tdri logo
tdri logo
19 กุมภาพันธ์ 2025
Read in 5 Minutes

Views

คอลัมน์ TDRI Guest’s Contribution: ทางเลือกนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้การบริหารสมัยที่สองของประธานาธิบดีทรัมป์

ริชาร์ด แยร์โร่ว์ (Richard Yarrow)1

Research Fellow, Harvard Kennedy School, Harvard University

Former Visiting Fellow, Thammasat University

ประเทศในเอเชียกำลังจับตามองอย่างวิตกกังวลต่อการเริ่มต้นวาระที่สองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

โดยความกังวลสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น คำขู่ของทรัมป์เรื่องการขึ้นภาษีนำเข้า การคว่ำบาตรทางการค้าจะลุกลามมากน้อยเพียงใด? และสงครามการค้านี้จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจของอาเซียน ที่แม้จะขยายตัวแต่ก็เต็มไปด้วยความเปราะบาง?

ประเทศไทยก็ไม่เป็นข้อยกเว้น ในปีที่ผ่านมาประมาณ 20% ของการส่งออกของไทยเป็นการส่งไปที่สหรัฐอเมริกา ทำให้ไทยเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากเป็นอันดับ 5 ในเอเชีย (ตามหลังเพียงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม) การที่ทรัมป์ไม่พอใจต่อการขาดดุลของสหรัฐฯต่อประเทศต่าง ๆ อาจทำให้เขามุ่งเป้าหมายมาที่การส่งออกของไทย รายงาน Project 2025 ของมูลนิธิ Heritage Foundation ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งใน 6 ประเทศที่รัฐบาลทรัมป์ควรจับตามองเพื่อลดการขาดดุลการค้า2

ที่ปรึกษาบางคนของทรัมป์ยังเสนอให้มีการเชื่อมโยงเป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจให้มากขึ้น ที่ผ่านมาไทยได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน เช่น การฝึกอบรมทางทหาร การซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์จากสหรัฐ อย่างไรก็ตาม หากที่ปรึกษาของทรัมป์ให้ความสำคัญกับการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐฯ ผนวกกับความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางทหารที่แนบแน่นขึ้นระหว่างไทยกับจีน ก็เป็นไปได้ว่ารัฐบาลชุดใหม่อาจลดการมีส่วนร่วมกับกองทัพไทยก็เป็นได้

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไทยยังไม่ได้ถูกเพ่งเล็งจากทรัมป์ในด้านนโยบายต่างประเทศ เช่น เรื่องการค้า เนื่องจากทรัมป์ และที่ปรึกษามุ่งเน้นไปที่จีน เวียดนาม มาเลเซีย แคนาดา และเม็กซิโก ก่อน (แม้ว่ารายชื่อประเทศที่อยู่ในข่ายพิจารณาอาจขยายออกไปเมื่อทรัมป์เข้าบริหารเต็มตัว) ส่วนหนึ่งอาจเพราะเราไม่ได้เป็นประเทศเอเชียแรก ๆ ที่ถูกนึกถึง ดูจากการที่ในวาระแรกของทรัมป์ เขาไม่เคยเดินทางมาไทยเลย แต่ได้ไปเยือนสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนผู้นำระดับสูงของไทยก็เคยเดินทางเยือนวอชิงตัน ดี.ซี. เพียงครั้งเดียว3

สถานการณ์นี้อาจหมายความว่า ไทยมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ เป็นพิเศษ มาตรการภาษีต่อไทยก็อาจเป็นเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยไม่ถูกตั้งเป้าโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการไม่ได้รับความสนใจอาจช่วยบรรเทาความกังวลของผู้ส่งออกและกองทัพไทยในระยะสั้น แต่ไม่ใช่แผนที่ดีในระยะยาว เพราะการไม่มีบทบาทสำคัญในสายตาของสหรัฐฯ อาจส่งผลเสียต่อการลงทุน และการสนับสนุนด้านภูมิรัฐศาสตร์จากสหรัฐฯ ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่เผชิญกับหลายปัญหาหลายประการ ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับต่ำต่อเนื่อง การไม่มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มากพอ มีข้อพิพาทด้านน่านน้ำทะเล และล้อมรอบไปด้วยสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน การไม่ได้รับความสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่อไทย       

หนึ่งในแนวทางที่กระทรวงการต่างประเทศไทยเสนอคือให้บริษัทไทยลงทุนเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ เพื่อสร้างความพอใจให้สหรัฐฯ แต่กระนั้นข้อเสนอดังกล่าวนี้อาจเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากนักการเมืองทั้งจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันในวอชิงตันมองว่าการลงทุนจากต่างประเทศเป็นเหรียญอีกด้านของความไม่สมดุลของดุลการค้า เสมือนกับการเกินดุลกับสหรัฐฯนั่นเอง4  นักการเมืองสหรัฐฯจึงเสนอมาตรการในการลดการลงทุนจากต่างประเทศลง5

ดังนั้น คำมั่นของไทยในการเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ อาจถูกมองว่าเป็นการเพิ่มการเกินดุลการค้าของไทยมากกว่า

อีกประการประเทศไทยซึ่งยังคงขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาอย่างหนัก การนำเงินทุนไทยไปลงทุนในตลาดสินทรัพย์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีเงินทุนล้นเหลือจนถึงขั้นจัดสรรงบประมาณมหาศาลไปยังคริปโทเคอร์เรนซี ก็ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นด้านการพัฒนาของไทยเองด้วย

กลยุทธ์อีกแนวทางหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงเป็นบางครั้ง คือการชะลอการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของจีนในไทย เพื่อสร้างสมดุลระหว่างพันธะของรัฐบาลไทยต่อสหรัฐฯและจีน แนวทางนี้อาจสมเหตุสมผลในแง่การเงิน เช่นคงเป็นไปได้ยากที่การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงในภาคอีสานที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากไทยเพื่อเชื่อมต่อไปยังลาวจะสามารถคืนทุนได้ อย่างไรก็ตาม การชะลอโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีนทั้งหมดในประเทศไทย อาจไม่ได้ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินการดังกล่าว

แต่ไทยควรใช้ประโยชน์จากการลงทุนของจีนได้มากกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะหากจีนช่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ เช่น ถนน รถไฟ ท่าเรือ ซึ่งไทยมีอำนาจในการควบคุมการใช้งานได้โดยไม่ต้องสนใจว่าใครเป็นผู้สร้าง (ไม่เหมือนการลงทุนของจีนในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี) และการส่งเสริมแนวทางนี้ก็ไม่กระทบความสัมพันธ์กับตะวันตกด้วย

ก้าวแรกสู่ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ดีกว่า

ประเทศไทยจะเตรียมพร้อมรับมือกับการบริหารของทรัมป์อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ?

มี 3 แนวทางหลักที่ควรดำเนินการ โดยเรียงตามระดับความยากและความซับซ้อนจากง่ายไปยาก ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาด้านการค้า และการผลิตที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจีน 2.การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าที่เหมาะสม และ3.การเปิดเสรี หรือผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แนวทางเหล่านี้อาจไม่เป็นที่พึงพอใจ หรืออาจกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน และนักการเมืองบางกลุ่มในประเทศไทย แต่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว รวมถึงลดความเสี่ยงของสงครามการค้า และมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ ในระยะสั้นถึงกลางได้ ซึ่งรายละเอียดของแต่ละมาตรการมีดังนี้

การจัดการการส่งออกสินค้าจีนผ่านประเทศไทย

ประการแรก รัฐบาลไทยควรเร่งติดตาม และตรวจสอบการถ่ายโอนเส้นทางการค้าของผู้ผลิตจีนที่ดำเนินธุรกิจผ่านประเทศไทยแต่ไม่ได้ตั้งฐานการผลิตเต็มรูปแบบในประเทศ พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับของไทยที่มีอยู่ให้เคร่งครัด ปัจจุบันทางการวอชิงตันมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วว่า สินค้าจากจีนกำลังถูกถ่ายโอนผ่านประเทศอย่างเวียดนามและมาเลเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีและข้อจำกัดทางการค้าของสหรัฐฯ หากไทยดำเนินการอย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการถูกจัดกลุ่มรวมกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ ในประเด็นนี้ และลดความเสี่ยงจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากสหรัฐฯ ได้

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าสินค้าของไทยจากจีนและการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและน่าประหลาดใจ ตามที่รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์และ ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ ได้ระบุไว้ สัดส่วนของจีนในมูลค่าการนำเข้าของไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในระยะเวลาเพียง 5 ปี โดยการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 130,000 ล้านบาทต่อเดือนในปี 2562 เป็น 250,000 ล้านบาทต่อเดือนในช่วงปลายปี 2567 การเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้ชัดในสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น รถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ยังเด่นชัดในชิ้นส่วนเทคโนโลยีและสินค้าทางอุตสาหกรรม โดยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา การส่งออกของจีนมายังไทยในหมวดต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

•            คอมพิวเตอร์ อะไหล่ และอุปกรณ์เสริม เพิ่มขึ้นประมาณ 63% เป็น 15,000 ล้านบาทต่อเดือน

•            เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมและอะไหล่ เพิ่มขึ้นประมาณ 87% เป็น 21,000 ล้านบาทต่อเดือน

•            ผลิตภัณฑ์พลาสติก เพิ่มขึ้น 90% เป็น 8,000 ล้านบาทต่อเดือน

•            อุปกรณ์โทรคมนาคมและอุปกรณ์เสริม เพิ่มขึ้นประมาณ 118% เป็น 11,000 ล้านบาทต่อเดือน

•            อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 186% เป็น 16,000 ล้านบาทต่อเดือน

•            เครื่องจักรไฟฟ้าสำหรับโทรคมนาคม เพิ่มขึ้นประมาณ 189% เป็น 8,000 ล้านบาทต่อเดือน6

ตัวเลขเหล่านี้อาจยังไม่สะท้อนถึงสินค้าทั้งหมดที่ไทยนำเข้าจากจีน เนื่องจากการนำเข้าจากฮ่องกงถูกนับแยกต่างหาก โดยมูลค่าการนำเข้าของไทยจากฮ่องกงเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับระดับในปี 2562

การเพิ่มการนำเข้าจากจีนสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจาก 81,000 ล้านบาทต่อเดือนในปี 2562 เป็นประมาณ 170,000 ล้านบาทต่อเดือนในช่วงปลายปี 2567 (ในขณะที่การส่งออกของไทยไปยังจีนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าคือจาก 75,000 ล้านบาทเป็น 103,000 ล้านบาทต่อเดือน ในช่วงเวลาเดียวกัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกเครื่องประมวลผลข้อมูล (Data processing machines)และชิ้นส่วน ไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว เป็น 34,000 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่การส่งออกโทรศัพท์ไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 14 เท่า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของการส่งออกเหล่านี้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าประเภทเดียวกันจากจีนมายังไทย

สถานการณ์เช่นนี้จะสมเหตุสมผลก็ต่อเมื่อประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการขยายตัวของอุตสาหกรรมใหม่ หรือเกิดการฟื้นตัวทางอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ แม้ว่าการค้าของไทยจะขยายตัวอย่างมาก แต่การจ้างงานภาคการผลิตยังคงชะงักอยู่ที่ประมาณ 6.3 ล้านคน สัดส่วนต่อ GDP ของภาคอุตสาหกรรม ก็ไม่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2564 ขณะที่การลงทุนถาวรในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นไม่ถึง 5% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2564 และลดลงในช่วงปี 2567 อีกทั้งแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ก็อ่อนแอลง นอกจากนี้ ยังมีข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ดีเกี่ยวกับภาคการผลิตทั่วประเทศ

หากประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตในไทยอย่างแท้จริง เหตุใดการจ้างงานในภาคการผลิตและการลงทุนจึงยังคงซบเซา? คำอธิบายที่เป็นไปได้สำหรับข้อมูลที่ขัดแย้งกันคือ

อุตสาหกรรมจีนบางส่วนอาจใช้ไทยเป็นช่องทางในการส่งต่อสินค้าไปยังประเทศตะวันตก โดยมีการผลิตหรือมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในไทยเพียงเล็กน้อย การใช้เส้นทางส่งออกผ่านไทยของสินค้าจีนเช่นนี้ไม่ได้สร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทยหรือแรงงานไทยมากนัก แต่กลับทำให้ไทยดูเหมือนมีดุลการค้าเกินดุลสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรหรือข้อจำกัดที่กระทบกับอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริงในประเทศไทยโดยใช้แรงงานไทย

แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าการเปลี่ยนเส้นทางการค้านี้ส่งผลต่อยอดการค้าต่างประเทศของไทยมากเพียงใด แต่การตรวจสอบ และการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับการใช้ห่วงโซ่อุปทานและแรงงานภายในประเทศ จะช่วยลดความเสี่ยงของไทยจากสงครามการค้าโดยไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณให้สหรัฐฯ เห็นว่าไทยมีความจริงจังในการจัดการปัญหาความสมดุลทางการค้าและการเปลี่ยนเส้นทางการค้าจากจีน

ประการที่สอง รัฐบาลไทยควรเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์ให้ความสำคัญมากกว่าการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดเศรษฐกิจของไทยที่เล็กกว่า และมีศักยภาพค่อนข้างจำกัดในการบริโภคสินค้ามูลค่าสูงจากสหรัฐฯ จึงไม่สามารถเพิ่มการนำเข้าในทุกกลุ่มสินค้าได้อย่างรวดเร็วตามที่ทำเนียบขาวต้องการ แต่ไทยสามารถเลือกเพิ่มการนำเข้าสินค้าบางกลุ่มที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกันด้วย

เรื่องที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือการลดข้อจำกัดด้านการนำเข้าสินค้าเกษตร (รวมถึงที่นำเข้าจากสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความตึงเครียดกับสหรัฐฯ มาโดยตลอด และเป็นข้อกังวลหลักของทรัมป์ซึ่งต้องพึ่งพาฐานเสียงจากกลุ่มเกษตรกรในชนบท

การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของเกษตรกรไทย เนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น แต่ก็มีประโยชน์หลายด้านด้วย เช่น หากการค้าสินค้าเกษตรขยายตัวในลักษณะที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง เป็นการเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภคไทย นอกจากนี้ ยังอาจช่วยลดปัญหาการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศร้ายแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ อีกทั้งยังสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยกระตุ้นให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชเฉพาะทางที่มีมูลค่าสูงขึ้น หรือเปลี่ยนไปทำงานในภาคเมืองมากขึ้น เนื่องจากไม่มีประเทศใดสามารถก้าวไปสู่ความมั่งคั่งได้ ในขณะที่ยังคงมีแรงงานระหว่างหนึ่งในสี่ถึงหนึ่งในสามของประเทศที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ดังเช่นที่เกิดขึ้นในไทยตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา7

การขยายโครงการทุนการศึกษาของไทยในสหรัฐฯ

อีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ คือการขยายโครงการทุนการศึกษาของไทย ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้น ‘การส่งออก’ ภาคบริการของสหรัฐฯ รัฐบาลของสิงคโปร์ ฮ่องกง และจีนได้ใช้โครงการทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาภาคราชการ และภาคอุตสาหกรรม ที่สำคัญได้ผลดีอย่างน่าทึ่ง

ส่วนประเทศไทยที่มีความต้องการข้าราชการคุณภาพที่ผ่านการอบรมจากต่างประเทศมากกว่าสิงคโปร์ แต่โครงการทุนการศึกษาต่างประเทศของไทยกลับมีแนวโน้มลดลง ระหว่างปี 2557-2567 จำนวนผู้ที่ได้รับทุนจากภาครัฐเพื่อศึกษาในสหรัฐฯ รวมถึงหลักสูตรระยะสั้นที่ไม่ใช่ระดับปริญญา ลดลงถึง 43%

ขณะที่ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีสำหรับข้าราชการ (ซึ่งเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อการพัฒนากำลังคนของรัฐมากที่สุด) จำนวนผู้ได้รับทุนลดลงประมาณ 1ใน3 จากประมาณ 50 คนต่อปี ในปี 2557-2558 เหลือเพียง 30-35 คนต่อปีในปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกัน จำนวนผู้ได้รับทุนเพื่อศึกษาต่อในสหรัฐฯ กลับลดลงอย่างมาก

ดังนั้นรัฐบาลควรเพิ่มจำนวนทุนการศึกษาให้มากขึ้นถึง 5 เท่า พร้อมทั้งกระจายโอกาสไปยังนักเรียนจากภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ควรขยายโครงการให้รองรับข้าราชการที่มีประสบการณ์ทำงานแล้ว หรือมีอายุพอควร เพื่อให้สามารถเข้ารับการฝึกอบรมระยะสั้นในต่างประเทศ หรือเข้าศึกษาหลักสูตรปริญญาโทได้มากขึ้น แนวทางเหล่านี้จะทำให้ไทยเข้าใกล้ระดับการสนับสนุนทุนการศึกษาของสิงคโปร์มากขึ้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือรัฐบาลฮ่องกงเคยมีโครงการฝึกอบรมข้าราชการร่วมกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เช่น Harvard Kennedy School ซึ่งเป็นแนวทางที่หน่วยงานไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังสามารถดำเนินการตามแนวทางของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย โดยสนับสนุนให้นักศึกษาไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนตนเอง นอกเหนือจากโครงการทุนการศึกษาของรัฐบาล

การเปิดเสรีและการปรับกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ

สุดท้าย มาตรการที่ควรทำคือการเปิดตลาดไทย หรือผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงจากสหรัฐฯ เช่น การประกันภัย การเงิน เทคโนโลยีทางการเงิน การศึกษา และอุตสาหกรรมยา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่บริษัทสหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญ โดยไทยจะได้ประโยชน์จากทั้งการลงทุนและการแข่งขันที่มากขึ้น

ขณะที่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์นั้น ปัจจุบัน ไทยให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารแก่บริษัทจากญี่ปุ่นและจีน แต่บริษัทการเงินของสหรัฐฯ ยังมีบทบาทจำกัดในตลาดไทย การเปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาลงทุนและแข่งขันมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคชาวไทย โดยต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และภาษี ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลา

นโยบายต่างประเทศที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

ประเทศไทยเคยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1970-1990 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การเติบโตของไทยเริ่มชะลอลงในช่วงปี 2000-2010 พร้อมกับที่ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกเริ่มลดลง

สิ่งนี้เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่? แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ แต่รูปแบบที่คล้ายคลึงกันนี้สามารถสังเกตได้ในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียเช่นกัน

เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกประเทศที่อยู่ฝ่ายสหรัฐฯ ล้วนมั่งคั่ง ขณะที่ประเทศที่ต่อต้านสหรัฐฯ ยังคงยากจน”

คำถามสำคัญก็คือ นโยบายต่างประเทศของไทยพร้อมหรือไม่ ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองกับชาติตะวันตกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศ?”

ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคได้เสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด ฟิลิปปินส์ได้กระชับความร่วมมือทางการทูต และการทหารกับทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ผ่านการเยือนระดับรัฐและคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง ออสเตรเลียสนับสนุนการเปิดสำนักงานของสถาบันวิจัย ASPI จากแคนเบอร์ราในกรุงวอชิงตัน ขณะที่สิงคโปร์ได้ให้การสนับสนุนตำแหน่ง Lee Kuan Yew chair position ที่สถาบัน Brookings ในกรุงวอชิงตัน

หลายประเทศในเอเชียใช้การเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำประเทศในการยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ การเยือนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ นายชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ซึ่งได้เดินทางเยือนสหรัฐฯ หลายครั้งและกล่าวสุนทรพจน์ที่มีอิทธิพลในเวทีวิชาการหลายสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย

นอกจากนั้นในปี 2024 นายเล มินห์ คาย (Le Minh Khai) รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม และ นายลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้กล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา มีกำหนดเดินทางไปบรรยายที่ฮาร์วาร์ดในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2025 ขณะเดียวกันศรี มุลยานี อินทราวาตี (Sri Mulyani Indrawati) อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย ได้เป็นผู้บรรยายรับเชิญในเวทีวิชาการและธุรกิจชั้นนำในสหรัฐฯ หลายครั้ง โดยเฉพาะในฝั่งตะวันออกของประเทศ

ในทางตรงกันข้าม ไทยกลับดูเหมือนไม่มีบทบาทเด่นชัดในสหรัฐฯ ขณะที่ไทยลงทุนสร้างสถานทูตแห่งใหม่ที่หรูหราในกรุงปักกิ่งที่สามารถรองรับการจัดงานขนาดใหญ่ได้ แต่สถานทูตไทยในกรุงวอชิงตันยังคงเป็นอาคารเก่าและเงียบเหงา ตั้งอยู่ห่างเขตศูนย์กลางที่ทำการทางการทูตอื่น ๆ

และนับเป็นเวลาหลายปีแล้วที่ไม่มีนักการเมืองไทยคนสำคัญกล่าวสุนทรพจน์ที่ทรงอิทธิพลหรือโดดเด่นในสหรัฐฯ (บุคคลสำคัญชาวไทยคนสุดท้ายที่เดินทางไปเยือนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดน่าจะเป็น นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2558 ซึ่งแม้ว่าเขาจะเป็นผู้พูดที่มีวาทศิลป์ดีเยี่ยม แต่ขณะนั้นเขาก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย)

คำถามคือ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยกี่คนที่พร้อมเดินทางไปสหรัฐฯ และดำเนินการทางการทูตในลักษณะเดียวกับที่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียกำลังทำอยู่?(รวมถึงประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าและยากจนกว่าไทย) รวมทั้งประเทศไทยได้ดำเนินการมากน้อยเพียงใดในการส่งเสริมความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยภายในสหรัฐฯ?

เอเชียกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีมูลค่าต่ำกว่า และในภาคธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงกว่า

ขณะที่ประเทศไทย ยังคงมีข้อได้เปรียบตามธรรมชาติหลายประการ ในการดึงดูดการผลิตสินค้า และการบริการ อีกทั้งคนไทยมีประวัติที่ดีในการให้การต้อนรับและกลมกลืนกับชาวต่างชาติมาโดยตลอด นอกจากนี้กรุงเทพฯ มีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย มีสนามบินนานาชาติที่มีคุณภาพดี และมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่าสำหรับชาวต่างชาติ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เสรีกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียหลายแห่ง

ในภาคอุตสาหกรรมเอง ประเทศไทยมีระบบท่าเรือที่ดีในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และมีฐานการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้บริษัทเทคโนโลยีสามารถ อัพเกรดการผลิตที่มีอยู่เดิมได้ง่ายกว่าการสร้างโรงงาน และห่วงโซ่อุปทานใหม่ทั้งหมดในเวียดนามหรืออินเดีย

แต่ปัจจัยข้างต้นนี้ไม่เพียงพอต่อการรับประกันว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในการลงทุนในสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์มีความสำคัญมากขึ้นมากนับตั้งแต่ในช่วงโควิด-19 และสงครามยูเครน ทำให้ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปหันมาให้ความสนใจกับเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในเรื่องความมั่นคงของการเข้าถึงสินค้าและบริการในยามเกิดวิกฤติ และยังมีประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านเทคโนโลยีที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากการที่รัฐบาลยุคประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) ควบคุมการค้าของสินค้าชิปขั้นสูงสูง (Advanced chips) ระบบปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์สำหรับศูนย์ข้อมูล (data center) 

ปัจจุบันสหรัฐฯ จัดอันดับประเทศไทยให้อยู่ในระดับกลาง ซึ่งหมายความว่า ไทยมีข้อจำกัดด้านการค้าทางเทคโนโลยีน้อยกว่าจีนแผ่นดินใหญ่ ลาว เวียดนาม หรือกัมพูชา แต่ยังคงเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยกว่าประเทศพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน8

ประเทศไทยสามารถโน้มน้าวให้รัฐบาลชาติตะวันตกเชื่อมั่นได้หรือไม่ว่าไทยเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ในระยะยาว?

หากทำได้ประเทศไทยอาจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้น และดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงกว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จะต้องแลกมากับการที่ไทยต้องจัดลำดับความสำคัญของนโยบายต่างประเทศเสียใหม่

ข้อเท็จจริงที่ว่า ทางการไทยเคยมีแนวคิดที่จะอนุญาตให้จีนตั้งสถานีตำรวจในต่างแดนภายในประเทศไทย และเคยแสดงท่าทีว่า อาจส่งตัวผู้ลี้ภัยไปยังซินเจียง อาจสร้างประโยชน์บางประการต่อความสัมพันธ์กับจีนแต่ในระยะยาว สิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดต้นทุนและผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ของไทยกับโลกตะวันตก

ที่สำคัญไม่ชัดเจนว่านโยบายที่เอนเอียงไปทางจีน สร้างประโยชน์ให้กับไทยจริงหรือไม่ หรือมากเพียงใด ? เพราะข้อเท็จจริงคือประเทศไทยอยู่ในอันดับเกือบต่ำสุดในบรรดาประเทศอาเซียนที่ได้รับการลงทุนจากจีนตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา9

ดังนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าที่ผ่านมาประเทศไทยได้กำหนดนโยบายต่างประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ช่วยให้เศรษฐกิจได้รับประโยชน์จากทุกฝ่ายได้อย่างเพียงพอหรือไม่

ในทางตรงกันข้าม สิงคโปร์เลือกที่จะยอมรับต้นทุนในระยะสั้นที่ค่อนข้างต่ำ จากการใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อตอบโต้การทำสงครามในยูเครน แต่ได้รับผลประโยชน์ระยะยาวที่มากกว่าจากการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับภาคธนาคารและภาคธุรกิจของชาติตะวันตก ทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนจำนวนมหาศาลจากทั้งจีนและสหรัฐฯ ไปพร้อมกัน จนทำให้ในปี 2024 สิงคโปร์คงกลายเป็นประเทศที่มี GDP ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนแซงหน้าไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ที่กล่าวมาทั้งหมดน่าจะช่วยชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับแนวทางใหม่ในการนโยบายต่างประเทศของไทย ซึ่งสามารถตอบสนองต่อเป้าหมายหลายประการ โดยที่ไม่จำเป็นต้องยกให้เศรษฐกิจเป็นประเด็นหลักของนโยบายต่างประเทศเสมอไปก็ได้ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจปรับตัวดีขึ้นด้วยจุดยืนทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ผู้นำประเทศเลือก และประเทศไทยอาจมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะต้องพึ่งพาการยกระดับเศรษฐกิจในลักษณะนี้ การรับตำแหน่งของทรัมป์จึงไม่เพียงเป็นความเสี่ยงแต่สามารถนำมาใช้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ได้เช่นกัน

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เป็นบทความในคอลัมน์ TDRI Guest’s Contribution ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น

บทความชิ้นนี้แปลจากบทความต้นฉบับเรื่อง TDRI Guest’s Contribution: Economic Policy Options for Thailand in the Second Trump Administration


  1. 1. I am grateful for comments and feedback from Somchai Jitsuchon, Michael Montesano, and Naphatthika Sirothphiphat. ↩︎
  2. 2. Mandate for Leadership, ed. Paul Dans and Steven Groves (Washington, DC: Heritage Foundation, 2023), https://static.project2025.org/2025_MandateForLeadership_FULL.pdf, pp. 772-773. ↩︎
  3. 3. Pongphisoot Busbarat, “Shopping diplomacy: The Thai prime minister’s visit to the United States and its implications for Thai-US relations,” ISEAS Perspective 2017, no. 78 (Oct. 20, 2017), https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/pdfs/ISEAS_Perspective_2017_78.pdf. See also the U.S. State Department visit records at  https://history.state.gov/departmenthistory/visits/thailand and https://history.state.gov/departmenthistory/travels/president/thailand. ↩︎
  4. 4. This is because a country’s current account must balance with its capital account. To raise foreign investments, one needs foreign currency, and one gains net foreign currency by exporting more than importing. For instance, see Michael Pettis, “Foreign saving gluts and American financial imbalances,” Carnegie Endowment, Dec. 1, 2020, https://carnegieendowment.org/china-financial-markets/2020/12/foreign-saving-gluts-and-american-financial-imbalances?lang=en. ↩︎
  5. 5. “U.S. Senators Tammy Baldwin and Josh Hawley lead bipartisan effort to restore competitiveness,” Office of U.S. Senator Tammy Baldwin, July 31, 2019, https://www.baldwin.senate.gov/news/press-releases/competitive-dollar-for-jobs-and-prosperity-act. ↩︎
  6. 6. Figures from the Ministry of Commerce. Percentages based on year-to-date imports up to November-December 2024. ↩︎
  7. 7. Richard Yarrow, Thailand’s Economic Dilemmas in Post-Pandemic Asia (Singapore: ISEAS, 2022), https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/2022/08/TRS14_22.pdf. ↩︎
  8. 8. “Ensuring U.S. security and economic strength in the age of artificial intelligence,” White House Briefing Room, Jan. 13, 2025, archived at https://web.archive.org/web/20250115010947/https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2025/01/13/fact-sheet-ensuring-u-s-security-and-economic-strength-in-the-age-of-artificial-intelligence/; Emily Benson, “Updated October 7 semiconductor export controls,” CSIS, Oct. 18, 2023, https://www.csis.org/analysis/updated-october-7-semiconductor-export-controls. ↩︎
  9. 9. Evelyn Goh and Liu Nan, Chinese Investments in Southeast Asia (Singapore: ISEAS, 2023); ASEAN Investment Report 2024 (Jakarta: ASEAN Secretariat, 2024), https://asean.org/wp-content/uploads/2024/10/AIR2024-3.pdf, p. 30. ↩︎

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด