ทุก ๆ องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเท่านั้น แต่ยังเป็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญจากภาวะโลกรวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก เช่น หากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสในปี 2050 คาดการณ์กันว่าจะมีผลกระทบให้จีดีพีของไทยลดลงถึง 19.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเซีย
ทั้งนี้ผลกระทบหลักที่ไทยจะต้องเผชิญล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งผลกระทบต่อภาคเกษตร แรงงาน และการท่องเที่ยว โดยผลการศึกษาของ Swiss Re Institute ในปี 2021 บ่งชี้ว่า ไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียผลผลิตภาคเกษตรเป็นอันดับที่ 3 จาก 48 ประเทศ และเสี่ยงที่จะสูญเสียผลิตภาพแรงงาน และรายได้จากการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 1 จาก 48 ประเทศเลยทีเดียว
แม้ว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งที่จัดทำแผนปรับตัวแล้ว ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายแห่งยังไม่ได้จัดทำแผนปรับตัวของประเทศไทย (Thailand’s National Adaptation Plan) น่าจะยังไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากยังเน้นระบบบริหารภาครัฐแบบเดิม ไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อการปรับตัว ไม่ระบุกฎระเบียบที่ต้องปฏิรูป ตลอดจนยังใช้นวัตกรรมและเครื่องมือใหม่ค่อนข้างน้อย
อะไรคือแนวทางที่จะนำไปสู่การปรับประเทศไทยให้สามารถรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้อยู่รอด และได้เปรียบในการแข่งขันในยุคโลกรวน? ทีดีอาร์ไอได้สรุปมุมมองจากผู้นำทางการเมืองและผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมอภิปรายในเวทีเสวนา “เคลื่อนประเทศ ปรับไทยให้รอด ในยุคโลกเดือด” ภายในงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2567
“สะท้อนภาพนโยบาย” รับโลกรวน
“เราจะทำอย่างไรที่จะเคลื่อนแนวทางรับมือโลกรวนให้เป็นนโยบายสาธารณะได้จริง?”
เป็นคำถามที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี ชวนคิดในวงเสวนา พร้อมยก “ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ขึ้นมาอธิบายภาพการขับเคลื่อนนโยบายรับโลกรวน
มุมที่หนึ่งของสามเหลี่ยมคือ กระแสสังคม “อภิสิทธิ” มองว่า ความรู้สึกของคนไทยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีลักษณะ “3 ไม่” คือ ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ และไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ดังนั้นกระแสสังคมที่จะต้องพยายามสร้างขึ้นมาจะต้องลบล้าง “3 ไม่” นี้ ขณะที่ในมุมที่สองของสามเหลี่ยมคือ ความรู้ ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีเห็นว่าระบบข้อมูลในการแก้ไขปัญหาของเราที่มีอยู่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ แม้ว่าอาจมีความรู้ทางวิชาการครอบคลุมหลายประเด็น แต่ก็ยังรับรู้กันอยู่ในวงแคบ ๆ เท่านั้น ไม่สามารถเชื่อมโยงไปสู่กลไกที่จะเข้ามาผลักดันให้เกิดขึ้นได้
สุดท้ายมุมที่สามของสามเหลี่ยมคือ เจตจำนงทางการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีมองว่า กลไกการบริหารประเทศของไทยจะต้องบูรณาการกัน ให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกลาง ท้องถิ่น และเอกชน โดยควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น สามารถมีกลไกจัดการที่เป็นไปตามขอบเขตปัญหา เช่น ลุ่มน้ำ มากกว่าจะบริหารตามพื้นที่ปกครองเหมือนในปัจจุบัน และต้องแก้ปัญหา “การเมืองไม่มองยาว” ซึ่งเน้นการบรรเทาตามสถานการณ์ และปล่อยให้เกิดปัญหาในระยะยาวต่อไป
เช่นเดียวกับ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคประชาชน ที่เห็นว่า การขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ขับเคลื่อนค่อนข้างยาก เว้นแต่จะต้อง “เคลือบน้ำตาล” ด้วยผลประโยชน์ที่จะได้ เช่น คาร์บอนเครดิต หรือการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน ขณะที่แผนปรับตัวของประเทศไทยยังมีลักษณะเป็นเหมือนรายการยาวเหยียด (Laundry list) เท่านั้น โดยไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ และกำหนดระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจนแต่อย่างใด
“ถ้าไปดูการทำงานของรัฐบาล เราจะเห็นปัญหาเต็มไปหมด ภัยพิบัติน้ำท่วมภาคเหนือที่เพิ่งเกิดขึ้นสะท้อนปัญหาระบบการเตือนภัย ทุกพื้นที่มีแผนเผชิญเหตุ แต่เมื่อไม่ได้มีการซักซ้อม เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นจริงประชาชนก็ไม่รู้ว่าจะอพยพไปไหน นอกจากนี้ยังมีปัญหาของการเยียวยาที่วนเวียนเรื่องเดิม ๆ ต้องมีเอกสารสิทธิหรือไม่ ความเสียหายมากน้อยอย่างไรถึงจะเข้าเกณฑ์ เรื่องนี้เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการเตรียมความพร้อมด้านการคลังและงบประมาณ ซึ่งหากในอนาคตเกิดปัญหาบ่อยขึ้น เราจะมีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีแผนการปรับตัวที่ดีพอ?”
ขณะที่ “วราวุธ ศิลปอาชา” รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้ว่า สถานการณ์โลกเดือดจะกระทบกับคนทุกคน โดยเฉพาะผู้เปราะบางกลุ่มต่างๆ เหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในภาคเหนือ กลุ่มคนที่เสียชีวิตมากที่สุด คือคนพิการ และผู้สูงอายุ ดังนั้นสิ่งที่ พม. กำลังทำอยู่ในขณะนี้คือการวางแนวทางให้คนไทยพร้อมปรับตัวเข้าสู่ยุคโลกเดือด
“ยากที่สุด คือการเปลี่ยนทัศนคติของคน ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สุด การปรับเปลี่ยนจะไม่เกิดขึ้น ถ้าทำแล้วคนรู้สึกว่าเกิดความไม่สะดวกสบาย วันนี้คนที่อยู่ครึ่งบนของปิระมิดทางสังคมตื่นตัวแล้ว และทำหลายอย่างเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่คนครึ่งล่างที่มีจำนวนมากยังต้องวิตกกังวลกับการหารายเลี้ยงชีพรายวันอยู่ และเมื่อเวลาเกิดปัญหาขึ้น คนครึ่งบนจะโดนผลกระทบน้อยเพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า แต่คนครึ่งล่างโดนก่อนเพื่อนเลย” รมว.พม.ระบุ
ด้าน “สฤณี อาชวานันทกุล” กรรมการผู้จัดการ บ.ป่าสาละ จำกัด เห็นคล้ายกันว่า ทัศนคติเป็นปัญหาใหญ่ และมีความสำคัญมาก เราควรมองให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา หรือหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กองทัพ ซึ่งในต่างประเทศมีแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันแล้ว เนื่องจากอากาศที่ร้อนขึ้นจะส่งผลต่อยุทโธปกรณ์ด้วย ดังนั้นประเทศไทยจะต้องพยายามเข้าใจประเด็นเหล่านี้ โดยภาครัฐควรจัดทำข้อมูลและองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นให้ประชาชนรวมไปถึง SMEs ให้สามารถมองเห็นความเสี่ยงของตนจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น
“สฤณี” ยังกล่าวว่า เราควรหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบวิศวกรรมหรือ Grey infrastructure ที่เป็นปัญหาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งมักสร้างการปรับตัวอย่างไม่เหมาะสม (Maladaptation) ว่า ภาครัฐจะต้องการประเมินผลลัพท์ของโครงการเหล่านี้ โดยเน้นไปที่การวัดผลลัพธ์ (Outcome) มากกว่าการเน้นที่ผลผลิต (Output) เป็นหลักเหมือนในปัจจุบัน
“สำรวจงบฯ-เงิน” รับโลกรวน
“พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นตัวสะท้อนว่ารัฐบาลเอาใจใส่ในเรื่องนี้มากน้อยอย่างไร ซึ่งพบว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้มีการแยกแผนงานออกมาให้ชัดเจน แต่ไปปนอยู่กับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดแล้วเห็นว่าโครงการต่างๆไม่ได้แตกต่างกับช่วงก่อนที่ Climate Change จะเป็นประเด็นร้อน และยังไม่ได้ถูกพูดถึงมาก หน้าตางบประมาณยังคงเป็นอย่างเดิมๆ เช่น เน้นสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเหมือนเดิม” รองหัวหน้าพรรคประชาชนระบุ
“ศิริกัญญา” กล่าวด้วยว่า ในแผนงาน “ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 แม้ว่าจะมีวงเงิน 2,200 ล้านบาท แต่เมื่อไปดูรายละเอียดพบว่า งบก้อนใหญ่ 1,500 ล้านบาทถูกใช้เป็นค่าอุปกรณ์ในการตรวจสภาพอากาศตามสนามบินต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO เท่ากับว่าไม่มีงบประมาณจริงที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังมีงบประมาณที่เป็น “ไขมัน” อยู่อีกมาก
ดังนั้นหากมีการย้ายงบประมาณในส่วนนั้นให้มาอยู่ในเรื่องของการปรับตัวมากขึ้นจะทำให้ประเทศไทยสามารถเตรียมตัวรับมือได้ดีขึ้น และยังอาจมีโอกาสทางเศรษฐกิจจากการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัว ทั้งการติดตั้งโทรมาตรต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความต้องการในประเทศ และสอดคล้องกับเทรนด์โลก ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย
“ศิริกัญญา” มองด้วยว่า ในอนาคตอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บภาษีใหม่ ๆ เช่น ภาษีคาร์บอน ที่ตอนนี้กรมสรรพสามิตเริ่มมีการกลไกราคาคาร์บอนในน้ำมันแล้ว ดังนั้นถ้ามีเจตจำนงทางการเมืองมากพอ ก็สามารถที่จะขยายการจัดเก็บได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และนำมาใช้ในเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะที่ “อภิสิทธิ์” เห็นว่า ระบบการจัดทำงบประมาณแบบล่างขึ้นบน เป็นปัญหาในการจัดสรรงบประมาณ เพราะไม่มี “ภาพใหญ่” หรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการกำกับกระทรวง ทบวง กรม ให้เสนองบประมาณเกี่ยวเนื่องกับการรับมือภาวะโลกรวน
“เรื่องงบประมาณต้องบนลงล่าง ผู้นำรัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนมอบให้หน่วยงานต่าง ๆ ความยากอีกอย่างในปัจจุบันคือ การจัดงบประมาณยังเหมือนการแบ่งสัมปทานระหว่างกระทรวงต่างๆ กันมากกว่า ซึ่งการเป็นรัฐบาลผสมทำให้การกำหนดทิศทางนโยบายทำได้ยาก”
รมว.พม. มองว่า หน่วยงานภาครัฐต่างตั้งงบประมาณของตัวเองในลักษณะไซโล แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นทำให้การจัดทำงบประมาณจะต้องดูภาพรวมว่าจะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร เนื่องจากเรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญของประเทศ ทั้งนี้กฎหมายจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดกลไกที่เอื้อต่อการจัดทำงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ และช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ประสานงานกันมากขึ้น
ขณะที่ “สฤณี” กล่าวถึงงบประมาณที่ใช้ในการปรับตัว โดยระบุว่า มีคำถามว่า “จะหาเงินมาจากไหน?” เพราะเรื่องการปรับตัว (Adaptation) จะหาเงินมาลงทุนยากมากกว่าเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ที่มีเครื่องมือทางการเงิน ทั้งพันธบัตรสีเขียว สินเชื่อสีเขียว หุ้นกู้สีเขียว และมีการลงทุนในพลังงานสะอาด เนื่องจากการลงทุนเหล่านี้สามารถคำนวณผลตอบแทนกลับมาได้ค่อนข้างชัดเจน ในขณะที่การใช้เงินในวันนี้เพื่อลดความเสียหายในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตามมี 4 แนวทางที่จะช่วยการระดมทุนให้เข้ามาสนับสนุนการปรับตัวมากขึ้น ดังนี้
หนึ่ง พยายามมองให้เป็นเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน เพราะถ้าไม่ลงทุนจะเกิดความเสียหายที่สูงกว่า สอง ย้ายเงินงบประมาณ ออกจากเรื่องที่ไม่จำเป็น เช่น การสร้างกำแพงกันคลื่น สร้างฝายในที่ที่ไม่ควรทำ โดยนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการปรับตัวที่ใช้ธรรมชาติเป็นฐานแทน สาม ยกเลิกเงินอุดหนุน เนื่องจากในขณะนี้ไทยมีการอุดหนุนในอุตสาหกรรมที่เอื้อต่อการทำลาย หรือเอื้อต่อการไม่ปรับตัวอยู่ไม่น้อย ซึ่งต้องไปพิจารณาดูว่าจะยกเลิกเงินอุดหนุนเหล่านี้และนำมาใช้กับการปรับตัวอย่างไร
“สุดท้ายคือ ความสามารถของภาคการเงินในการจัดโครงสร้างทางการเงิน ในต่างประเทศมีการคุยกันเรื่องของการยกหนี้ให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อแลกกับการให้ปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะประยุกต์ใช้แนวคิดแบบนี้สำหรับการหนี้เกษตรกรเพื่อให้เขาปรับตัว และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ลดผลกระทบจากโลกรวนได้ดีขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่สามารถช่วยเราหาเงินได้โดยที่ยังไม่ได้ไปแตะเรื่องภาษี”
“เดินหน้าลงทุน” รับโลกรวน
“เราเป็นประเทศที่มีทรัพยากรไม่มาก ดังนั้นต้องคิดว่าเรื่องนี้เป็นการลงทุน ถ้าไปคิดว่าเป็นค่าใช้จ่ายอย่างเดียว ก็จะติดกับดักทางความคิด ต้องคิดว่าเงินที่เราจ่ายคือเงินที่ต้องการลดความเสียหายมหาศาลในอนาคต ขณะเดียวกันยังเป็นเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จีดีพีของเราจะหายไปมากจนเวียดนามอาจแซงหน้าเราไป” เป็นคำแนะนำของกรรมการผู้จัดการ บ.ป่าสาละ จำกัด
ขณะเดียวกัน การลงทุนที่คำนึงถึงความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ (Climate Justice) จะยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง เพราะผลกระทบจากโลกร้อนจะเกิดกับคนที่เปราะบางที่สุด ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้สร้างปัญหาน้อยที่สุด ดังนั้นถ้าให้การช่วยการปรับตัวซึ่งเน้นกลุ่มเปราะบางจะถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เห็นด้วยกับการลงทุนเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน โดยเสนอ “ปรับอาวุธ” ของรัฐบาล ให้รัฐใช้มาตรการช่วยเหลือเป็นตัวนำทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน โดยอาศัยเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการรับมือต่าง ๆ โดยขณะนี้เห็นว่าภาคเกษตรของไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และเกษตรกรเริ่มจะตื่นตัวมากขึ้นว่าจะทำอะไรแบบเดิมไม่ได้แล้ว จึงควรใช้โอกาสนี้เร่งดำเนินการ
“ทำไมรัฐบาลไม่เอาเงินอุดหนุนต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรอยู่แล้ว ผูกเข้าไปกับเงื่อนไขการทำการเกษตร เพื่อให้เขาปรับตัว ซึ่งส่วนตัวมองว่าการเริ่มจากภาคการเกษตรมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะเราจำเป็นที่จะต้องยกเครื่องภาคเกษตรอยู่แล้ว รวมถึง SMEs และอุตสาหกรรม อะไรที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ภาครัฐอยากสนับสนุนให้ใช้ รัฐบาลควรใช้มาตรการจูงใจ ซึ่งอาจจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่วนเรื่องการปรับหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่นั้น ต้องพูดคุยกันว่าภาษีที่ดิน ควรต้องมีการรื้อกันใหม่หรือไม่ จะต้องมีการคิดอัตราต่าง ๆ อย่างไร ใช้การเปลี่ยนแปลงตรงนี้จูงใจให้เกิดพื้นที่ซับน้ำ โครงสร้างพื้นฐานเขียว สีน้ำเงิน เพื่อมารองรับในเรื่องของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เมือง ข้อเสนอต่าง ๆ เหล่านี้แม้ว่าหลายเรื่องต้องไปปรับรื้อโครงสร้าง แต่การนำเงินช่วยเหลือปัจจุบันมาเพิ่มเงื่อนไขให้ปรับตัวเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันที” อดีตนายกรัฐมนตรีระบุ
“พัฒนาทุนมุนษย์” รับโลกรวน
“มนุษย์คือคนที่จะต้องแก้ไขปัญหา เพราะฉะนั้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับมนุษย์ การลงทุนใน “ทุนมนุษย์” (Human Capital) มีความสำคัญมากที่สุด ควรให้ความรู้แก่ประชาชน ทุกวันนี้มีคนหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมธรรมชาติถึงเป็นแบบนี้ แล้วใช้ชีวิตอยู่ตามปกติ เหมือนกับเรานั่งบนกิ่งไม้แล้วมือหนึ่งกำลังใช้มือเลื่อยกิ่งไม้อยู่ มันจะหักลงวันไหนก็ไม่รู้ นี่คือความเปราะบาง” รมว.พม.ระบุ
รมว.พม. ย้ำว่า การลงทุนในคนสามารถตอบโจทย์กับการรับมือความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยให้ความรู้ให้คนได้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวันนี้มีสาเหตุมาจากอะไร และความเสี่ยงอะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว ซึ่งจะต้องทำทันที เพราะตอนนี้เหลือเวลา 4 ปี นับถอยหลังไปจุดที่โลกนี้จะไม่สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว
เหล่านี้คือความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศไทยให้ปรับตัวให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด