tdri logo
tdri logo
19 กุมภาพันธ์ 2025
Read in 5 Minutes

Views

โอกาสและความหวังของ “เด็กจบใหม่” ในตลาดแรงงาน

ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ประกาศรับสมัครงาน สำรวจโอกาสของเด็กจบใหม่ พบ ตลาดงานส่วนใหญ่เน้นรับคนมีประสบการณ์ 1-2 ปี ส่วนผู้ไม่มีประสบการณ์ เปิดรับเพียง 22 เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่เป็นงานพื้นฐาน แนะ รัฐ-สถานศึกษา ส่งเสริมการฝึกงานทั้ง ทวิภาคี-สหกิจศึกษา 

Note: นายจ้างส่วนมากต้องการแรงงานที่มีประสบการณ์ทำงาน ส่งผลให้ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ประสบปัญหาในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน บทความนี้จึงเน้นวิเคราะห์ความต้องการประสบการณ์ของนายจ้างและเสนอแนะแนวทางให้กับผู้ที่กำลังศึกษา และสถาบันการศึกษา สร้างคุณสมบัติให้เป็นที่ต้องการของสู่ตลาดแรงงาน

ทีม Big Data สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดผลวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงาน และทักษะของแรงงานที่นายจ้างต้องการใน “โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงฯ” สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยทำการรวบรวมประกาศรับสมัครงานออนไลน์จาก 23 เว็บไซต์รับสมัครงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 (1 ต.ค. – 31 ธ.ค.)

คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ความต้องการด้านประสบการณ์ทำงานของผู้สมัคร ที่ระบุในประกาศรับสมัครงานออนไลน์ โดยเน้นไปที่ความท้าทายของผู้สมัครงานที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา โดยคณะผู้วิจัยได้จำแนกประกาศรับสมัครงานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่ไม่ต้องการประสบการณ์หรือ อาจจะเรียกว่าเป็นตำแหน่งระดับ entry-level ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่สามารถสมัครได้ (2) กลุ่มที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปีหรืออาจเรียกว่าเป็นตำแหน่งงานตำแหน่งระดับ junior ซึ่งต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์มาบ้าง และ (3) กลุ่มที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่สูงกว่าระดับ junior

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้รวมประกาศงานที่ระบุว่าต้องการประสบการณ์แต่ไม่ได้ระบุจำนวนปีไว้ในกลุ่มที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปีด้วย เนื่องจากเห็นว่า หากนายจ้างต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำมากกว่า 2 ปี ก็ควรระบุจำนวนปีของประสบการณ์ขั้นต่ำไว้ชัดเจน

ในภาพรวม มีประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่จัดเก็บมาได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จำนวน 221,339 ตำแหน่ง และเมื่อจำแนกตำแหน่งงานเป็น 3 กลุ่ม ดังที่ได้อธิบายไปในข้างต้น พบว่าตำแหน่งงานส่วนใหญ่เป็นระดับ junior (กลุ่มที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี) โดยมีจำนวนมากถึง 84,669 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 38.3% ของประกาศฯ ทั้งหมด (ในจำนวนนี้มาจากประกาศรับสมัครที่ระบุว่าต้องการประสบการณ์แต่ไม่ได้ระบุจำนวนปีจำนวน 18,385 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 21.7% ของประกาศรับสมัครงานออนไลน์ในกลุ่มนี้) 

รองลงมาคือตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไป จำนวน 54,877 ตำแหน่ง (24.8%) และตำแหน่งงานระดับ entry-level ที่ไม่ต้องการประสบการณ์ 49,366 ตำแหน่ง (22.3%) นอกจากนั้น ยังมีตำแหน่งงานประกาศที่ไม่ระบุความต้องการประสบการณ์อีกจำนวน 32,427 ตำแหน่ง (14.7%) ดังที่แสดงในภาพประกอบที่ 1

ภาพประกอบที่ 1: จำนวนตำแหน่งงานจากประกาศรับสมัครงานออนไลน์ จำแนกตามความต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า แม้จะมีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงาน 49,366 ตำแหน่ง (22.3%) แต่ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ในประกาศรับสมัครออนไลน์ก็ยังต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงาน โดยมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ทำงานถึง 139,546 ตำแหน่ง (63.1%) ซึ่งสะท้อนว่าตำแหน่งงานส่วนใหญ่ต้องการผู้สมัครที่มีความรู้ ทักษะ และความเข้าใจในการทำงานจริง

อย่างไรก็ตามความต้องการดังกล่าวไม่ได้เหมือนกันหมดในทุกระดับการศึกษาหรือในทุกรายกลุ่มอาชีพ โดยเมื่อพิจารณาความต้องการด้านประสบการณ์โดยจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าตำแหน่งงานที่ต้องการผู้มีระดับการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะต้องการประสบการณ์ทำงานสูงขึ้นด้วย ดังนี้

  • ในตำแหน่งงานระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นงานที่ใช้ทักษะความรู้หรือเป็นทักษะอาชีพสูง ตำแหน่งงานส่วนใหญ่กว่า 78.6% เป็นตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ โดยมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี จำนวน 43,003 ตำแหน่ง (คิดเป็น 40.0% ของตำแหน่งงานระดับปริญญาตรี) และมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป จำนวน 41,517 ตำแหน่ง (38.6%) ในขณะที่มีตำแหน่งระดับ entry-level เพียง 18,022 ตำแหน่ง (16.8%) ดังที่แสดงในภาพประกอบที่ 2
  • ในตำแหน่งงานระดับอาชีวศึกษาทั้ง ปวช. และ ปวส. ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ต้องใช้ทักษะอาชีพ พบว่ามีความต้องการประสบการณ์ต่ำกว่าในระดับปริญญาตรี โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี (6,434 ตำแหน่งในระดับ ปวช. หรือคิดเป็น 48.3% ของตำแหน่งงาน ปวช. ทั้งหมด และ 11,524 ตำแหน่งในระดับ ปวส. หรือคิดเป็นสัดส่วน 51.4%) ในขณะเดียวกัน ตำแหน่งงานในระดับอาชีวศึกษาที่ไม่ต้องการประสบการณ์มีสัดส่วนสูงกว่าตำแหน่งงานในระดับปริญญาตรีที่ไม่ต้องการประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญ โดยในระดับ ปวช. มีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงาน 32.4% และในระดับ ปวส. มีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงาน 28.0% ซึ่งสูงกว่าในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีสัดส่วนตำแหน่งงานระดับปริญญาตรีที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงานเพียง 16.8% นอกจากนั้น ในระดับอาชีวศึกษา มีความต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ขึ้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปเพียง 7.3% ในระดับ ปวช. และ 11.9% ในระดับ ปวส. ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนงานในระดับปริญญาตรีที่ต้องการประสบการณ์ขึ้นต่ำ 3 ปี ขึ้นไป (38.6%)
  • ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีตำแหน่งงานเปิดใหม่จำนวน 17,230 ตำแหน่ง (7.8% ของประกาศทั้งหมด) ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องการประสบการณ์ จำนวน 10,192 ตำแหน่ง (59.2% ของประกาศฯ ในระดับ ม.6) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าทั้งระดับปริญญาตรีและระดับอาชีวศึกษามาก ในขณะที่มีตำแหน่งที่ต้องการประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไปเพียง 4.4% เท่านั้น โดยงานในกลุ่มนี้มักเป็นงานที่เป็นงานที่เน้นทักษะพื้นฐาน เช่น งานบริการ พนักงานขับรถ พนักงานคลังสินค้า หรืองานที่ใช้แรงงานทั่วไปอื่น ๆ

ภาพประกอบที่ 2: จำนวนตำแหน่งงานจากประกาศรับสมัครงานออนไลน์ จำแนกตามระดับการศึกษาและประสบการณ์ขั้นต่ำ

เมื่อพิจารณาความต้องการด้านประสบการณ์โดยจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่าสามารถแบ่งกลุ่มอาชีพได้ 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

กลุ่มแรก คือกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการประสบการณ์สูง โดยเฉพาะงานด้านการจัดการ ซึ่งมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปสูงถึง 19,143 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 56.1% และมีสัดส่วนตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงานเพียง 8.7% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีสัดส่วนตำแหน่งงานระดับ entry-level น้อย แต่ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่างานในกลุ่มอาชีพนี้จะมีปัญหาในการรับคน เพราะอาจรับคนที่สามารถย้ายข้ามสายงานได้ เช่น จากวิศวกรที่มีประสบการณ์สูงมาเป็นผู้จัดการ เป็นต้น ซึ่งจะต่างจากงานวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป  ในทำนองเดียวกัน งานด้านกฎหมายก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยมีความต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปสูงถึง 45.3% และมีตำแหน่งงานไม่ต้องการประสบการณ์ทำงานเพียง 12.7% ดังที่แสดงในภาพประกอบที่ 3

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มวิชาชีพที่ต้องใช้ทักษะและความรู้เฉพาะทาง ได้แก่ งานธุรกิจและการเงิน งานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ และงานด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม กลุ่มอาชีพนี้มีสัดส่วนของตำแหน่งที่ต้องการประสบการณ์สูง กล่าวคือ มีสัดส่วนตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี ประมาณ 36-40% และมีสัดส่วนของตำแหน่งที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปประมาณ 33-35% ในขณะที่มีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ค่อนข้างน้อย (ประมาณ 15-18%) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ไม่สามารถหางานในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้ได้

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มอาชีพที่มีการเปิดรับผู้ไม่มีประสบการณ์ในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะงานด้านสนับสนุนงานออฟฟิศและงานธุรการ (32.8%) งานด้านการขาย (32.1%) และงานด้านการติดตั้ง การบำรุงรักษา และการซ่อมแซม (30.2%) นอกจากนี้ แม้ในตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ ก็จะพบว่ากลุ่มอาชีพเหล่านี้มีส่วนใหญ่ต้องการประสบการณ์ขึ้นต่ำ 1-2 ปี (ประมาณ 41-44% ของตำแหน่งงานในกลุ่มอาชีพทั้งหมด) และมีความต้องการผู้มีประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปเพียง 8-13% นอกจากกลุ่มอาชีพที่กล่าวไปที่มีจำนวนตำแหน่งงานเปิดรับจำนวนมาก ยังพบแบบแผนที่คล้ายกันในกลุ่มอาชีพด้านการเตรียมอาหารและการบริการ การขนส่ง การผลิต และกลุ่มอาชีพงานบริการอื่นๆ ด้วย

ภาพประกอบที่ 3: จำนวนตำแหน่งงานจากประกาศรับสมัครงานออนไลน์ จำแนกตามกลุ่มอาชีพและประสบการณ์ขั้นต่ำ

จากการวิเคราะห์ข้างต้นจะพบว่ามีแบบแผนในการต้องการประสบการณ์ของผู้สมัครงานดังนี้

ประการแรก ในด้านระดับการศึกษา พบว่าตำแหน่งงานที่ต้องการผู้สมัครที่มีระดับการศึกษาสูงมักจะมาพร้อมความต้องการต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำที่สูงควบคู่กันไปด้วย โดยตำแหน่งงานสำหรับระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ต้องการผู้มีประสบการณ์ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป (78.6%) และเกือบ 40% ต้องการประสบการขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป ในขณะที่ตำแหน่งงานระดับอาชีวศึกษา แม้ว่าส่วนใหญ่ต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ แต่เกือบทั้งหมดเป็นตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี นอกจากนั้น ตำแหน่งงานระดับอาชีวศึกษาก็ยังเปิดรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในสัดส่วนสูงกว่าในระดับปริญญาตรีมากด้วย ส่วนตำแหน่งงานระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่เป็นงานระดับเริ่มต้นที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงาน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ระดับการศึกษาไม่ได้เป็นสิ่งทดแทน (substitute) ของประสบการณ์ทำงาน แต่เป็นสิ่งหนุนเสริมซึ่งกันและกัน (compliment)

ประการที่สอง ตำแหน่งงานวิชาชีพและมีเส้นทางอาชีพ (career path) ที่ดี เช่น งานด้านการเงิน คอมพิวเตอร์ วิศวกรรม และอาจจะรวมถึงงานด้านกฎหมาย มักต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงานมาบ้าง โดยมีตำแหน่งงานสำหรับผู้เริ่มอาชีพไม่มากนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเนื่องจากมีความต้องการรับผู้สมัครงานที่สำเร็จการศึกษาใหม่ไม่มาก และเมื่อผู้สมัครงานไม่มีโอกาสในการทำงาน ก็จะไม่มีประสบการณ์ไปสมัครงาน ส่วนงานที่มีสัดส่วนการรับผู้ไม่มีประสบการณ์นั้นมักเป็นงานพื้นฐาน หรือเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะความรู้สูงมากนัก เช่น งานด้านการขาย งานการผลิต และงานบริการต่างๆ

แนะรัฐ-สถานศึกษา ส่งเสริมการฝึกงาน

จากที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อลดปัญหาช่องว่างระหว่างผู้ที่สำเร็จการศึกษาแต่ยังขาดประสบการณ์การทำงาน กับความต้องการของนายจ้างซึ่งระบุว่างานกว่า 38.3% ต้องการผู้มีประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี รัฐบาลควรพิจารณาส่งเสริมการฝึกงานสำหรับผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน (internship หรือ traineeship) โดยอาจศึกษาแนวทางในต่างประเทศ และร่วมหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการที่สามารถใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคีหรือสหกิจศึกษามากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ทำงานอย่างเข้มข้นในสาขาอาชีพที่เรียนมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหางาน และช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกของการทำงานได้ราบรื่นมากขึ้น

ภาวะความต้องการแรงงานตลาดประกาศรับสมัครงานออนไลน์ไตรมาสที่ 4 ปี 2567

ภาพรวม 10 อันดับอุตสาหกรรมที่ประกาศรับสมัครงานมากที่สุด

จากการจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามประเภทกลุ่มอุตสาหกรรม โดยอ้างอิงข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 (TSIC) ผลการวิเคราะห์พบว่า 10 อันดับแรกของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่

  1. การขายส่งและขายปลีก 39,970 ตำแหน่ง (18.1%)
  2. การผลิต 26,869 ตำแหน่ง (12.1%)
  3. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 22,854 ตำแหน่ง (10.3%)
  4. กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ  15,821 ตำแหน่ง (7.1%)
  5. ที่พักแรมและบริการอาหาร 14,465 ตำแหน่ง (6.5%)
  6. กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 12,789 ตำแหน่ง (5.8%)
  7. การก่อสร้าง 7,344 ตำแหน่ง (3.3%)
  8. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 7,245 ตำแหน่ง (3.3%)
  9. กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 7,102 ตำแหน่ง (3.2%)
  10. การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 4,583 ตำแหน่ง (2.1%)

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ มีทั้งหมด 4,093 ตำแหน่ง (1.8%) โดยประกอบไปด้วยหน่วยงานราชการ มูลนิธิ สหกรณ์ และ บริษัทต่างประเทศ และมีประกาศรับสมัครงานที่ไม่ระบุกลุ่มอุตสาหกรรมจำนวน 48,281 ตำแหน่ง (21.8%)

ภาพประกอบที่ 4: จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับผ่านประกาศรับสมัครงานออนไลน์ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม

10 อันดับอาชีพที่มีการประกาศรับสมัครงานมากที่สุด

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศ โดยอ้างอิงฐานข้อมูลกลุ่มอาชีพจากสหรัฐอเมริกา (O*NET) พบว่า 10 กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานมากที่สุด ได้แก่

  1. การขายและงานที่เกี่ยวข้อง 41,573 ตำแหน่ง (18.8%)
  2. การจัดการ 34,107 ตำแหน่ง (15.4%)
  3. ธุรกิจและการเงิน 33,483 ตำแหน่ง (15.1%)
  4. สนับสนุนงานออฟฟิศและงานธุรการ 26,766 ตำแหน่ง (12.1%)
  5. คอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 16,022 ตำแหน่ง (7.2%)
  6. สถาปัตยกรรมและวิศวกรรม 12,107 ตำแหน่ง (5.5%)
  7. การเตรียมอาหารและงานบริการ 10,249 ตำแหน่ง (4.6%)
  8. ศิลปะ การออกแบบ ความบันเทิง กีฬา และสื่อ 9,612 ตำแหน่ง (4.3%)
  9. การติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซม 7,620 ตำแหน่ง (3.4%)
  10. การขนส่ง 5,475 ตำแหน่ง (2.5%)

โดยมีประกาศงาน 1,191 ตำแหน่ง (0.5%) ที่ไม่สามารถระบุกลุ่มอาชีพได้

ทั้งนี้ประกาศรับสมัครงานในกลุ่มอาชีพเหล่านี้สะท้อนถึงความต้องการแรงงานในตลาดที่หลากหลาย โดยเฉพาะในสาขาการขาย การจัดการ และธุรกิจการเงินที่มีการจ้างงานสูงที่สุด

ภาพประกอบที่ 5: จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับผ่านประกาศรับสมัครงานออนไลน์ จำแนกตามกลุ่มอาชีพ

จำนวนตำแหน่งงานเปิดใหม่ตามวุฒิการศึกษา

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน พบว่ามีประกาศรับสมัครงานวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี 107,545 ตำแหน่งงาน (48.6%) ปวส. 22,430 ตำแหน่งงาน (10.1%) มัธยมศึกษาปีที่หก 17,230 ตำแหน่งงาน (7.8%) ปวช. 13,327 ตำแหน่งงาน (6.0%) มัธยมศึกษาปีที่สาม 5,477 ตำแหน่งงาน (2.5%) ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา 7,791 ตำแหน่งงาน (3.5%) สูงกว่าปริญญาตรี 1,612 ตำแหน่งงาน (0.7%) และที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษามีจำนวน 45,927 ตำแหน่งงาน (20.7%)

ภาพประกอบที่ 6: จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับผ่านประกาศรับสมัครงานออนไลน์ จำแนกตามวุฒิการศึกษา

จำนวนตำแหน่งงานเปิดใหม่ตามภูมิภาค

เมื่อจำแนกการประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ พบว่าพื้นที่ที่มีการเปิดรับสมัครงานมากที่สุดคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีจำนวนตำแหน่งงานทั้งหมด 137,290 ตำแหน่ง คิดเป็น 62.0% ของจำนวนตำแหน่งงานทั้งหมด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการประกาศหางานออนไลน์ รองลงมาคือภาคใต้ มีการเปิดรับสมัคร 18,609 ตำแหน่ง (8.4%) ตามด้วยภาคตะวันออก 10,985 ตำแหน่ง (5.0%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6,209 ตำแหน่ง (2.8%) ภาคเหนือ 5,772 ตำแหน่ง (2.6%) ภาคกลาง 3,642 ตำแหน่ง (1.6%) และภาคตะวันตก 2,500 ตำแหน่ง (1.1%) นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานที่ไม่สามารถระบุที่ตั้งของสถานที่ทำงานได้จำนวน 36,332 ตำแหน่ง คิดเป็น 16.4% ของตำแหน่งงานทั้งหมด

ภาพประกอบที่ 7: จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับผ่านประกาศรับสมัครงานออนไลน์ จำแนกตามตามภูมิภาค

5 จังหวัดที่มีประกาศรับสมัครงานออนไลน์สูงสุด

ในส่วนของภาพรวมจังหวัดที่มีจำนวนประกาศรับสมัครงานสูงที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ โดยมีตำแหน่งงานเปิดรับทั้งหมด 113,812 ตำแหน่ง คิดเป็น 61.52% ของงานทั้งหมด รองลงมาคือภูเก็ตที่มี 10,638 ตำแหน่ง (5.75%) สมุทรปราการ 7,221 ตำแหน่ง (3.90%) นนทบุรี 6,105 ตำแหน่ง (3.30%) และชลบุรี 5,057 ตำแหน่ง (2.73%)

ภาพประกอบที่ 8: จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับผ่านประกาศรับสมัครงานออนไลน์ จำแนกตามตามจังหวัด

5 ทักษะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด

ภาพประกอบที่ 9 แสดงทักษะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก 

ทั้งนี้ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงฯ” โดยทีดีอาร์ไอ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยจะมีการวิเคราะห์และนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องไปในทุกไตรมาส

บทความโดย : ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ดร.ทศพล ป้อมสุวรรณ, วินิทร เธียรวณิชพันธุ์, นรินทร์ ธนนิธาพร, เพ็ญพิชา ผาณิตพิเชฐวงศ์ และวิไลลักษณ์ มีสวัสดิ์ นักวิจัยด้าน Big Data ทีดีอาร์ไอ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด