มประชากรที่เปราะบางอย่างชัดเจน และประเมินความเสี่ยงที่กลุ่มเปราะบางต้องเผชิญ เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการช่วยเหลือ
    ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และตอบสนองต่อความต้องการได้
  • เข้าใจความสามารถในการปรับตัวของเมือง คือการประเมินศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในการรับมือกับภัยพิบัติ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาครัฐส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาควิชาการ ไปจนถึงภาคประชาชน อีกทั้งยังต้องมีกลไกและนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองในระยะยาว และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถปรับตัว
    ต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อมีความเข้าใจทั้ง 3 ด้านแล้วจะสามารถนำไปสู่การวางแผน การประเมิน และการลงทุนเพื่อปรับให้เมืองสามารถอยู่รอดโดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

การวางแผนการประเมินการลงทุน
-ระบุปัญหา พร้อมทั้งกำหนดกลุ่มประชากรและทรัพย์สินที่มีความเสี่ยง เพื่อจัดลำดับความสำคัญของมาตรการป้องกันและปรับตัว
-วางแผนตั้งรับปรับตัวในระยะยาว โดยคำนึงถึงภาพรวมและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
-จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงิน (Feasibility study) และการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA หรือ Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ที่พิจารณาผลกระทบในภาพใหญ่มากกว่าระดับโครงการ ใช้ข้อมูลและโมเดลประกอบการตัดสินใจโครงการ-
-ดำเนินมาตรการตั้งรับปรับตัวที่คุ้มค่าและมีประโยชน์ร่วม
-ภาครัฐเพิ่มการลงทุนในมาตรการตั้งรับปรับตัว
-ส่งเสริมการร่วมลงทุนของภาคเอกชนในมาตรการตั้งรับปรับตัว

4.ข้อเสนอแนะ

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การตั้งรับปรับตัวและการบริหารจัดการความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาครัฐส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาควิชาการ ตลอดจนภาคประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

1.ประเมินและลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเทา สีเขียว และสีฟ้า ในระดับแผนงาน ซึ่งเน้นการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านและเป็นภาพใหญ่มากกว่าระดับโครงการ รวมทั้งมุ่งเน้น
การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการดำเนินการ

2.เปลี่ยนพื้นที่รกร้างในเมือง เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ชุ่มน้ำ ด้วยมาตรการจูงใจทางภาษี เช่น
การปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับที่ดินที่มีการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว
พื้นที่รับน้ำ (ไม่ตีความเป็นพื้นที่รกร้าง ซึ่งเสียภาษีในอัตราที่สูง)

3.ส่งเสริมการปรับปรุงอาคารเก่าในเมืองให้เข้าเกณฑ์อาคารเขียว โดยเริ่มต้นจากอาคารของภาครัฐ

4.จำกัดการพัฒนาใหม่ ๆ และย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วม
และการชดเชยที่เป็นธรรม

การผสมผสานมาตรการเหล่านี้จะช่วยสร้างเมืองที่ยืดหยุ่น และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อประเทศไทยในระยะยาว

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอเนื้อหาภายในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567


[1] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

[2] สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร (2566)

[3] รายงานการติดตามสถานการณ์น้ำปี 2567 ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ วันที่ 10 ตุลาคม 2567 เวลา 06.17 น. โดย GISTDA

[4] คำนวณความล่าช้าจากการเดินทางบริเวณ 16 แยกในเขตกรุงเทพมหานคร บนสมมติฐานที่ฝนตก 10 มม./ชม. ในช่วงเวลาเร่งด่วน 16.00 – 18.00 น.

[5] กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2564)

[6] Arizona Department of Health Services (2021)

[7] 2022 Heat Deaths Report, Maricopa County, Department of Public Health, Division of Epidemiology and Informatics

[8] Heat mortality monitoring report: 2023, Government United Kingdom

[9] The C40 Cities Climate Leadership Group. (2016). GOOD PRACTICE GUIDE: Climate Change Adaptation in Delta Cities. Available at: https://www.c40.org/wp-content/uploads/2022/02/C40-Good-Practice-Guide-Climate-Change-Adaptation-in-Delta-Cities.pdf

[10] Kobayashi, Y. and Porter, J., 2012. Flood risk management in the People’s Republic of China, learning to live with flood risk. Asian Development Bank, Mandaluyong, the Philippines. Available at: https://www.adb.org/sites/default/files/publication/29717/flood-riskmanagement-prc.pdf.

[11] Peng, Y., & Reilly, K. (2021). Using nature to reshape cities and live with water:  an overview of the Chinese Sponge City programme and its implementation in Wuhan

อ้างอิง

กรมควบคุมโรค. (1 เมษายน 2567). โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ภัยร้ายช่วงหน้าร้อน เดือนเมษายิ่งต้องระวัง! https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1550220240401042942.pdf

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2565). รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ. 2565.

จิรวัฒน์ ภู่งาม, ธีรพัฒน์ เขื่อนปัญญา, และ ธวัชชัย ยาวินัง (2560). Urbanization การขยายตัวของเมืองในภูมิภาค. Regional Letter แบ่งปันความรู้สู่ภูมิภาค. https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/th/research-and-publications/article/regional/2023/2566_RL_10_URBANIZATION.pdf

เจษรินทร์ ใจดี. (2566). การวิเคราะห์อุณหภูมิพื้นผิวจากข้อมูลดาวเทียม Landsat-8 และพิจารณาการประมาณค่าเชิงพื้นที่ของอุณหภูมิแบบ IDW และ Kriging กรณีศึกษา: จังหวัดเชียงใหม่.

พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์. (2566). EIA EHIA! เสือกระดาษแห่งวงการสิ่งแวดล้อมไทย. The 101 World. https://www.the101.world/environmental-impact-assessment-obstacle/

ภัทราพร สร้อยทอง, กรรณิการ์ จันทร์ชิดฟ้า, สุชาติ ชายหาด, และ นราธิป เพ่งพิศ. (2560). การวิเคราะห์ปรากฏการณ์เกาะความร้อนและก๊าซเรือนกระจกในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก.

มณิสร วรรณศิริกุล. (2565). District Cooling System ทางออกการลดอุณหภูมิแบบรักษ์โลกของสิงคโปร์. https://urbancreature.co/district-cooling-system-in-singapore/

สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร. (27 พฤศจิกายน 2566). ถึงเวลาต้องเอาจริงแก้ปัญหา แผ่นดินหายชายฝั่งบางขุนเทียน. https://pr-bangkok.com/?p=229461

Arizona Department of Health Services. (2021). Operating Cooling Centers in Arizona Under COVID-19 and Record Heat Conditions: Lessons Learned from Summer 2020.

Berisha, V., Hondula, D., Roach, M., White, J. R., Mckinney, B., Bentz, D., . . . Goodin, K. (2017). Assessing Adaptation Strategies for Extreme Heat: A Public Health Evaluation of Cooling Centers in Maricopa County, Arizona.

Chaiwat Sowcharoensuk. (13 กันยายน 2567). อุทกภัยปี 2567: ความเสี่ยงและผลกระทบ. Krungsri Research: https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/flood-impact-2024

Department of Public Health. (2023). 2022 Heat Deaths Report.

GISTDA. (10 ตุลาคม 2567). รายงานการติดตามสถานการณ์น้ำปี 2567 ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ วันที่ 10 ตุลาคม 2567 เวลา 06.17 น.

Government United Kingdom. (2024). Heat mortality monitoring report: 2023. Available at: https://www.gov.uk/government/publications/heat-mortality-monitoring-reports/heat-mortality-monitoring-report-2023

Khamchiangta, D., & Dhakal, S. (2020). Time series analysis of land use and land cover changes related to urban heat island intensity: Case of Bangkok Metropolitan Area in Thailand. Journal of Urban Management, 383-395.

Kobayashi, Y. and Porter, J., 2012. Flood risk management in the People’s Republic of China, learning to live with flood risk. Asian Development Bank, Mandaluyong, the Philippines. Available at: https://www.adb.org/sites/default/files/publication/29717/flood-riskmanagement-prc.pdf.

Konservasi Alam Nusantara. (2024). Essential Notes on Mangrove Ecosystem Restoration in the Muara Angke Wildlife Sanctuary, 2018-2023 Period. Available at: https://www.ykan.or.id/en/publications/articles/perspectives/mangrove-ecosystem-restoration-in-the-muara-angke-wildlife-sanctuary/

Peng, Y., & Reilly, K. (2021). Using Nature to Reshape Cities and Live with Water: An Overview of the Chinese Sponge City Programme and Its Implementation in Wuhan.

The C40 Cities Climate Leadership Group. (2016). GOOD PRACTICE GUIDE: Climate Change Adaptation in Delta Cities. Available at: https://www.c40.org/wp-content/uploads/2022/02/C40-Good-Practice-Guide-Climate-Change-Adaptation-in-Delta-Cities.pdf

Urban Sustainability Exchange. (n.d.). Pluit Reservoir Revitalization Project. Available at: https://use.metropolis.org/case-studies/the-pluit-reservoir-revitalization-project#casestudydetail

World Bank. (2023). Urban Development. Available at: https://www.worldbank.org/en/topic/urbandevelopment/overview#1

Zahra Hirji. (2024). Operating the perfect cooling center is harder than it looks. The Economic Times: https://economictimes.indiatimes.com/small-biz/sustainability/operating-the-perfect-cooling-center-is-harder-than-it-looks/articleshow/112539914.cms#google_vignette.

นักวิจัย

ดร. สุเมธ องกิตติกุล
รองประธานสถาบัน ดูแลงานด้านการบริหารระบบงานภายใน / ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด