งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมหมากของไทยสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการปลูกหมากและอุตสาหกรรมหมากของไทย เพื่อพัฒนาหมากและผลิตภัณฑ์ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรไทย
หมากเป็นพืชที่ยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากในระดับโลก เพราะถึงแม้คนไทยจะบริโภคหมากลดลงมาก แต่หมากก็ยังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ ทั้งการผลิตและการบริโภคยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาหมากในตลาดที่สำคัญของโลกและราคาส่งออกหมากของไทยในทศวรรษเศษที่ผ่านมายังค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับพืชยืนต้นอื่นที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยอย่างยางพาราและปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันไทยยังมีการปลูกหมากในทุกภาค แต่ปลูกมากที่สุดในภาคใต้ซึ่งเกษตรกรมักปลูกหมากแซมพืชอื่นอย่างยางพาราและผลไม้ต่างๆ เกษตรกรที่ปลูกหมากแซมสวนยางมีโอกาสเพิ่มรายได้จากการทำหมากแห้งในฤดูแล้งที่มักเป็นช่วงพักการกรีดยาง ซึ่งสามารถช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ได้ด้วย
คณะผู้วิจัยพบอุปสรรคที่สำคัญหลายประการในการผลิตและค้าหมากของไทย เช่น ภาครัฐขาดความรู้เกี่ยวกับหมากที่ต่อเนื่องและลึกซึ้ง ทำให้รัฐมีบทบาทที่จำกัดทั้งในด้านการวิจัยพัฒนาหมากของไทยและในการเจรจาการค้ากับประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญอย่างอินเดียและจีน ซึ่งต่างก็เป็นตลาดที่รัฐเข้ามาแทรกแซงอย่างมาก โดยอินเดียมีมาตรการปกป้องเกษตรกรที่เข้มข้นมาก ในขณะที่จีนก็ยังมีนโยบายเกี่ยวกับหมากที่ไม่ชัดเจน การที่ไทยยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าหมากกับประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างอินเดียทำให้ที่ผ่านมาไทยมีปัญหาในการส่งออกไปอินเดียโดยตรง และต้องพึ่งการส่งออกผ่านเมียนมาไปอินเดีย และผ่านเวียดนามไปจีน การที่ต้องพึ่งพาผู้นำเข้าต่างชาติเป็นหลักทำให้การส่งออกหมากของไทยมีความเสี่ยงสูง หรือกระทั่งส่งออกแทบไม่ได้ในบางช่วง นอกจากนี้ ไทยยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตและแปรรูปหมากในประเทศในระดับที่สูงกว่าการแปรรูปขั้นต้น ทำให้การส่งออกหมากของไทยยังต้องส่งออกในรูปสินค้าขั้นต้นเป็นหลัก
การศึกษาวิจัยนี้พบว่าหมากยังมีศักยภาพในการเป็นแหล่งรายได้เสริมให้แก่ทั้งเกษตรกรและธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็มีความท้าทายที่สำคัญหลายประการ เช่น การส่งออกและการเจรจาการค้ากับประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในปัจจุบัน การหาลู่ทางการส่งออกไปตลาดใหม่ๆ การเพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์ และการอุดช่องว่างของการกำกับดูแล
ในส่วนนี้คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอเชิงนโยบายโดยมีเป้าหมายหลัก 4 ข้อคือ (1) ไทยควรเร่งเจรจาทางการค้าและร่วมมือกับประเทศผู้นำเข้าหมากที่สำคัญโดยเฉพาะอินเดียและจีน(2) ไทยควรหาลู่ทางการส่งออกไปตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและตะวันออกกลางที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานและการอพยพจากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปมากขึ้น (3) ไทยควรส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่ออุดช่องว่างด้านความรู้และระบบข้อมูลหมากของประเทศ และส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีในการแปรรูปหมากเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และสารสกัดจากหมากที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารและยา และ (4) ภาครัฐของไทยควรยกระดับการกำกับดูแลระบบตลาดและมาตรฐานสินค้าหมากเพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย