tdri logo
tdri logo
1 พฤศจิกายน 2024
Read in 5 Minutes

Views

ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง : อุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว

นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงกำลังสร้างความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมอุตสาหกรรม และบริการ โดยส่งผลกระทบที่หลากหลาย ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน และที่กำลังจะเกิดในอนาคต บทความนี้จะนำเสนอความเสี่ยงและผลกระทบสำคัญในภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคส่วนหลักของเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคเอกชนให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างยั่งยืน

ภาคอุตสาหกรรม

ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้จากภัยพิบัติที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น โดยความเสี่ยงสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมเผชิญคือ ความเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง และความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC

ความเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง

นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในภาคกลางได้รับบทเรียนสำคัญจากมหาอุทกภัยปี 2011 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจรวม 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยความเสียหายจากน้ำท่วมที่ทำลายทรัพย์สิน รวมถึงการประมาณการความสูญเสียรายได้และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต[1] โดยผลกระทบกว่า 70% เกิดขึ้นกับภาคการผลิต ดังที่แสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ผลกระทบจากมหาอุทกภัย ปี 2011

ภาคส่วน ความเสียหายความสูญเสียโอกาส รวม
อุตสาหกรรมการผลิต513,881493,2581,007,139
การเงินและการธนาคาร115,276115,276
การท่องเที่ยว5,13489,67394,808
ที่อยู่อาศัย45,90837,88983,797
เกษตรกรรม ปศุสัตว์ และประมง5,66634,71540,381
อื่นๆ59,76524,38084,143
รวม630,354795,1911,425,544
ที่มา: ธนาคารโลก, 2012

ผลกระทบจากอุทกภัย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) จากภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างมากในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานี โดยหดตัว 18% และ 14% ตามลำดับ[2] และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อหลากหลายอุตสาหกรรม ตัวอย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ บริษัทฮอนด้า ที่ต้องทำลายรถยนต์ใหม่ที่จมน้ำกว่า 1,055 คัน[3] และบริษัทโตโยต้า ที่ต้องหยุดการผลิตเนื่องจากขาดชิ้นส่วนต้นน้ำ แม้โรงงานของโตโยต้าไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม[4]

สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตหลักทำให้เกิดการขาดแคลนฮาร์ดดิสก์อย่างหนัก ส่งผลให้การส่งมอบฮาร์ดดิสก์ทั่วโลกใน Q4/2011 หดตัวถึง 26% จากปีก่อน และทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 28%[5] ความเสียหายเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และทำให้บริษัทบางส่วนย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย[6]

การดำเนินมาตรการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางยังคงประสบข้อจำกัดที่สำคัญ ภายหลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2011 ได้มีการดำเนินมาตรการเชิงโครงสร้างเพื่อป้องกันผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยง[7] อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามาตรการดังกล่าวอาจสามารถลดความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในโรงงานได้ จากการป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมโรงงาน แต่ยังมีข้อจำกัดในการป้องกันผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะการหยุดชะงักของระบบโลจิสติกส์และการเดินทางของพนักงาน หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่างของการปรับตัวอย่างไม่เหมาะสม (maladaptation) จากการเบี่ยงเบนทิศทางของน้ำไปสู่พื้นที่ชุมชนและการเกษตร และได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจจากชุมชนในพื้นที่รอบนิคม[8]

ความเสี่ยงน้ำไม่เพียงพอ ในพื้นที่ EEC

ในขณะเดียวกัน พื้นที่ EEC ก็มีความท้าทายในเรื่องของความสมดุลน้ำ และมีความเสี่ยงที่ปริมาณน้ำต้นทุนอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการน้ำในอนาคต จากแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม ภายในปี 2037 พื้นที่อุตสาหกรรมในเขต EEC มีแผนขยายเพิ่มขึ้นถึง 64% เมื่อเทียบจากปี 2017[9] การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนี้ นำมาซึ่งความต้องการน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้นจาก 2,419 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2017 เป็น 3,089 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2037 ในทางกลับกัน ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ EEC อยู่ที่ 2,539 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2017 ซึ่งเห็นได้ว่าความต้องการน้ำในอนาคต จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าปริมาณน้ำที่มี นับเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการในอนาคต

มาตรการในการรับมือในปัจจุบัน เน้นไปที่การเพิ่มอุปทานน้ำในพื้นที่ ผ่านโครงการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มความจุ รวมถึงการเชื่อมโครงข่ายน้ำเพื่อผันน้ำจากพื้นที่จังหวัดข้างเคียง ผ่านการก่อสร้างท่อส่งน้ำเพิ่มเติม โดยมีแผนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนทั้งหมด 872 ล้าน ลบ.ม. ภายในปี 2037[9]

การบริหารจัดการเพื่อลดความต้องการน้ำ

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การจัดการความต้องการน้ำดิบ ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำที่ลดความต้องการน้ำได้ คือการรีไซเคิลน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ กรณีศึกษาจากองค์กรภาคเอกชนไทย 2 องค์กร ได้แก่ บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้สะท้อนให้เห็นถึงแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในการลดการใช้ทรัพยากรน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรในระยะยาว

ในด้านของบริษัทอมตะ ซึ่งเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ได้มีแนวคิด Zero Discharge Concept[10] โดยเริ่มจากการรวบรวมน้ำเสียจากโรงงานในนิคมไปบำบัดที่โรงบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง แล้วนำไปใช้ในส่วนอื่นๆขององค์กร โดยกว่า 52% ของน้ำเสียบำบัดแล้ว ได้นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ผ่านเทคโนโลยี Reverse Osmosis ตามที่แสดงในภาพที่ 1 จากการดำเนินงานนี้ องค์กรสามารถลดความต้องการน้ำผิวดินเหลือเพียง 60% ของความต้องการน้ำทั้งหมด และประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำดิบได้ 78.93 ล้านบาทต่อปี

ภาพที่ 1: แนวคิดการลดการปล่อยน้ำทิ้งเป็นศูนย์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ

ที่มา : อมตะ

ในด้านของบริษัทไทยยูเนี่ยน ได้มีแนวคิดในรูปแบบเดียวกัน โดยได้พัฒนาโรงงานต้นแบบการลดการปล่อยน้ำทิ้งเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge) ที่จังหวัดสมุทรสาคร[11] โดยการเริ่มจากปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้น้ำตั้งแต่ต้นทาง จากนั้นได้บำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิต และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการนำน้ำใช้แล้วมาหมุนเวียนใช้ใหม่อยู่ที่ 11 บาท/ลบ.ม. ซึ่งถูกกว่าน้ำประปาที่ 23 บาท/ลบ.ม.[12] และโดยรวมสามารถลดการใช้น้ำจาก 7,000 ลบ.ม./วัน เหลือเพียง 4,000 ลบ.ม./วัน และประหยัดค่าน้ำรวมปีละ 27.8 ล้านบาท

ความเสี่ยงผลกระทบสูงขึ้น จากภาวะโลกรวนและความกระจุกตัวของอุตสาหกรรม

แบบจำลอง EC-Earth ภายใต้สถานการณ์ RCP4.5[13] พบว่า ภายในปี 2046-2065 การรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางอาจเป็นสิ่งที่ท้าทายมากขึ้น จากปริมาณฝนสูงสุดในรอบ 5 วัน (RX5day) ทั้งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เพิ่มจาก 42.9mm เป็น 59.2mm และจังหวัดปทุมธานี ที่เพิ่มจาก 46.8mm เป็น 59mm และในส่วนของพื้นที่ EEC ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งบ่อยขึ้น จากจำนวนวันที่ฝนไม่ตกต่อเนื่องสูงสุด (Cumulative Dry Days) ที่เพิ่มขึ้นใน 3 จังหวัดพื้นที่ EEC ทั้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา (41.1 วัน เป็น 43 วัน) จังหวัดชลบุรี (26.7 วัน เป็น 28.6 วัน) และจังหวัดระยอง (26.7 วัน เป็น 39 วัน) (เปรียบเทียบกับปี 1970-2005)

ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมไทย ที่อาจทำให้ผลกระทบจากโลกรวนรุนแรงมากยิ่งขึ้น คือการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยุธยา และ 3 จังหวัด EEC โดยที่กว่า 55% ของโรงงานอยู่ในพื้นที่ และสร้าง GDP ในภาคอุตสาหกรรมรวมถึง 71% ของประเทศ (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2 จำนวนโรงงาน และ GDP จากภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล อยุธยา และ EEC

จังหวัดจำนวนโรงงาน (2023) สัดส่วนประเทศGDP ภาค อุตสาหกรรม (2022p) สัดส่วนประเทศ
สมุทรปราการ70049.6%355,5716.3%
สมุทรสาคร66289.1%309,6235.5%
กรุงเทพมหานคร59798.2%694,62912.3%
ชลบุรี51067.0%713,98412.6%
ปทุมธานี34604.8%240,0404.2%
นครปฐม33404.6%202,7913.6%
ระยอง31324.3%868,08015.3%
ฉะเชิงเทรา20502.8%316,3895.6%
อยุธยา19332.7%277,8524.9%
นนทบุรี15942.2%65,3871.2%
ที่มา: กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สศช

ข้อเสนอนโยบาย

กระจายความเสี่ยงด้านพื้นที่อุตสาหกรรม

การเติบโตของอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ EEC มีความเสี่ยงอย่างมากต่อความมั่นคงของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกรวน ภาคอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ภาคกลาง จำเป็นต้องลดความเสี่ยงด้วยการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรม ผ่านการจัดโซนนิ่งที่ไม่อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานใหม่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตออกจากพื้นที่เสี่ยง พร้อมทั้งสนับสนุนการกระจายการพัฒนาไปยังพื้นที่นอกเขตภาคกลางและ EEC เพื่อลดความตึงเครียดของทรัพยากรที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาครัฐควรใช้โอกาสนี้ ในการดึงดูดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไปสู่พื้นที่ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตไทยในระยะยาว

ลดความต้องการน้ำดิบ ผ่านการปรับราคาน้ำ

พื้นที่ EEC มีความจำเป็นต้องมุ่งเน้นที่การลดความต้องการน้ำ แทนที่มาตรการเพิ่มอุปทานน้ำในปัจจุบัน โดยการใช้นโยบายด้านราคาน้ำที่สะท้อนต้นทุนอย่างเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากอัตราค่าสูบน้ำจากแหล่งน้ำชลประทานเพื่อใช้นอกภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.5 บาท/ลบ.ม. ยังต่ำกว่าต้นทุนน้ำชลประทานจริงที่ 1.26 บาท/ลบ.ม. และต่ำกว่าราคาเงา (ราคาที่สะท้อนต้นทุนทางสังคม) ที่ 1.49 บาท/ลบ.ม.[14] ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับราคาน้ำให้เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนลดการใช้น้ำดิบ และหันมาใช้น้ำรีไซเคิลมากขึ้น โดยต้องควบคู่กับการรักษาความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการปรับราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป สนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีน้ำรีไซเคิล และส่งเสริมความรู้การประหยัดน้ำ สุดท้าย ภาครัฐควรแก้ไขปัญหาโครงสร้างการผูกขาดของผู้ให้บริการส่งน้ำใน EEC เพื่อลดผลประโยชน์ส่วนเกินที่ตกอยู่กับผู้ให้บริการรายเดียว

ภาคท่องเที่ยว

ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ภาวะโลกรวนทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเผชิญกับความเสี่ยงในหลายด้าน[15] ทั้งจากภัยพิบัติที่มีแนวโน้มจะเกิดเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง หรือภัยน้ำท่วม และจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาอุณหภูมิที่สูงขึ้น และการเสื่อมสภาพของทรัพยากรทางทะเล เช่น แนวปะการังและชายหาด ซึ่งจะผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในระดับประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ

ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ โดยมีแนวโน้มว่านักท่องเที่ยวจะตัดสินใจหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีอากาศร้อน และเลือกเดินทางไปยังประเทศที่มีอากาศเย็นสบายมากขึ้น ดังที่แสดงในภาพที่ 2 ในกรณีที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศา มีการคาดการณ์ว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยจะหดตัว 3.22%[16] ซึ่งหากคำนวณจากข้อมูลรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2019 ไทยเสี่ยง​สูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 6.2 หมื่นล้านบาท/ปี

ภาพที่ 2 การเปลี่ยนแปลงของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ กรณีอุณหภูมิเพิ่ม 2 องศา

ที่มา: ข้อมูลจาก Roson & Sartori, 2016

สำหรับผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวลดลงในช่วงวันที่อากาศร้อน และยังส่งผลกระทบต่อฤดูกาลท่องเที่ยวในภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงฤดูหนาว จากข้อมูลแบบจำลอง MPI-ESM-MR ภายใต้สถานการณ์ RCP4.5 พบว่า ในช่วงปี 2046-2050 พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มจะเผชิญฤดูหนาวที่สั้นลงและความหนาวเย็นลดลง ตามที่แสดงในภาพ 3 ซึ่งเห็นได้ว่า

  • จำนวนวันที่อุณหภูมิต่ำสุด <15°C​: 136 วัน ลดเหลือ 114 วัน
  • จำนวนวันที่อุณหภูมิต่ำสุด <20°C: 255 วัน ลดเหลือ 212 วัน
  • ​อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยเดือนมกราคม: 9.9°C เพิ่มขึ้นเป็น 10.5°C

ภาพที่ 3 การกระจายของอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยต่อปี พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2046-2050 เทียบ 2006-2010

ที่มา: ฐานข้อมูล DSSAT ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, RU-CORE (MPI-ESM-MR)

การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวของจังหวัดเชียงใหม่ (ภาพที่ 4) สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศการท่องเที่ยวที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ กรณีอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของผลกระทบดังกล่าว ซึ่งเห็นได้ถึงการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนเมื่อเทียบกับช่วงฤดูหนาว สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ

ภาพที่ 4 จำนวนนักท่องเที่ยวรายเดือน ปี 2023 จังหวัดเชียงใหม่ และ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

ที่มา:กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา / สำนักอุทยานแห่งชาติ

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางทะเล

ในส่วนของผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ภาวะโลกรวนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางน้ำทะเลใน 2 ส่วน คือจากน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อพื้นที่ชายหาด และจากอุณหภูมิและความเป็นกรดของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อพื้นที่แนวปะการัง

การคาดการณ์ระดับน้ำทะเลในอนาคต มีแนวโน้มหนุนสูงขึ้นเฉลี่ย 0.4-0.5 เมตรทั้งในทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามันจากสถานการณ์แบบจำลอง RCP4.5 ภายในปลายศตวรรษ[17] การเพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื้อที่ชายหาดของประเทศไทย ซึ่งเสี่ยงสูญหายในอนาคต ภายในปี 2081-2100 พื้นที่ชายหาดของไทย มีความเสี่ยงที่จะสูญหายถึง 55% ภายใต้สถานการณ์ RCP4.5[17] นอกจากนี้ ในส่วนของอุณหภูมิและความเป็นกรดของน้ำทะเลซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวปะการังของไทย จากพื้นที่แนวปะการัง 149,182 ไร่ใน 17 จังหวัด มีสูงถึง 11 จังหวัดที่มีพื้นที่แนวปะการังที่เสียชีวิตแล้วเกิน 50% ของพื้นที่[18] และจากการคาดการณ์ของ IPCC ในกรณีที่อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 องศา พื้นที่แนวปะการังทั่วโลกอาจเสียหายสูงถึง 99%[19] การเปลี่ยนแปลงของทั้งสองส่วนนี้ จะกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1.21 ล้านล้านบาทในปี 2022[20]

ข้อเสนอนโยบาย

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว แต่ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวก็ได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่ภาคการท่องเที่ยวจะต้องมีการปรับตัวตั้งแต่วันนี้ผ่านการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบใน 2 รูปแบบ

รูปแบบแรก คือการปรับเวลาท่องเที่ยว ขยายกิจกรรมสู่ช่วงเวลากลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อน ดังตัวอย่างของโคลอสเซียม ที่กรุงโรม ซึ่งเปิดให้บริการในช่วงเวลา 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืนในบางช่วง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลี่ยงอากาศร้อน[21] การปรับเวลานี้ จะต้องควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมให้บริการ​นักท่องเที่ยวในช่วงกลางคืน ​เช่น ศูนย์บริการข้อมูล ​การรักษาความปลอดภัย และระบบขนส่งสาธารณะ​

การปรับตัวรูปแบบที่สอง คือการปรับกิจกรรมท่องเที่ยว หาจุดขายใหม่ผ่านการพัฒนาแหล่งหรือกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไม่ขึ้นอยู่กับฤดูกาล เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการใช้ศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพื้นที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอาหาร วัฒนธรรม สุขภาพ ฯลฯ การสร้างแหล่งท่องเที่ยวในร่มเพิ่มขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อน และดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจ (MICE) เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ตลอดปี บทบาทของภาครัฐ จำเป็นจะต้องสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมงบประมาณในการพัฒนากิจกรรม การสนับสนุนทุนวิจัยด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ของประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอเนื้อหาภายในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการนำเสนอ (หน้า13-29)

รับชมย้อนหลัง

อ้างอิง

[1] World Bank. (2012). Thai Flood 2011 Rapid Assessment for Resilient Recovery and Reconstruction Planning

[2] ข้อมูลจาก สศช.

[3] https://www.thaipbs.or.th/news/content/55814

[4] https://mgronline.com/motoring/detail/9540000135266

[5] https://www.bot.or.th/content/dam/bot/documents/en/our-roles/monetary-policy/mpc-publication/monetary-policy-report/mpr-box/IR_2012_Q2_BOX1.pdf

[6] https://thaipbs.or.th/news/content/64604

[7] https://www.thaipbs.or.th/news/content/70956

[8] https://www.thaipbs.or.th/news/content/72612

[9] EEC. 2564. แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2566-2570

[10] https://www.amata.com/th/sustainability/environmental-stewardship/sustainable-water-management

[11] https://www.thaiunion.com/th/newsroom/press-release/1697/ไทยยูเนี่ยน-จับมือ-บพข-ประกาศความสำเร็จโครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลสู่สาธารณะเป็นศูนย์-เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบฝีมือคนไทย

[12] https://www.thaipost.net/news-update/562427/

[13] ข้อมูลจาก RU-CORE

[14] TDRI. (2561). โครงการศึกษาวิเคราะห์การพัฒนาโครงการชลประทานและการบริหารน้ำที่เหมาะสมกับประเทศไทย และส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP: Gross Domestic Product) สูงสุด

[15] GIZ. (2019). Climate Change Risk Assessment for Thailand’s Tourism Sector

[16] Roson, R., & Sartori, M. (2016). Estimation of climate change damage functions for 140 regions in the GTAP9 database. Available at SSRN 2741588.

[17] Ritphring, S., Somphong, C., Udo, K., & Kazama, S. (2018). Projections of future beach loss due to sea level rise for sandy beaches along Thailand’s coastlines. Journal of Coastal Research, (85), 541-545.

[18] ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2022)

[19] Hoegh Guldberg, O., Jacob, D., Taylor, M., Bindi, M., Brown, S., Camilloni, I. A., … & Zhou, G. (2018). Impacts of 1.5 C global warming on natural and human systems.

[20] ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

[21] https://www.thetimes.com/world/europe/article/colosseum-to-offer-night-tours-for-tourists-to-escape-record-heat-0c2dhd2pn

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด