tdri logo
tdri logo
24 ธันวาคม 2024
Read in 5 Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอ จับมือ ETDA สำรวจภูมิทัศน์แพลตฟอร์มดิจิทัล นักวิชาการ ห่วงอำนาจแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้น กระทบสิทธิผู้ใช้บริการ แนะหาแนวทางกำกับดูแลเน้นสร้างสมดุล ต้องเสรีภาพ และมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการอาวุโส ด้านกฎหมายดิจิทัลและการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการกลั่นกรองเนื้อหา และการสำรวจภูมิทัศน์ดิจิทัลในปี 2567 ภายในงานแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายการกำกับดูแลบริการดิจิทัลในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้ใช้บริการดิจิทัล โดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

โดยดร.สลิลธร กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีความท้าทายที่เกิดจากการกลั่นกรองเนื้อหาในแพลตฟอร์มดิจิทัล เนื่องจากแพลตฟอร์มดิจิทัลถูกใช้เป็นช่องทางการสื่อสารในทุกมิติ แต่ที่ผ่านมาพบปัญหาทั้งการผลิตข้อมูลที่บิดเบือน เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการดูหมิ่นเกลียดชัง ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ใช้ทั่วโลกกำลังเผชิญ อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มดิจิทัลยังต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกและความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

ดร.สลิลธร ได้ยกตัวอย่าง การเลือกตั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งมีการสื่อสารทางการเมือง โดยพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างมาก แม้จะมีข้อดีที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น และยังเป็นช่องทางให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ในขณะเดียวกันแพลตฟอร์มดิจิทัลก็เป็นช่องทางใช้เผยแพร่ข้อมูลเท็จและการบิดเบือนได้ อย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น การเกิดขึ้นของข่าวปลอมในเวเนซุเอลาซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยใช้เอไอ และเผยแพร่ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งการตัดต่อคลิปเพื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้นำประเทศในสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ดร.สลิลธรชี้ว่า ความโปร่งใสและการถ่วงดุลอำนาจในพื้นที่ดิจิทัล กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา เนื่องจากปัจจุบันแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นผู้ควบคุมการมองเห็นเนื้อหาของผู้ใช้หลายพันล้านคนทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญว่าการกำกับดูแลเนื้อหาควรดำเนินการอย่างไรจึงจะเหมาะสม และแพลตฟอร์มควรมีความรับผิดชอบแค่ไหนหากเนื้อหาที่เผยแพร่ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยหลายๆประเทศมีการนำแนวคิดเรื่องข้อยกเว้นความรับผิดของตัวกลาง (Safe harbor) มาใช้ นอกจากนี้ มาตรฐานทางกฎหมายและวัฒนธรรมที่ไม่เท่ากัน ในแต่ละประเทศทำให้การกำกับดูแลมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเพราะดิจิทัลแพลตฟอร์มจำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทท้องถิ่น

การจัดการเนื้อหาออนไลน์ในสหรัฐอเมริกากำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญที่พูดถึงกันในหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา  ซึ่งหลายรัฐได้มีการผ่านกฎหมายเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ตัวอย่างเช่นกฎหมายของเท็กซัส (HB 20) ห้ามไม่ให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านคนต่อเดือนลบหรือเซ็นเซอร์เนื้อหาตามความคิดเห็นทางการเมืองของผู้ใช้1 หรือกฎหมายของฟลอริดา (SB 7072) มีเป้าหมายเพื่อกำกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยห้ามไม่ให้แพลตฟอร์มเหล่านี้ลบผู้สมัครทางการเมืองออกจากแพลตฟอร์ม และกำหนดให้มีความโปร่งใสในการจัดการเนื้อหา2 ขณะเดียวกัน นิวยอร์กและแคลิฟอร์เนีย ได้ออกกฎหมายเพื่อจัดการกับเนื้อหาที่เป็นอันตราย เช่น ข้อมูลเท็จและคำพูดแสดงความเกลียดชัง รวมถึงข้อกำหนดใหม่ในการรายงานความโปร่งใสของแพลตฟอร์มเกี่ยวกับนโยบายการจัดการเนื้อหา3

ทางฝั่งสหภาพยุโรปได้ออก “Digital Services Act” หรือ DSA ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญที่กำหนดมาตรฐานการดูแลเนื้อหาออนไลน์ใน 27 ประเทศสมาชิก กฎหมายนี้เน้นให้แพลตฟอร์มดิจิทัลยักษ์ใหญ่มีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยต้องรายงานความเสี่ยงและวิธีจัดการเนื้อหาที่อาจเป็นอันตราย ขณะเดียวกัน DSA ยังมีมาตรการสำคัญ เช่น การสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับการลบเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เหตุผลในการลบเนื้อหาเหล่านั้น และการดำเนินการที่แพลตฟอร์มได้ทำเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ DSA เพื่อให้สาธารณชนตรวจสอบการตัดสินใจของแพลตฟอร์ม

ดร.สลิลธร ยังกล่าวถึงการใช้เอไอเป็นเครื่องมือในการกำกับเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม ว่า การใช้เอไอในการกำกับเนื้อหายังมีปัญหาอยู่มาก ทั้งในเรื่องของ การเลือกปฏิบัติ หรืออคติของอัลกอริทึม หากมีการป้อนข้อมูลที่มีอคติ หรือชี้นำว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ทั้งที่ความเป็นจริงเนื้อหานั้นๆอาจอยู่ในขอบเขตของความมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น อีกความท้าทายหนึ่งคือการโปร่งใสการตัดสินใจของเอไอที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก ว่าเหตุใดเอไอลบเนื้อหาบางอย่าง แต่เนื้อหาบางอย่างที่เป็นอันตรายกลับไม่ถูกลบ และปัจจุบันเอไอ ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นคำพูดเสียดสี ประชดประชัน หรือคำพูดล้อเลียนเชิงตลก จึงเป็นอีกความท้าทายหนึ่งในการกำกับดูแลเนื้อหาในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะประเด็นความก้าวหน้าทางเอไอ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการตรวจสอบ

“การปฏิบัติถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และความร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์มกับหน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ตลอดจนความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศในการบังคับใช้กฎหมายมีความสำคัญมาก ดังนั้นการแบ่งปันข้อมูล ความเชี่ยวชาญของบุคลากรร่วมกันจึงจะสร้างความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ได้ ดร.สลิลธร ระบุ

      

เอไอพลิกโฉมโลก มูลค่าตลาดทะลุ 51 พันล้านเหรียญ แต่กลับ “ผูกขาด” ในมือบริษัทยักษ์ใหญ่ แนะไทยออกกฎเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

ด้านผศ.ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวระหว่างนำเสนอหัวข้อ “ทิศทางเกี่ยวกับตลาดบริการดิจิทัล เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและยั่งยืน”  โดยมองว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม การประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตประจำวันของเราไปอย่างสิ้นเชิงในอนาคตอันใกล้ คือการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นพื้นฐานในการให้บริการทางดิจิทัลแบบใหม่ ๆ ซึ่งในบริบทการแข่งขันของโลก จะพบว่าบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของปัญญาประดิษฐ์นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น Nvidia ใช้เวลาเพียง 3 ปีกระโดดจากที่ไม่ติดท็อปเท็นขึ้นมาเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม และการแข่งขันในตลาดอื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างหนึ่ง คือการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Langauge Model) เช่น GPT ที่เป็นพื้นฐานของ ChatGPT ซึ่งสามารถให้คำปรึกษา เรียนรู้ และช่วยตัดสินใจ และจะเริ่มถูกนำเข้ามาทดแทนการให้บริการจากผู้เชี่ยวชาญกลุ่มต่าง ๆ เช่น ทนายความ นักบัญชี และที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพราะฉะนั้น LLM หรือ Multimodal models เหล่านี้จะสร้างแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมการให้บริการดิจิทัล (digital services) ที่กว้างขวางกว่าที่โลกเราเห็นในทุกวันนี้มากในอนาคตอันใกล้

“ตลาดเอไอเติบโตเร็วมาก จากเดิมที่มีมูลค่า 11.3 พันล้านดอลลาห์สหรัฐในปี 2023 ผ่านมา 5 ปี ตอนนี้ตลาดมีมูลค่ามากกว่า 51.8 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ แต่พบว่ามีผู้ได้ประโยชน์ไม่กี่ราย ที่เป็นผู้คุมโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้  คำถามคือ แล้วเราจะกำกับดูแลอย่างไรให้เกิดประโยชน์” ผศ.ดร.พีรพัฒ ระบุ

ผศ.ดร.พีรพัฒ ระบุด้วยว่า แต่ละภูมิภาค และประเทศก็มีแนวทางในการกำกับดูแลเทคโนโลยีเหล่านี้แตกต่างกันไป ในหลายประเทศเริ่มจริงจังกับการให้จัดเก็บข้อมูลในประเทศ ไม่ให้ส่งออกข้อมูล (Data Localization)  เช่น PIPL ของจีน เพราะว่าหนึ่งในทรัพยากรการผลิตที่สำคัญของเอไอ ก็คือข้อมูล ในขณะที่กฎเกี่ยวกับเอไอของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน อย่างกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ก็เน้นกำกับตามความเสี่ยง ถ้าเอไอ มีความเสี่ยงสูงมากเกินไป ก็อาจถึงขั้นไม่ให้ผลิต หรืออาจมีหน้าที่ในการระมัดระวังที่มากกว่าเอไอ แบบอื่น ๆ ในขณะที่จีนใช้หลักจริยธรรมและค่านิยมของสังคม และการควบคุมโดยตรงของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น

ส่วนสหรัฐอเมริกาใช้ระบบตลาดโดยพยายามลดการแทรกแซง และปรับใช้กฎหมายเฉพาะเรื่อง เช่น สินค้าไม่ปลอดภัย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ จะทำยังไงให้เกิดการแข่งขันในตลาดเอไอที่มีลักษณะผูกขาดได้ง่าย เพื่อให้เทคโนโลยีถูกผลิตออกมาในลักษณะที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ หลายคนเห็นว่าควรสนับสนุนโมเดลปัญญาประดิษฐ์แบบเปิด (Open-source AI) และควรให้ภาคแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการออกแบบเอไอที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตนด้วย

“เรื่องพวกนี้ตอนนี้ในเวทีโลกเองก็มีการถกเถียงและหาข้อสรุปที่เหมาะสมกันอย่างต่อเนื่อง แต่ในระดับโลกเองก็ยังไม่มีทิศทางชัดเจนว่าควรไปทางไหน ประเทศไทยเอง ก็ควรเริ่มคิดถึงสภาพปัญหาและความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และหาแนวทางการกำกับดูแลตลาดดิจิทัลให้เหมาะสมกับบริบทของไทย เพื่อให้ไทยสามารถได้ประโยชน์จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุ

หมายเหตุ : เนื้อหาจากงานแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแล และการบังคับใช้กฎหมายการกำกับดูแลบริการดิจิทัลในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้ใช้บริการดิจิทัล ภายใต้โครงการประเมินผลสัมฤทธิ์และวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย โดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12, 13 และ 17 ธันวาคม 2567

ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการนำเสนอ ดร.สลิลธร

  1. [1] กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2021 อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้เผชิญกับความท้าทายทางกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่ง (First Amendment) ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาคดีนี้เพื่อกำหนดความชอบธรรมของกฎหมาย ↩︎
  2. [2] กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2021 อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ก็เผชิญกับความท้าทายทางกฎหมายเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่ง (First Amendment) ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาคดีนี้เพื่อกำหนดความชอบธรรมของกฎหมาย ↩︎
  3. [3]New York S.B. 4511A และ California A.B. 587 ↩︎


อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

เสรีภาพและพื้นที่ปลอดภัย :  กำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างไรให้ “สมดุล” (12 ธันวาคม 67)

กำกับบริการดิจิทัล ลดผูกขาด สู่แข่งขันที่เป็นธรรม (13 ธันวาคม 67)

กำกับดูแลบริการดิจิทัล ความท้าทายใหม่ที่ต้องร่วมมือ (17 ธันวาคม 67)

นักวิจัย

ดร. สลิลธร ทองมีนสุข
นักวิชาการอาวุโส

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด