tdri logo
tdri logo
17 กุมภาพันธ์ 2025
Read in 5 Minutes

Views

Hackathon “Transforming the Thai Capital Market: ปั้นตลาดทุนไทย แข่งขันได้ไกล ดึงดูดใจนักลงทุน”

ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับ CMDF FETCO ก.ล.ต. จัด Hackathon “Transforming the Thai Capital Market: ปั้นตลาดทุนไทย แข่งขันได้ไกล ดึงดูดใจนักลงทุน” ระดมไอเดียยกระดับศักยภาพตลาดทุนไทย ด้าน “ดร.กอบศักดิ์” ห่วงสถานการณ์หุ้นร่วงหนัก ย้ำต้องเร่งปรับตัว กิโยตินกฎระเบียบ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนไทย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)  สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมจัดกิจกรรม Hackathon ในหัวข้อ “Transforming the Thai Capital Market: ปั้นตลาดทุนไทย แข่งขันได้ไกล ดึงดูดใจนักลงทุน” เพื่อเป็นเวทีในการระดมความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาข้อเสนอที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตลาดทุนไทยเป็นตลาดที่พัฒนาได้ดีพอสมควร ทั้งตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องดี และตลาดพันธบัตรที่อยู่ในระดับชั้นนำของภูมิภาค แต่ปัญหาคือวันนี้เรากำลังเข้าสู่โค้งสำคัญ ที่ตลาดทุนจะต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน การจัดกิจกรรม Hackathon ครั้งนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะได้มุมมองและข้อเสนอจากผู้เข้าแข่งขันในการพัฒนาตลาดทุนให้ดีขึ้น ผลงานของทีมที่ชนะวันนี้ ทั้งการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนไทย และการบ่มเพาะสตาร์ทอัพโดยเฉพาะใน Sector ที่มีความสำคัญของประเทศ นับเป็นประเด็นตลาดทุนกำลังขับเคลื่อน และความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ที่อาจต่อยอดไปสู่การพัฒนาตลาดทุนได้ต่อไป ท้ายสุด หวังว่าคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองใหม่ ๆ จะสนใจและเข้าสู่ตลาดทุนเพื่อช่วยกันพัฒนาตลาดทุนไปเป็น Next Capital Market ของประเทศไทยต่อไป

ขณะที่นายจักรชัย บุญยะวัตร ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กล่าวว่า ยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่จะนำไปสู่การปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของตลาดทุนที่อยู่ระหว่างการศึกษาของทีดีอาร์ไอ และยังนำไปสู่การจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการผลักดันสิ่งจะเป็นประโยชน์กับตลาดทุนในอนาคต ซึ่งวันนี้ตลาดทุนมีความท้าทายเข้ามามาก แต่ในขณะเดียวกันได้เห็นว่าองค์ความรู้เรื่องตลาดทุนได้ขยายออกไปเป็นวงกว้าง มีทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมทั้งคนที่ไม่ได้อยู่ในสายการเงินการลงทุน ให้ความสนใจในเรื่องของตลาดทุน และมีความคิดในการพัฒนาตลาดทุนมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

ด้าน ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าทีมการปฏิรูปกฎหมาย ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และการเป็นแหล่งระดมทุนของภาคธุรกิจ ตลาดทุนไทยจำเป็นต้องปรับตัว และยกระดับศักยภาพ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการที่่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีส่วนร่วมในตลาด รวมทั้งการปรับปรุงระบบการซื้อขายให้มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวสูงขึ้้น ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นและแรงจูงใจให้ผู้มีส่วนเกี่่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในตลาดทุนมากขึ้้นเพื่อรักษาและเสริมสร้างบทบาทของตลาดทุนในฐานะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคาดหวังว่าข้อเสนอต่าง ๆ ที่ได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้ จะช่วยสะท้อนมุมมอง และความต้องการของภาคประชาชน จนเกิดเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม

ทีมชนะเลิศ ชงทำแพลตฟอร์มใช้ AI ช่วยนักลงทุนเข้าถึงข้อมูลวิเคราะห์หุ้นขนาดเล็ก-กลาง แบบเรียลไทม์

สำหรับกิจกรรม Hackathon ปั้นตลาดทุนไทย แข่งขันได้ไกล ดึงดูดใจนักลงทุนนั้น ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขัน โดยมีผู้ให้ความสนใจร่วมสมัครถึง 54 ทีม และมี 7 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมในรอบสุดท้าย ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดได้เข้าทำกิจกรรมฟังบรรยายรวมถึงคำแนะนำจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ อย่างเข้มข้น ก่อนที่จะนำเสนอผลงานให้คณะกรรมการทั้ง 6 คน ประกอบด้วย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ FETCO นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ ด้านยุทธศาสตร์ แผนงานบริหารองค์กร สื่อสารองค์กร สำนักงานก.ล.ต. นายฉัตรชัย ทิศาดลดิลก ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) นายจักรชัย บุญยะวัตร ผู้จัดการ CMDF นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคม กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) และดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ เป็นผู้ตัดสิน

ทีม POLARLYST AI ได้รับรางวัลชนะเลิศ

โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คว้าเงินรางวัล 5 หมื่นบาทคือ ทีม POLARLYST AI กับข้อเสนอ “AI Automated Analyst Report”   โดยสมาชิกทีม POLARLYST AI  ระบุว่า ได้เสนอให้มีแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูล และวิเคราะห์หุ้น โดยใช้ AI  เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ เนื่องจากหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีมากกว่า 800 ตัว แต่หุ้นที่ถูกวิเคราะห์มีเพียง 50-100 ตัวเท่านั้น ที่สำคัญหุ้นขนาดเล็กและหุ้นขนาดกลาง ไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยจึงทำให้นักลงทุนเสียโอกาสในการลงทุนหุ้นทั้งสองประเภทนี้ ทั้งที่เป็นหุ้นที่สามารถเติบโตได้ในอนาคต และเครื่องมือดังกล่าวยังสามารถลดปริมาณงานของนักวิเคราะห์ด้วย เนื่องจากปัจจุบันนักวิเคราะห์ที่มีความสามารถสูงในประเทศไทยมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้การออกบทวิเคราะห์เกิดความล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์จริง เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน นอกจากนี้บทวิเคราะห์ในแพลตฟอร์มนี้ยังมีเนื้อหาที่กระชับเข้าใจง่ายกว่าบทวิเคราะห์อย่างในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจก่อนลงทุนได้ ทั้งนี้สิ่งสำคัญในกระบวนการทั้งหมดคือจะต้องเลือกแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมาใช้วิเคราะห์  

ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 เป็นของทีมกระทิงติดปีก กับข้อเสนอ “กองทุนเชื่อมั่นและ Merge One Platform” ได้รับเงินรางวัล 3 หมื่นบาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เป็นของทีม HEALTH ME PLEASE ได้รับเงินรางวัล 1 หมื่นบาท กับข้อเสนอ “ส่งเสริมสตาร์ทอัพผ่าน Health Bond”

รับชมย้อนหลัง การนำเสนอของผู้เข้าแข่งขัน

รับชมย้อนหลัง การประกาศรางวัล

นักวิจัย

ดร. กิรติพงศ์ แนวมาลี
นักวิชาการอาวุโส
ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์
นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด