tdri logo
tdri logo
7 มีนาคม 2025
Read in 5 Minutes

Views

สัมมนาสาธารณะ “กิโยตินกฎระเบียบ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย” 

สัมมนาสาธารณะ “กิโยตินกฎระเบียบ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย” ทีดีอาร์ไอ ทบทวนปัญหากฎระเบียบตลาดทุน 138 เรื่อง 332 กระบวนการ พร้อมข้อเสนอพัฒนาตลาดทุน -ตลาดตราสาร และมาตรการช่วยเหลือผู้เสียหายคดีหลักทรัพย์ ขณะที่ปธ.บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ ชี้ ต้องปฏิรูปกม.ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง หนุนตรากม.แบบ Omnibus ด้าน “ดร.กอบศักดิ์” ระบุ ตลาดทุนไทยเผชิญความท้าทายหนัก แนะ สร้างกลไกกำกับดูแลที่มีคุณภาพคู่ส่งเสริมการแข่งขัน

วันที่ 7 มีนาคม 2568 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) จัดงานสัมมนาสาธารณะ “กิโยตินกฎระเบียบ เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย” เพื่อนำเสนอผลการทบทวนกฎระเบียบตลาดทุนไทย และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคส่งผลต่อการแข่งขัน รวมทั้งข้อเสนอในการปฏิรูปกฎหมายเพื่อปรับปรุงกลไกการกำกับดูแลและส่งเสริมการแข่งขันในตลาดทุน

“ปฏิรูปกฎหมาย” กุญแจเพิ่มประสิทธิภาพกำกับดูแลแก้ปัญหา หนุนบังคับใช้กม.จริงจัง เพิ่มความเชื่อมั่นตลาดทุน

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กิโยตินกฎระเบียบเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย” ตอนหนึ่งว่า สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในประเทศและต่างประเทศ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนเป็นปัจจัยสำคัญต่อตัดสินใจ รวมทั้งพฤติกรรมของธุรกิจและนักลงทุน ดังนั้นการปฏิรูปกฎหมายเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อมั่น คุ้มครองนักลงทุน และช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยให้เท่าทันการพลวัตรการเปลี่ยนแปลง ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เคยมีข้อเสนอแนะในการออกแบบกฎหมายกำกับดูแลตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพ ว่าจะต้องความเข้าใจลักษณะของตลาด มีวัตถุประสงค์ของนโยบายที่ชัดเจน ออกแบบและบังคับใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เกิดการบูรณาระหว่างหน่วยงาน และทบทวนปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อาจมีการพิจารณาเครื่องมือทางกฎหมาย อื่น เช่น กรณีประเทศสิงคโปร์ และอินโดนีเซียเคยใช้รูปแบบการออกกฎหมายแบบ Omnibusหรือการพิจารณาแก้กฎหมายตลาดทุนหลายฉบับในคราวเดียวกันซึ่งจะช่วยให้ผู้ตรากฎหมายมองเห็นปัญหาร่วมที่ชัดเจนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด

ศ.พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวด้วยว่า ควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างนโยบายและกฎหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทุน รวมทั้งการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และใช้บังคับกฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าผู้กระทำผิดจะได้รับลงโทษอย่างจริง และผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

การปฏิรูปกฎหมายจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุน แต่ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายที่หากทุกภาคส่วนร่วมมือก็จะช่วยสร้างระบบกฎหมายที่เป็นธรรม โปร่งใส และยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงในตลาดทุนได้”ศ.พิเศษ กิติพงศ์ระบุ

ขาดธุรกิจใหม่ดึงดูดนักลงทุน-กฎระเบียบ เป็นอุปสรรค กระทบความสามารถแข่งขันตลาดทุนไทย

เช่นดียวกับดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ที่เห็นสอดคล้องกันว่า ตลาดทุนไทยเผชิญความท้าทายจากปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนธุรกิจใหม่ที่ดึงดูดนักลงทุน และอุปสรรคในด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในตลาดทุนซึ่งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้แม้ว่าตามหลักการกฎหมายกำกับดูแลตลาดทุน มีความสำคัญในการคุ้มครองนักลงทุน ควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และรักษาความเชื่อมั่นของตลาด แต่ในขณะเดียวกันการมีกฎหมายที่สร้างต้นทุนเกินสมควรในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการขาดกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายอย่างทันท่วงทีก็กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ความน่าเชื่อถือ และประสิทธิภาพของตลาดทุนไทยด้วยเช่นกัน

“การปฏิรูปกฎหมายเพื่อสร้างกลไกกำกับดูแลที่มีคุณภาพควบคู่กับการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดทุนจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับความเชื่อมั่นและสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน”ดร.กอบศักดิ์ระบุ

สางปัญหากฎหมายตลาดทุนด้วย 3 มาตรการ เชื่อสามารถลดต้นทุนค่าเสียโอกาสได้ถึง 943 ล้านบาทต่อปี

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี หัวหน้าโครงการกิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษาวิเคราะห์ ทบทวนกฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับที่เกี่ยวกับการอนุญาตที่ไม่จำเป็น หรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจในตลาดทุนไทย (กิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน) ว่า ทีดีอาร์ไอได้ใช้เวลาศึกษา 2 ปี โดยให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยได้ทบทวนปัญหาการปฏิบัติตามกฎหมายด้านตลาดทุน ทั้งสิ้น 138 เรื่อง 332 กระบวนงาน แบ่งได้ดังนี้ กระบวนงานในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 71 กระบวนงาน สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) 53 กระบวนงาน สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) 2 กระบวนงาน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) 23 กระบวนงาน บริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) 105 กระบวนงาน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) 16 กระบวนงาน สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) 7 กระบวนงาน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก FETCO 55 กระบวนงาน

ดร.กิรติพงศ์ ยังยกตัวอย่างจากข้อเสนอ 3 มาตรการยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทยดังนี้ 1.มาตรการเพิ่มความสะดวกและยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน เช่น การส่งนัดประชุมผู้ถือหุ้น ที่ควรปรับให้การส่งหนังสือเชิญประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางหลักจากเดิมที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นก่อน ความซ้ำซ้อนการยืนยันตัวตน KYC ให้สามารถดำเนินการเพียงครั้งเดียวผ่านระบบกลาง เช่น NDID หรือระบบอื่นๆ และสามารถใช้ได้กับทุก บล. และ บลจ. และการติดและตรวจสอบอาการแสตมป์บนหนังสือมอบฉันทะของผู้ถือหุ้น เสนอว่าควรยกเลิกการติดอากรแสตมป์กรณีดังกล่าว

ส่วนการขาดเครื่องมือในการกำกับสำนักงานสอบบัญชีตลาดทุนนั้น เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพิ่มโทษปรับเป็นพินัย โดยให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. ปรับเป็นพินัยสำนักงานสอบบัญชีซึ่งค่าปรับสูงสุดต้องเพียงพอที่จะป้องกันการกระทำความผิด พร้อมออกแนวทางลงโทษผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี รวมถึงแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ให้สำนักงานสอบบัญชีต้องขึ้นทะเบียนเป็นสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุนกับสำนักงานก.ล.ต.ด้วย นอกจากนี้ยังมีประเด็นการพัฒนาปรับปรุงกลไกการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการดำเนินคดีและปรับปรุงบทลงโทษให้รุนแรงเพียงพอสำหรับการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันไม่เป็นธรรม (Market Misconduct) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนด้วย

2.มาตรการเพิ่มความสะดวกและความเชื่อมั่นตลาดตราสารหนี้ เช่น ข้อจำกัดการโอน Scripless Saving Bond ระหว่างธนาคาร โดยเสนอให้แก้ไขหนังสือชี้ชวนให้สามารถโอนได้ การกำหนดให้ใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน แก้ไขระเบียบหน่วยงานผู้รับหลักประกันให้รองรับการใช้พันธบัตรไร้ใบตราสารเป็นหลักประกันได้ การขาดมาตรการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยในหุ้นกู้คราวฟันดิงก์ ควรกำหนดให้ผู้ให้บริการคราวฟันดิงก์ต้องอำนวยความสะดวกและตั้งกองทุน การกำกับดูแลระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ออกและเสนอขายในและต่างประเทศ เสนอให้สำนักงานก.ล.ต. สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรฐานการให้ข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางโดยเฉพาะการขายผลิตภัณฑ์ต่างประเทศที่แตกต่างจากของไทยเพื่อให้นักลงทุนทราบข้อมูลความเสี่ยงแท้จริง

3.มาตรการการพัฒนากลไกการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำผิดคดีหลักทรัพย์ เช่น ปรับภูมิทัศน์ตลาดทุนด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม Class Action โดยเปิดให้มีองค์กรซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้เข้ามาดำเนินคดีแทนผู้เสียหาย การกำหนดแรงจูงใจของทนายความที่เหมาะสม การสนับสนุนด้านการเงิน การจัดการ ด้านความช่วยเหลือทางกฎหมาย และปรับกระบวนการทางศาลให้มีความกระชับเท่าที่จำเป็นและเป็นธรรมต่อคู่ความ

“ในจำนวนข้อเสนอทั้งหมดมี 22 เรื่องที่มีข้อมูลชัดเจนเพียงพอต่อการประเมินเป็นต้นทุนได้ ซึ่งพบว่าหากมีการปรับปรุงตามข้อเสนอดังกล่าวจะสามารถประหยัดต้นทุนได้อย่างน้อย 96.4 ล้านบาทต่อปี จากต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง 282.9 ล้านบาทต่อปี หรือประหยัดได้ร้อยละ 34.1 และยังสามารถลดต้นทุนค่าเสียโอกาสได้ถึง 943.1 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น ร้อยละ 87.2 จากต้นทุนค่าเสียโอกาสทั้งหมด 1,081.9 ล้านบาทต่อปี”ดร.กิรติพงศ์ ระบุ

ผู้เชี่ยวชาญ แลกเปลี่ยนมุมมองมาตรการป้องปรามการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม    

นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ “กิโยตินกฎระเบียบเพื่อยกระดับมาตรการป้องปรามการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ (market misconduct)” โดยผู้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ประกอบด้วย ผศ. ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และอุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย นายพงศธร ทองด้วง ผู้อำนวยการส่วนนิติการ กองกฎหมาย ปปง. นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน)  และนางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

อ่านสรุปผลการศึกษาเพิ่มเติม

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด