tdri logo
tdri logo
10 มกราคม 2025
Read in 5 Minutes

Views

เด็กไทยในคำขวัญ จะไม่เป็นแค่ฝัน ต้องปรับระบบการศึกษา

“ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” เป็นคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ. 2568 ที่นายกรัฐมนตรี มอบให้กับเด็กไทย

คำขวัญวันเด็กแห่งชาติในแต่ละปี มักสะท้อนความคาดหวังของผู้บริหารประเทศต่อเด็กไทย ในด้านคุณลักษณะหรือพฤติกรรมที่พึงมี บางครั้งแฝงการสั่งสอนหรือเตือนสติ แต่กระนั้นสำหรับคำขวัญวันเด็กปีนี้กลับโดดเด่น แตกต่างไปจากคำขวัญวันเด็กในอดีต โดยเปลี่ยนจากการออกแบบ “คุณลักษณะ” ให้เด็กประพฤติตาม ไปเป็นการกระตุ้นให้พวกเขามองหาโอกาส เรียนรู้จากสิ่งรอบตัว และพัฒนาตัวเองสู่อนาคตที่ตนเองเลือก

“ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้”

การเรียนรู้โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ผ่านวิธีที่หลากหลายมีความสำคัญ เนื่องจากความรู้ไม่ได้อยู่เพียงในห้องเรียน หรือในระบบเพียงอย่างเดียว แต่การเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือ platform ต่าง ๆ ช่วยให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงความรู้ใหม่ ๆ และมีทางเลือกในการเลือกวิธีเรียนรู้ที่เหมาะกับตนเองมากยิ่งขึ้น

“พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง”

ส่วนนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ทางการศึกษาที่เด็กต้องปรับตัวเพื่อรับมือความท้าทายใหม่ ๆ และสามารถกำหนดเส้นทางชีวิตตนเองได้ หรืออีกนัยยะหนึ่ง คือการพัฒนาเด็กให้เติบโตมาเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learner) แม้คำขวัญนี้ดูเหมือนจะมุ่งสื่อสารถึงเด็กโดยตรง แต่ในความเป็นจริงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกช่วงวัยได้

นั่นจึงทำให้คำขวัญวันเด็กแห่งชาติในปีนี้มีความน่าสนใจ และคงจะเป็นเรื่องดียิ่ง หากระบบการศึกษาสามารถบรรลุภาพฝันตามคำขวัญที่มอบโดยนายกรัฐมนตรี แต่คำถามสำคัญ คือ “ระบบการศึกษาไทย” พร้อมมอบโอกาสการเรียนรู้ และพัฒนาผู้เรียนให้พร้อมปรับตัวได้มากน้อยเพียงใด

“ความฝัน” กับ “ความจริง”

แม้ว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้” แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับโอกาสนั้น

ด้วยเพราะการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทยยังมีความแตกต่างกันสูงมาก ข้อมูลจากสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ว่า กลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุดหรือกลุ่มที่มีกำลังจ่ายสูงสุดร้อยละ 10 ของประชากรไทย  เข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (รวม ปวช.) ร้อยละ 83  และระดับปริญญาตรี (รวม ปวส.) ร้อยละ 71 

ในขณะที่กลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด หรือกลุ่มที่มีกำลังจ่ายน้อยที่สุดร้อยละ 10 ของประชากรไทย ได้เข้าเรียนแต่ละระดับเพียงร้อยละ 46 และร้อยละ 6 (ตามลำดับ)เท่านั้น

ส่วนการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น พิพิธภัณฑ์ หอศิลปะ ศูนย์ฝึกอาชีพ และห้องสมุด ก็ยังเป็นอุปสรรคเช่นกัน จากการสำรวจโดย “คิด for คิดส์” พบว่า เยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี กว่าร้อยละ 40 ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้เหล่านี้

ในหมู่เด็กที่เข้าถึงโอกาสเองก็ยังขาดทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Directed Learning) ซึ่งสะท้อนผ่านผลสำรวจนักเรียนไทยอายุ 15 ปีจากผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) 2022 ที่มีทั้งหมด 81 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วม พบว่า

ร้อยละ 45 ไม่มั่นใจในการวางแผนการบ้านด้วยตนเอง (อันดับ 5 จากท้าย)

ร้อยละ 50 ไม่สามารถค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากอินเทอร์เน็ต (อันดับ 7 จากท้าย)

ร้อยละ 55 ไม่สามารถประเมินคุณภาพข้อมูลที่ค้นพบได้ (อันดับ 6 จากท้าย)

สำหรับในด้านการปรับตัว มีเด็กไทยกว่าครึ่งที่รู้สึกว่าตนเองปรับตัวไม่ดีเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์เปลี่ยนแปลง (PISA 2018) ซึ่งสะท้อนถึงความท้าทายที่ต้องพัฒนาเพื่อเตรียมเด็กไทยให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

จากคำขวัญ สู่ปฏิรูปการศึกษา

โจทย์ใหญ่…จะทำอย่างไรให้ “ความฝัน” กลายเป็น “ความจริง” ?

แน่นอนว่าจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา โดยผู้เขียนมีข้อเสนอ 4 ประการ ดังนี้

1. ปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้บ่อยครั้งขึ้น หลักสูตรแกนกลางฯ ถูกบังคับใช้มาเกือบ 17 ปี ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลานาน จึงควรมีการปรับหลักสูตรให้มีเป้าหมายการเรียนรู้ที่ทันสมัย โดยเฉพาะการมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เกิด “สมรรถนะ” ที่จำเป็น อย่างการปรับตัว การเรียนรู้ด้วยตนเอง และทักษะดิจิทัล ขณะเดียวกันควรมีการทบทวนหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยทุก 6 ปี เพื่อให้หลักสูตรยังสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก

2. เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ และการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกระบบ รัฐควรลงทุนเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยอาจยึดแนวทาง “เมืองแห่งการเรียนรู้” ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นชุดนโยบายเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งการเปิดโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday school)  เป็นพื้นที่กิจกรรม การร่วมมือกับภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาและจัดกิจกรรมที่ห้องสมุด หอสมุด สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ในชุมชน

3. เร่งพัฒนาธนาคารหน่วยกิต ที่ช่วยให้ผู้เรียนสะสมผลลัพธ์การเรียนรู้จากทุกโอกาส และนำมาใช้เป็นใบเบิกทางในการศึกษาต่อ ซึ่งควรได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตแล้ว ถือได้ว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกในการผลักดันแนวคิดนี้อย่างจริงจัง

4. ปรับบทบาทครูสู่ผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ครูควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้มาเป็นผู้สนับสนุน และกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน โดยทำหน้าที่อำนวยความสะดวก (Facilitate) และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย นำพานักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Directed Learning) เช่น การนำสิ่งที่เรียนไปประยุกต์ใช้กับปัญหาจริงนอกห้องเรียน ระบบการผลิตพัฒนาและการคัดเลือกครู โดยครูควรถูกออกแบบให้สอดคล้องกับบทบาทใหม่นี้

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของหนทางที่จะช่วยให้เด็กไทยมีโอกาสเรียนรู้ และเติบโตอย่างเต็มศักยภาพในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญยังทำให้  “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” เกิดขึ้นกับเด็กไทยทุกคนตามคำขวัญวันเด็กในปีนี้

บทความโดย : ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด