การที่ภาครัฐมีมาตรการตรึงราคาค่าไฟ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการบิดเบือนราคาไฟฟ้าได้ส่งผลกระทบหลายด้าน เช่น การยืดหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ส่งผลให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องและอาจไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ได้ นอกจากนี้ยังไม่เป็นการสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานของประชาชนและอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กที่ต้องเผชิญปัญหาราคาขายไฟกับต้นทุนการผลิตไม่สอดคล้องกัน
ดังนั้นโครงการศึกษาส่วนแรกมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาความเป็นไปได้ในปรับโครงสร้างราคาค่าไฟให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมอย่างรอบด้าน ทั้งต่อผู้ผลิตไฟฟ้า และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมไปถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาโครงสร้างราคาค่าไฟเพียงอย่างเดียวแก้ไขปัญหาด้านราคาได้ แต่เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นและไม่ครอบคลุมถึงความยั่งยืนในการสนับสนุนไฟฟ้าสะอาด ประเทศไทยและภาคอุตสาหกรรมต้องการไฟฟ้าสะอาดมากขึ้นเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น การแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืนควรจะมีการปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อเพิ่มการใช้ไฟฟ้าสะอาด แนวทางหนึ่งคือการเพิ่มการแข่งขันในตลาดไฟฟ้า ในขณะที่ภาครัฐยังคงต้องดูแลรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในช่วงแรก
ดังนั้นโครงการศึกษาส่วนที่สองนั้นมีวัตถุประสงค์ในเสนอแนวทางการปฏิรูประบบไฟฟ้าให้เป็นรูปแบบเสรีด้วยไฟฟ้าสะอาด รวมถึงแนวทางการเปิดสิทธิ์เสรีสายส่ง การคิดค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่อสายส่งและศึกษาถึงผลกระทบต่อค่าไฟในตลาดไฟฟ้าเสรี