tdri logo
tdri logo
24 ธันวาคม 2024
Read in 5 Minutes

Views

กำกับดูแลบริการดิจิทัล ความท้าทายใหม่ที่ต้องร่วมมือ

แพลตฟอร์มดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในหลากหลายตลาด โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ แพลตฟอร์ม Ride-hailing อย่าง Grab Line man  Bolt ที่เชื่อมโยงกับตลาดขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงแพลตฟอร์มกลุ่ม e-Commerce อย่าง Shopee  Lazada ที่ครอบคลุมตลาดนัดและห้างสรรพสินค้า สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนและคาบเกี่ยวกันระหว่างแพลตฟอร์มดิจิทัลกับธุรกิจในหลายภาคส่วน

ดังนั้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม การกำกับดูแลจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานงานกับองค์กรในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เนื่องจากแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่มักดำเนินธุรกิจในหลายประเทศ การสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลและบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญยิ่ง 

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จัดงานแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดองค์ความรู้ ในหัวข้อ “แนวทางและความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือเพื่อจัดทำกรอบการกำกับดูแลบริการดิจิทัล” ภายใต้โครงการประเมินผลสัมฤทธิ์และวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย ในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 เพื่อ ให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในภาครัฐของไทยในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล และออกแบบแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์ม  

โดยเวทีเสวนาหัวข้อ “การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล”  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย คุณศุภจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนากฎหมาย ETDA เรืออากาศเอก ดร. ชินวัฒน์ หรยางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างและระบบธุรกิจสินค้าบริโภค สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) และคุณฐากูร แก้วใส นิติกรชำนาญการกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยมีดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และหัวหน้าโครงการเป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณศุภจิตรา ได้อธิบายถึงโครงสร้างและการใช้บังคับ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 รวมทั้งหลักการเบื้องหลังในการออกแบบกฎหมายฉบับดังกล่าว ให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ พร้อมเน้นย้ำว่า ETDA ตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลดั้งเดิม เพื่อกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่าง ETDA กับ กระทรวงพาณิชย์ ในการกำกับดูแล e-Marketplace  

ด้านเรืออากาศเอก ดร.ชินวัฒน์ กล่าวถึงเครื่องมือที่สำนักงาน กขค. ใช้ในปัจจุบัน ว่า มีทั้งการกำกับดูแลเชิงโครงสร้าง ที่เป็นการกำกับดูแลก่อนเหตุการณ์ (ex-ante) เช่น การควบคุมการเข้าควบรวมกิจการ และการกำกับดูแลพฤติกรรม ที่เป็นการกำกับดูแลหลังเกิดเหตุการณ์ (ex-post) ซึ่งจะดำเนินการหลังมีพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน โดยที่กฎหมาย Digital Market Act ของสหภาพยุโรป เป็นการกำกับดูแลเชิงพฤติกรรมไปดำเนินการแบบก่อนเกิดเหตุ (อ่านเพิ่มเติม) ซึ่งส่วนตัวมองว่าการจะออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว จำเป็นต้องมีการศึกษาให้ครอบคลุมก่อน

เรืออากาศเอก ดร.ชินวัตร ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน กขค. มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลในธุรกิจที่แตกต่างกันอยู่บ่อยครั้ง ทั้งการกำกับดูแลสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ หรือ การบินพลเรือนในการกำกับดูแลการแข่งขันของสายการบินต่าง ๆ ส่วนในมิติดิจิทัลปัจจุบันได้มีความร่วมมือกับ ETDA  อยู่ตลอด และกำลังหารือเพื่อหาแนวทางในการเข้าไปกำกับดูแลธุรกิจดั้งเดิมอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ร่วมกับผู้กำกับดูแลดั้งเดิม 

ขณะที่คุณฐากูร แลกเปลี่ยนมุมมองในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจแบบดั้งเดิม ว่า ได้ร่วมมือกับ ETDA ในการกำกับดูแลแอปพลิเคชันเรียกรถรับส่ง โดยเริ่มจากสภาพปัญหาที่ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการที่ดีพอให้ผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันยังนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ ซึ่งในปัจจุบันทาง ขบ. ก็ได้มีความร่วมมือกับ ETDA ในการออกแบบกฎระเบียบสำหรับกำกับดูแลแอปพลิเคชันเรียกรถรับส่งให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยได้มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าตอนนี้กฎระเบียบดังกล่าวจะไม่มีความทับซ้อนกับกฎอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม ดังนั้นจะไม่สร้างภาระมากให้กับผู้ประกอบการ 

คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยด้านข้อมูล

ขณะที่การนำเสนอของ Dr. Chen Hung-yi ผู้ก่อตั้ง และ Meta Intelligence & Arbitrator จาก Thai Arbitration Institute ในหัวข้อเกี่ยวกับการพัฒนาของ Generative AI ที่จะเข้ามากระทบต่อธุรกิจ การประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตของประชาชน โดย Dr. Chen ชี้ว่าปัจจุบันมีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่พัฒนาโมเดล AI แบบปิด (Proprietary Models) ซึ่งอาจจำกัดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาในอุตสาหกรรม AI ดังนั้น แนวทางที่ควรนำมาใช้คือการสนับสนุน มาตรฐานแบบเปิด (Open Standards) เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนา AI 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ การออกแนวทางจริยธรรมและกฎระเบียบที่ชัดเจน เพื่อคำนึงถึงความโปร่งใส ความยุติธรรม และความรับผิดชอบของแพลตฟอร์ม  ซึ่ง Dr.Chen เน้นถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยด้านข้อมูล (Data Privacy and Security) โดยกล่าวว่า ผู้กำกับดูแลต้องสร้างกฎระเบียบที่ทำให้มั่นใจว่าข้อมูลของผู้ใช้งานจะไม่ถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงบทบาทของนโยบายในการสร้างความสมดุลระหว่าง การพัฒนานวัตกรรม และการปกป้องสิทธิของผู้ใช้งาน เพื่อให้แพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนและมีความเป็นธรรมในระยะยาว 

กฎหมายที่แตกต่าง: ความท้าทายเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน

ด้าน Ms.Mara Angeli Tolosa VILLEGAS ผู้อำนวยการ PricewaterhouseCooper (PwC) และอาจารย์ประจำ Siliman University นำเสนอเนื้อหาในหัวข้อ “แนวโน้มของกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับเรื่องการกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประโยชน์และผลกระทบ” โดยแสดงแนวโน้มความท้าทายของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เติบโตที่รวดเร็วและต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาและประเด็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งต่อตัวผู้ใช้บริการ ภาครัฐ และความสงบเรียบร้อยของสังคม ตลอดจนกฎหมายกฎระเบียบที่ประเทศต่าง ๆ ใช้บังคับเพื่อรับมือกับสภาพปัญหาดังกล่าว  

ผู้อำนวยการ PwC ระบุด้วยว่า จากการที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มใช้กฎหมายที่แตกต่างกันในภูมิภาค ทำให้แพลตฟอร์มที่ให้บริการในหลายประเทศ มีภาระต้นทุนที่สูงขึ้นหากกฎหมายของแต่ละประเทศไม่มีความสอดคล้องกัน ดังนั้น การออกแบบให้กฎหมายกฎระเบียบมีความสอดคล้องกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำว่าการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพไม่ได้มาจากการออกกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับการสื่อสารที่ชัดเจน โปร่งใส และมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ทดลองทางกฎหมาย (regulatory sandbox) และการสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยระหว่างผู้กำกับดูแล และผู้พัฒนานวัตกรรมจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องผู้ใช้งานและการสนับสนุนนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืนในอนาคต 

การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลของไทยทั้งในธุรกิจแบบดั้งเดิม และธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้รับรู้และเท่าทันสถานการณ์รวมถึงความท้าทายในประเทศ และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้การกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 


หมายเหตุ : การแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแล และการบังคับใช้กฎหมายการกำกับดูแลบริการดิจิทัลในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้ใช้บริการดิจิทัล ภายใต้โครงการประเมินผลสัมฤทธิ์และวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย โดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12, 13 และ 17 ธันวาคม 2567

อ่านเนื้อหาเพิ่มเติม

เสรีภาพและพื้นที่ปลอดภัย :  กำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างไรให้ “สมดุล” (12 ธันวาคม 67)

กำกับบริการดิจิทัล ลดผูกขาด สู่แข่งขันที่เป็นธรรม (13 ธันวาคม 67)

ทีดีอาร์ไอ จับมือ ETDA สำรวจภูมิทัศน์แพลตฟอร์มดิจิทัล (ข่าว)

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด