ในยุคที่แพลตฟอร์มดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผู้ใช้งานต้องเผชิญกับความท้าทายและความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งความน่าเชื่อถือของเนื้อหา การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ บิดเบือน ข้อมูลที่ปลุกปั่นความรุนแรง ความเกลียดชัง การละเมิดสิทธิบุคคล ความโปร่งใส รวมไปถึงอิทธิพลของแพลตฟอร์มในการกำหนดการเข้าถึงเนื้อหา
ปัญหาเหล่านี้ทั่วโลกต่างพยายามแก้ไขเพื่อคุ้มครองผู้ใช้งานดิจิทัล อย่างเช่นในสหภาพยุโรป (EU) มีกฎหมาย Digital Services Act (DSA) ซึ่งเป็นแนวทางในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มที่ชัดเจน โดยเน้นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้และเสริมสร้างความโปร่งใสในแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ
เมื่อโลกขยับ แน่นอนว่าไทยจะต้องขยับตามให้เท่าทันกับสถานการณ์ และภูมิทัศน์ของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันจะต้องสร้างเครือข่ายความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การกำกับดูแล รวมทั้งกำหนดแนวทางเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จัดงานแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแล และการบังคับใช้กฎหมายการกำกับดูแลบริการดิจิทัลในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้ใช้บริการดิจิทัล ภายใต้โครงการประเมินผลสัมฤทธิ์และวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วม
ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการอาวุโส ด้านกฎหมายดิจิทัลและการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อการกลั่นกรองเนื้อหา และการสำรวจภูมิทัศน์ดิจิทัลในปี 2567 ว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความท้าทายที่เกิดจากการกลั่นกรองเนื้อหาในแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงความซับซ้อนในการรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออก และความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
ในสหรัฐฯ แต่ละรัฐมีวิธีการของตนเองในการกำกับดูแลเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม โดยพบว่าหลายรัฐในสหรัฐฯ เริ่มมีการผลักดันให้แพลตฟอร์มเปิดเผยนโยบายการกลั่นกรองเนื้อหา รวมทั้งให้แพลตฟอร์มมีช่องทางให้ผู้ใช้สามารถร้องเรียนเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายได้ และผู้ใช้งานสามารถโต้แย้งได้หากเนื้อหาถูกลบทิ้งโดยแพลตฟอร์ม ขณะที่บางรัฐห้ามแพลตฟอร์มจำกัดเนื้อหาหากเป็นการแสดงออกโดยสุจริตในทางการเมือง ส่วนสหภาพยุโรป มีกฎระเบียบที่ชัดเจนผ่าน DSA มุ่งปกป้องความปลอดภัยผู้ใช้งาน การปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบของออนไลน์แพลตฟอร์ม โดยมีการให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็ก และความโปร่งใสในการเลือกตั้ง
ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางคือบทบาทและอิทธิพลของแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่อผู้ใช้หลายพันล้านคนทั่วโลก ทั้งในการเพิ่มการมองเห็นของคอนเท้นท์และการจำกัดการมองเห็น และยังมีข้อถกเถียงถึงวามรับผิดชอบของแพลตฟอร์ม หากมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จว่าแพลตฟอร์มควรรับผิดด้วยหรือไม่เพียงใด อย่างไรก็ตามในหลายประเทศ รวมถึงอียู มีกฎหมายเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับการตัดสินใจของแพลตฟอร์ม แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าที่จะแก้ไขปัญหาโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นการแบ่งปันข้อมูล ความเชี่ยวชาญของบุคลากรร่วมกันจึงจะสร้างความปลอดภัยได้ และการดำเนินการจะให้เกิดประสิทธิภาพได้นั้น จะต้องอาศัยทรัพยากร รวมทั้งนวัตกรรม
ด้านนายปวีร์ เจนวีระนนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและเศรษฐกิจดิจิทัล นำเสนอแนวทางการพิจารณาการกำกับดูแล โดยมุ่งเน้นสร้างความสมดุลระหว่างนวัตกรรม และการกำหนดกฎเกณฑ์ ซึ่งการที่จะออกกฎเกณฑ์มากำกับแพลตฟอร์มนั้น จะต้องดูลักษณะของแพลตฟอร์ม และการบังคับใช้กฎหมายว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่
นอกจากนี้แพลตฟอร์มยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอทำให้ในอนาคตอาจจะเห็นธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม ที่ไม่ได้อยู่ในกำกับของกฎหมายในปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องมีกลไกตรวจสอบและพิจารณาปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ให้ตรงกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยในหลายประเทศใช้แนวทางการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นหลักในการดำเนินตามแนวปฏิบัติ และกรอบการกำกับดูแลของDSA เนื่องจากกรอบการกำกับดูแลของ DSA นั้นมีจุดเด่นอิงหลักฐาน และมีความยืดหยุ่นในระบบดิจิทัลตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พร้อมทั้งเน้นการคุ้มครองผู้ใช้งานและส่งเสริมการแข่งขันในระบบนิเวศดิจิทัล Digital Ecosystem
ขณะที่ Aislinn Lucheroni ผู้เชี่ยวชาญจาก European Commission เล่าถึงความเป็นมาและเป้าหมายของ DSA ว่า DSA ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สอดคล้องของกฎระเบียบดิจิทัลในสหภาพยุโรป 27 ประเทศ โดยสร้างกรอบการกำกับดูแลบริการดิจิทัลที่เป็นเอกภาพ โดยแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (VLOPs) และบริการค้นหาข้อมูลขนาดใหญ่ (VLOSEs) จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เข้มงวดขึ้นกว่าแพลตฟอร์มประเภทอื่น เพื่อจัดการความเสี่ยงในเชิงระบบ นอกจากนี้ DSA ยังเน้นการประเมินความเสี่ยง และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความโปร่งใส
อีกทั้งยังมีมาตรการสำคัญ เช่น การป้องกันเนื้อหาที่ถูกบิดเบือนข้อมูล และการสร้าง “ฐานข้อมูลโปร่งใส” ที่ให้สาธารณชนตรวจสอบการตัดสินใจของแพลตฟอร์ม โดยการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลระดับชาติและยุโรป ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความซับซ้อนของโลกดิจิทัล กฎหมายฉบับนี้เป็นต้นแบบสำหรับหลายประเทศในการพัฒนากฎระเบียบดิจิทัลที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญ จาก European Commission Julian Ringhof ยังกล่าวถึงความสำเร็จและความท้าทายของ DSA ที่แม้จะสามารถสร้างกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจนได้สำเร็จ ในปีแรกของการบังคับใช้ มีการกำหนดแพลตฟอร์ม VLOPs และ VLOSEs จำนวน 25 แห่ง และมีบันทึกข้อมูลการจัดการเนื้อหากว่า 2 พันล้านครั้งในฐานข้อมูล แต่ยังมีความท้าทายในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล และการบังคับใช้กฎหมายในแพลตฟอร์มที่มีความหลากหลาย
“DSA เป็นตัวอย่างของการมีข้อกำหนดให้แพลตฟอร์มต้องรายงานความโปร่งใสในกระบวนการกลั่นกรองเนื้อหา รวมถึงการประเมินผลกระทบต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่สร้างด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และการลดความเสี่ยงต่อความโปร่งใสของการเลือกตั้ง แนวทางนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ EU Commission ในการสร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยและยั่งยืน พร้อมเน้นการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับความท้าทายของยุคดิจิทัล” ผู้เชี่ยวชาญ จาก European Commission ระบุ
เหล่านี้เป็นบางส่วนของข้อคิดเห็น และประสบการณ์ ของผู้เชี่ยวชาญกฎหมายดิจิทัล ที่ผู้กำกับดูแลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดิจิทัลจะได้เรียนรู้แนวทางการดำเนินงานจากทั่วโลก โดยเฉพาะในเรื่องของการรักษาความสมดุลระหว่างความโปร่งใสและความปลอดภัยของผู้ใช้ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทยต่อไป
เอกสารประกอบการนำเสนอ ดร.สลิลธร
หมายเหตุ : การแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแล และการบังคับใช้กฎหมายการกำกับดูแลบริการดิจิทัลในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้ใช้บริการดิจิทัล ภายใต้โครงการประเมินผลสัมฤทธิ์และวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย โดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12, 13 และ 17 ธันวาคม 2567
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม
กำกับบริการดิจิทัล ลดผูกขาด สู่แข่งขันที่เป็นธรรม (13 ธันวาคม 67)
กำกับดูแลบริการดิจิทัล ความท้าทายใหม่ที่ต้องร่วมมือ (17 ธันวาคม 67)
ทีดีอาร์ไอ จับมือ ETDA สำรวจภูมิทัศน์แพลตฟอร์มดิจิทัล (ข่าว)