Brief : STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) งานที่เกี่ยวข้องใน 4 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้
ทักษะแห่งทศวรรษมาแรง ตลาดงานด้าน STEM คึกคัก เปิดรับสมัครกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง ไม่กระจุกตัวในเมืองหลวงเหมือนงานอื่น แต่กระจายในจังหวัดเขตอุตสาหกรรม
ทีม Big Data สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดผลวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงาน และทักษะของแรงงานที่นายจ้างต้องการใน “โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงฯ” โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาระบบจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นในตลาดแรงงานไทย โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยประมวลผลข้อมูลจากประกาศรับสมัครงานออนไลน์อย่างแม่นยำ เพื่อนำผลลัพธ์ไปใช้พัฒนาบุคลากรให้พร้อมสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการประมวลผลข้อมูลประกาศรับสมัครงานออนไลน์ทั้งหมด 23 เว็บไซต์รับสมัครงานออนไลน์ ในไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน) ปี 2567 พบประกาศรับสมัครงานทั้งสิ้น 227,269 ตำแหน่งงาน และทีมวิจัยได้มุ่งเน้นการวิเคราะห์ไปที่กลุ่มอาชีพที่มีความต้องการทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ของประเทศ
ข้อมูลกลุ่มอาชีพ STEM ที่นำเสนอในหัวข้อนี้ เป็นข้อมูลที่มีการจัดกลุ่มโดยอ้างอิงจากฐานข้อมูล O*NET ของกระทรวงแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีการปรับให้เหมาะสมกับบริบทไทย โดยตัดอาชีพในสาขาสังคมศาสตร์และสถาปัตยกรรมออก และไม่นับตำแหน่งที่ต้องการวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า เพื่อให้การวิเคราะห์สอดคล้องกับทักษะขั้นสูงในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ สามารถดูข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติมได้ในภาคผนวก
10 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ต้องการกลุ่มอาชีพ STEM มากที่สุด
จากการวิเคราะห์ประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอาชีพที่ต้องการทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) พบประกาศงานทั้งหมด 37,417 ตำแหน่ง ซึ่งคิดเป็น 16.5% ของตำแหน่งงานที่เปิดรับทั้งหมด เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามประเภทกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า 10 อันดับแรกของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานด้าน STEM มากที่สุด ได้แก่
1. การขายส่งและขายปลีก 5,873 ตำแหน่ง (21.1%)
2. การผลิต 5,728 ตำแหน่ง (20.6%)
3. กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 3,462 ตำแหน่ง (12.4%)
4. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 2,886 ตำแหน่ง (10.4%)
5. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 2,529 ตำแหน่ง (9.1%)
6. การก่อสร้าง 1,836 ตำแหน่ง (6.6%)
7. กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 1,409 ตำแหน่ง (5.1%)
8. กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 1,254 ตำแหน่ง (4.5%)
9. กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 774 ตำแหน่ง (2.8%)
10. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 637 ตำแหน่ง (2.3%)
งานด้านคอมพิวเตอร์ – คณิตศาสตร์ เป็นที่ต้องการมากที่สุดในกลุ่มอาชีพ STEM
เมื่อเจาะลึกการประกาศรับสมัครงานกลุ่ม STEM พบว่างานที่ประกาศรับสมัครมากที่สุดดังนี้ อันดับที่ 1 คอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ โดยมีจำนวน 13,683 ตำแหน่ง คิดเป็น 36.6% ของประกาศงานด้าน STEM ทั้งหมด อาชีพที่เปิดรับสมัครมากที่สุดในสายนี้ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Support) นักเขียนโปรแกรม (Programmer) นักวิเคราะห์ระบบ (System Analyst) วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) และวิศวกรระบบ (System Engineer)
อันดับที่ 2 วิศวกรรม ซึ่งมีจำนวนตำแหน่งงาน 10,218 ตำแหน่ง คิดเป็น 27.3% โดยอาชีพที่เปิดรับสมัครมากที่สุด ได้แก่ วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรโครงการ วิศวกรโยธา และวิศวกรเครื่องกล
อันดับที่ 3 งานขายด้านเทคนิคและเฉพาะทาง มีจำนวน 5,602 ตำแหน่ง คิดเป็น 15.0% โดยอาชีพที่เปิดรับสมัครมากที่สุด ได้แก่ วิศวกรฝ่ายขาย (Sales Engineer) ตัวแทนขาย และผู้จัดการฝ่ายขาย
อันดับที่ 4 การดูแลสุขภาพ มีจำนวนตำแหน่งงาน 3,995 ตำแหน่ง คิดเป็น 10.7% โดยอาชีพที่เปิดรับสมัครมากที่สุด ได้แก่ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพ (Safety Officer) เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (Occupational Health and Safety Officer)
สำหรับงาน STEM อื่น ๆ ซึ่งรวมถึงตำแหน่งบริหาร อาชีพด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และครูสอนวิชา STEM มีจำนวนตำแหน่งงานรวมกัน 3,916 ตำแหน่ง คิดเป็น 10.5% ของทั้งหมด
ระยองครองอันดับหนึ่งจังหวัดที่มีสัดส่วนงาน STEM สูงสุดในประเทศ
เมื่อจำแนกการประกาศรับสมัครงานตามที่ตั้งของสถานประกอบการ พบว่าแนวโน้มของตำแหน่งงานในภูมิภาคต่าง ๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพรวมของการประกาศรับสมัครงานทั่วไป โดยภูมิภาคที่มีการเปิดรับสมัครงานในสาขา STEM มากที่สุดคือกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งมีตำแหน่งงานถึง 28,362 ตำแหน่ง คิดเป็น 75.8% ของงาน STEM ทั้งหมด รองลงมาคือภาคตะวันออกที่มีตำแหน่งงาน 3,529 ตำแหน่ง (9.4%) และภาคใต้ที่มีจำนวน 1,668 ตำแหน่ง (4.5%)
ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง มีจำนวนประกาศตำแหน่งต่ำกว่า 1,000 ตำแหน่ง และภาคตะวันตกมีเพียง 281 ตำแหน่ง (0.8%) นอกจากนี้ ยังมีประกาศรับสมัครงาน STEM ที่ไม่ระบุสถานที่ทำงานอีก 1,269 ตำแหน่ง คิดเป็น 3.4% ของตำแหน่งงานทั้งหมด
5 อันดับจังหวัดที่มีสัดส่วนงาน STEM สูงสุดในประเทศประกอบด้วย ระยองมีสัดส่วน 29.4% (1,181 ตำแหน่ง จาก 4,015 ตำแหน่ง), พระนครศรีอยุธยา 26.8% (404 ตำแหน่ง จาก 1,590 ตำแหน่ง), ฉะเชิงเทรา 23.3% (549 ตำแหน่ง จาก 2,354 ตำแหน่ง), ลำพูน 21.7% (117 ตำแหน่ง จาก 540 ตำแหน่ง) และชลบุรี 21.3% (1,612 ตำแหน่ง จาก 7,585 ตำแหน่ง) ซึ่งทั้งหมดนี้มีสัดส่วนงาน STEM ต่อจำนวนงานทั้งหมดสูงกว่ากรุงเทพมหานครที่มีสัดส่วนเพียง 17.3%
แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีจำนวนตำแหน่งงาน STEM มากที่สุดถึง 23,316 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 135,080 ตำแหน่งก็ตาม การเปรียบเทียบนี้ชี้ให้เห็นว่าในจังหวัดที่เป็นเขตอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้าน STEM ที่เข้มข้นสูงกว่าในกรุงเทพฯ ซึ่งมีเศรษฐกิจหลากหลายมากกว่า
สำรวจงานในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve
รัฐบาลได้เสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรม 10 กลุ่มในปี 2558 เรียกว่า “อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve” เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับไทยสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2575
โดยแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร
และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ซึ่งสืบต่อจากกลุ่มเดิม ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร
ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ใช้รหัสอุตสาหกรรม TSIC (Thailand Standard Industrial Classification) เป็นมาตรฐานหลักในการจำแนกกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve โดยอ้างอิงจากงานวิจัยและข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “วิจัยกรุงศรี” ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยใช้นิยามดังนี้
- “อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” ใช้ข้อมูลของอุตสาหกรรมยานยนต์ ครอบคลุมการผลิตส่วนประกอบของยานยนต์ทุกประเภท และการจัดกลุ่มอุตสาหกรรม
- “อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” ใช้ข้อมูลของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด
- “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” ใช้ข้อมูลของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ดีให้แก่ประเทศ และเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือไม่
- “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม” ใช้ข้อมูลของอุตสาหกรรมเครื่องจักรเพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่ง ครอบคลุมการผลิต ติดตั้ง และซ่อมแซมเครื่องจักรเพื่อการอุตสาหกรรมทุกชนิด (ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้ในภาคผนวก)
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวครองแชมป์เปิดรับสมัครงานมากที่สุด
เมื่อจำแนกตำแหน่งงานด้วยนิยามอุตสาหกรรมข้างต้น พบว่ามีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 52,194 ตำแหน่ง คิดเป็น 23% ของตำแหน่งงานทั้งหมดในไตรมาสนี้ โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีจำนวนตำแหน่งงานมากที่สุด คือ 31,689 ตำแหน่ง คิดเป็น 60.7% ของกลุ่ม ตามมาด้วยอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6,184 ตำแหน่ง (11.8%) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 5,188 ตำแหน่ง (9.9%) อุตสาหกรรมดิจิทัลอยู่ในอันดับที่ 4 ด้วย 3,906 ตำแหน่ง (7.5%)
ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องจักรเพื่อการอุตสาหกรรม มีจำนวนตำแหน่งงานระหว่าง 1,000-1,500 ตำแหน่ง คิดเป็น 2.7%, 2.6%, 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพมี 208 ตำแหน่ง (0.4%) และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพมีน้อยที่สุดเพียง 68 ตำแหน่ง (0.1%)
งานด้านการจัดการ เป็นที่ต้องการอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve
เมื่อวิเคราะห์การประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve พบว่างานที่ประกาศรับสมัครมากที่สุดคือ
1.การจัดการ 8,613 ตำแหน่ง (16.5%)
2.การขายและงานที่เกี่ยวข้อง 6,845 ตำแหน่ง (13.1%)
3.การเตรียมอาหารและการบริการ 6,470 ตำแหน่ง (12.4%)
4.สนับสนุนงานออฟฟิศและงานธุรการ 6,098 ตำแหน่ง (11.7%)
5.ธุรกิจและการเงิน 5,151 ตำแหน่ง (9.9%)
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ครองแชมป์สัดส่วนอาชีพ STEM สูงสุดในกลุ่ม S-Curve
จากการวิเคราะห์กลุ่มอาชีพ STEM ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve พบว่า มีความต้องการตำแหน่งงาน STEM รวมทั้งสิ้น 7,448 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 14.3% ของตำแหน่งงานทั้งหมดใน S-Curve (52,194 ตำแหน่ง) โดยสัดส่วนการจ้างงาน STEM ในแต่ละ S-Curve อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ครองอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วน 49.6% (668 ตำแหน่ง จากตำแหน่งงานทั้งหมด 1,346 ตำแหน่ง) รองลงมาคืออุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งมีสัดส่วน 44.8% (1,751 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 3,906 ตำแหน่ง) ส่วนอันดับสามคืออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่มีสัดส่วน 35.3% แม้จะมีการเปิดรับเพียง 24 ตำแหน่งจาก 68 ตำแหน่ง
ขณะที่การประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพ STEM ที่ปรากฏอยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve พบว่า งานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์มีความต้องการสูงที่สุดถึง 2,608 ตำแหน่ง (35.0% ของตำแหน่งงาน STEM ทั้งหมด 7,448 ตำแหน่ง) และครองอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์และดิจิทัล รองลงมาคืองานด้านวิศวกรรมที่มีความต้องการ 1,889 ตำแหน่ง (25.4%) ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงสุดในหลายอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น การท่องเที่ยว การแปรรูปอาหาร ยานยนต์ เครื่องจักรเพื่อการอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
เจาะลึกทักษะ STEM ที่ตลาด S-Curve ต้องการสูงสุด
ในกลุ่มงานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ ทักษะ SQL (ภาษาโปรแกรมมิ่งที่ใช้จัดการข้อมูล) มีความต้องการสูงสุดด้วยจำนวน 280 ตำแหน่ง (11.6% ของตำแหน่งในกลุ่มนี้) ตามมาด้วย Python และ Java ที่มีความต้องการ 254 และ 252 ตำแหน่งตามลำดับ (คิดเป็นประมาณ 10.5% เท่ากัน) ส่วน JavaScript และการจัดการโครงการ มีความต้องการ 228 และ 218 ตำแหน่งตามลำดับ (คิดเป็น 9.5% และ 9.0%) สะท้อนถึงความต้องการทักษะด้านฐานข้อมูลและการเขียนโปรแกรมในตลาดแรงงานด้านไอทีอย่างชัดเจน
ในกลุ่มงานวิศวกรรม การจัดการโครงการเป็นทักษะที่มีความต้องการมากที่สุด โดยมีประกาศรับสมัครงานถึง 374 ตำแหน่ง (23.0%) รองลงมาคือการใช้โปรแกรม AutoCAD (150 ตำแหน่ง หรือ 9.2%) และทักษะวิศวกรรมไฟฟ้า (133 ตำแหน่ง หรือ 8.2%) ส่วนทักษะด้านวิศวกรรมเครื่องกลและการก่อสร้างมีความต้องการอยู่ที่ 121 และ 119 ตำแหน่ง (7.4% และ 7.3% ตามลำดับ) ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าทักษะการบริหารจัดการโครงการและทักษะเฉพาะทางด้านวิศวกรรมเป็นที่ต้องการสูงในกลุ่มงานวิศวกรรม
ภาพรวมตลาดแรงงาน 10 อันดับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เปิดรับสมัครงานสูงสุด
จากการจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามประเภทกลุ่มอุตสาหกรรม โดยอ้างอิงข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 (TSIC) ผลการวิเคราะห์พบว่า 10 อันดับแรกของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่
1. การขายส่งและขายปลีก 43,930 ตำแหน่ง (19.3%)
2. การผลิต 27,538 ตำแหน่ง (12.1%)
3. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 22,115 ตำแหน่ง (9.7%)
4. กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 18,579 ตำแหน่ง (8.2%)
5. ที่พักแรมและบริการอาหาร 15,898 ตำแหน่ง (7.0%)
6. กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 13,406 ตำแหน่ง (5.9%)
7. การก่อสร้าง 8,742 ตำแหน่ง (3.8%)
8. กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 7,999 ตำแหน่ง (3.5%)
9. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 7,009 ตำแหน่ง (3.1%)
10. การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 4,258 ตำแหน่ง (1.9%)
ขณะเดียวกันมีประกาศรับสมัครงานที่ไม่สามารถระบุกลุ่มอุตสาหกรรมได้จำนวน 47,288 ตำแหน่ง (20.8%) บริษัทต่างประเทศ 741 ตำแหน่ง (0.3%) และหน่วยงานราชการ 348 ตำแหน่ง (0.2%)
10 กลุ่มอาชีพยอดนิยม
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศ โดยอ้างอิงฐานข้อมูลกลุ่มอาชีพจากสหรัฐอเมริกา (O*NET) พบว่า 10 กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุด ได้แก่
1. การขายและงานที่เกี่ยวข้อง 43,443 ตำแหน่ง (19.1%)
2. การจัดการ 33,928 ตำแหน่ง (14.9%)
3. สนับสนุนงานออฟฟิศและงานธุรการ 28,532 ตำแหน่ง (12.6%)
4. ธุรกิจและการเงิน 27,459 ตำแหน่ง (12.1%)
5. คอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 14,008 ตำแหน่ง (6.2%)
6. สถาปัตยกรรมและวิศวกรรม 12,241 ตำแหน่ง (5.4%)
7. การเตรียมอาหารและงานบริการ 10,438 ตำแหน่ง (4.6%)
8. ศิลปะ การออกแบบ ความบันเทิง กีฬา และสื่อ 9,911 ตำแหน่ง (4.4%)
9. การติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซม 8,630 ตำแหน่ง (3.8%)
10. การขนส่ง 5,931 ตำแหน่ง (2.6%)
ประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอาชีพเหล่านี้สะท้อนถึงความต้องการแรงงานในตลาดที่หลากหลาย โดยเฉพาะในสาขาการขาย การจัดการ และธุรกิจการเงินที่มีการจ้างงานสูงที่สุด
5 อันดับทักษะทั่วไปที่มีความต้องการสูง
ทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ทักษะต่าง ๆ จากประกาศรับสมัครงาน โดยใช้วิธีการจำแนกทักษะจาก Lightcast ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตำแหน่งงานและแนวโน้มตลาดแรงงาน ผลการวิเคราะห์พบว่ากลุ่มทักษะทั่วไป ที่นายจ้างต้องการมากที่สุดได้แก่ การบริการลูกค้า โดยมีจำนวนตำแหน่งงาน 34,405 ตำแหน่ง (26.2%) ตามมาด้วยการแก้ปัญหา 28,942 ตำแหน่ง (22.0%) การขาย 26,238 ตำแหน่ง (20.0%) ภาษาอังกฤษ 24,710 ตำแหน่ง (18.8%) และการทำงานเป็นทีม 18,871 ตำแหน่ง (14.4%)
ปริญญาตรียังคงเปิดรับสมัครมากที่สุด
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน พบว่ามีประกาศรับสมัครงานวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี 108,256 ตำแหน่งงาน (47.6%) ปวส. 21,682 ตำแหน่งงาน (9.5%) มัธยมศึกษาปีที่หก 18,941 ตำแหน่งงาน (8.3%) ปวช. 13,897 ตำแหน่งงาน (6.1%) มัธยมศึกษาปีที่สาม 6,858 ตำแหน่งงาน (3.0%) ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา 2,829 ตำแหน่งงาน (1.2%) สูงกว่าปริญญาตรี 1,369 ตำแหน่งงาน (0.6%) และที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษามีจำนวน 53,437 ตำแหน่งงาน (23.5%)
ถึงแม้ว่างานส่วนใหญ่จะกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของประกาศหางานออนไลน์ แต่เมื่อพิจารณากลุ่มงานที่ต้องการวุฒิการศึกษาต่ำกว่าระดับดังกล่าว พบแนวโน้มที่น่าสนใจดังนี้
- วุฒิ ปวช. และ ปวส. ตำแหน่งงานที่กำหนดวุฒิการศึกษาเหล่านี้มักเป็นงานเชิงเทคนิค เช่น การติดตั้ง บำรุงรักษา ซ่อมแซม และงานก่อสร้าง
- วุฒิมัธยมศึกษาปีที่หก ตำแหน่งงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับสาขาสาธารณสุข ขนส่ง การเตรียมอาหารและบริการ รวมถึงการซ่อมบำรุงอาคารและพื้นที่
- วุฒิมัธยมศึกษาปีที่สาม และไม่จำกัดวุฒิ งานเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับการเตรียมอาหารและบริการ และงานซ่อมบำรุงอาคารและพื้นที่
- งานที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษา ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับงานในภาคเกษตร เช่น การทำฟาร์ม ประมง และป่าไม้ รวมทั้งงานดูแลส่วนบุคคลและการบริการ การผลิต และการขนส่ง
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานต้องการแรงงานที่มีทักษะและความสามารถหลากหลายระดับ เพื่อรองรับความต้องการในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่ต้องการวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับสูงจนถึงไม่จำกัดวุฒิ
งานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
เมื่อจำแนกการประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ พบว่าพื้นที่ที่มีการเปิดรับสมัครงานมากที่สุดคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีจำนวนตำแหน่งงานทั้งหมด 164,928 ตำแหน่ง คิดเป็น 72.6% ของจำนวนตำแหน่งงานทั้งหมด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการประกาศหางานออนไลน์ รองลงมาคือภาคใต้ มีการเปิดรับสมัคร 19,371 ตำแหน่ง (8.5%) ตามด้วยภาคตะวันออก 15,651 ตำแหน่ง (6.9%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,077 ตำแหน่ง (3.1%) ภาคเหนือ 6,813 ตำแหน่ง (3.0%) ภาคกลาง 4,350 ตำแหน่ง (1.9%) และภาคตะวันตก 2,930 ตำแหน่ง (1.3%)
นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานที่ไม่สามารถระบุที่ตั้งของสถานที่ทำงานได้จำนวน 6,149 ตำแหน่ง คิดเป็น 2.7% ของตำแหน่งงานทั้งหมด ในส่วนของจังหวัดที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานสูงที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ โดยมีตำแหน่งงานเปิดรับทั้งหมด 135,080 ตำแหน่ง คิดเป็น 61.1% ของงานทั้งหมด รองลงมาคือภูเก็ตที่มี 10,290 ตำแหน่ง (4.7%) สมุทรปราการ 9,338 ตำแหน่ง (4.2%) นนทบุรี 7,930 ตำแหน่ง (3.6%) และชลบุรี 7,585 ตำแหน่ง (3.4%)
ทั้งนี้ “โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงฯ” โดยทีดีอาร์ไอ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยจะมีการวิเคราะห์และนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องไปในทุกไตรมาส
บทความโดย : ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ดร.ทศพล ป้อมสุวรรณ, วินิทร เธียรวณิชพันธุ์, นรินทร์ ธนนิธาพร, เพ็ญพิชา ผาณิตพิเชฐวงศ์ และวิไลลักษณ์ มีสวัสดิ์ นักวิจัยด้าน Big Data ทีดีอาร์ไอ