tdri logo
tdri logo
27 มีนาคม 2025
Read in 5 Minutes

Views

การเดินหน้ากฎหมายปัญญาประดิษฐ์ของไทย: การพัฒนาที่อยู่บนทางสองแพร่ง

ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ได้มีความสำคัญมากขึ้น โดยรัฐบาลในประเทศต่างๆ ได้เล็งเห็นประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงประเทศไทยที่มีความพยายามพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่รองรับกับความเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมธุรกิจ SMEs และ Start-up ของไทย รวมถึงเล็งเห็นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์  อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของประเทศไทยในเวลานี้คือ การพัฒนาที่อยู่บนทางสองแพร่งของทิศทางการกำกับปัญญาประดิษฐ์ว่าจะไปในทิศทางใด

นโยบายการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ยังคลุมเครือ

ที่ผ่านมานโยบายปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยยังมีลักษณะคลุมเครือ ซึ่งคล้ายคลึงกันกับนโยบายด้านดิจิทัลอื่นๆ ของประเทศ  อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดกระแสบางอย่างขึ้นมาประเทศไทยก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อสหภาพยุโรปเริ่มเคลื่อนไหวในการกำกับปัญญาประดิษฐ์ แนวคิดดังกล่าวได้รับการถ่ายทอดมาสู่ประเทศไทยเช่นเดียวกันกับกฎหมายด้านดิจิทัลอื่นๆ

แรงกระเพื่อมดังกล่าวได้ทำให้ประเทศไทยรับเอาแนวคิดการกำกับปัญญาประดิษฐ์เข้ามาผ่านการศึกษาและจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ พ.ศ. …. ขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อกำหนดมาตรการกำกับธุรกิจที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ โดยมุ่งเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ และป้องกันความเสียหายต่อสาธารณะ โดยกำหนดให้ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในโครงสร้างพื้นฐาน (critical infrastructure) หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ในการเฝ้าระวังหรือจดจำใบหน้า ในการใช้งานปัญญาประดิษฐ์กลุ่มนี้จะต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ และปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ อาทิ มาตรการควบคุมความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจกับหน่วยงานของรัฐ ในการกำหนดประเภทของปัญญาประดิษฐ์ที่ห้ามใช้งาน และบทลงโทษสำหรับผู้ใช้งานที่ฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้

อย่างไรก็ดี ต่อมานโยบายปัญญาประดิษฐ์ของไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ในเดือนกรกฎาคม 2565 เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2565 – 2570) หรือแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยแผนดังกล่าวได้สะท้อนความตระหนักถึงความสำคัญและเป้าหมายในการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 5 ประการ ได้แก่

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อรองรับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์อย่างเหมาะสม พร้อมป้องกันการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในทางที่ผิด
  • ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน
  • ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ให้เพียงพอต่อความต้องการ และเพิ่มความเชี่ยวชาญในการใช้งานปัญญาประดิษฐ์
  • ยุทธศาสตร์ที่ 4 สนับสนุนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในภาคสาธารณสุข พลังงาน การศึกษา การท่องเที่ยว เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
  • ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมพัฒนา Sand Box และระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทย

ดังจะเห็นได้ว่าในยุทธศาสตร์ที่ 1 นั้น ได้มีการผลักดันให้มีการยกร่างกฎหมายการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ในเวลาต่อมา โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ มีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมและลดมาตรการที่เป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่อการส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ และสร้างความร่วมมือในการศึกษาระหว่างรัฐกับเอกชน

นโยบายดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะกรรมการปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1 ที่ระบุว่า “รัฐควรจะต้องสนับสนุนให้เกิดการสร้างปัญญาประดิษฐ์ และพัฒนาระบบนิเวศที่รองรับปัญญาประดิษฐ์อย่างครบถ้วน เท่าทัน มีความเป็นรูปธรรม ยั่งยืน และการพัฒนากฎหมายต้องทำอย่างเหมาะสมและรอบคอบ ไม่กีดขวางการพัฒนา และเอื้อต่อการส่งเสริมระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์”

ภายใต้ร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดกลไกที่มุ่งรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมประโยชน์จาก AI และการกำกับดูแลความเสี่ยง โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ทำหน้าที่ออกนโยบาย มาตรฐาน และสนับสนุนผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ผ่านการจดทะเบียน ให้คำปรึกษา และทดสอบปัญญาประดิษฐ์ภายใต้ศูนย์ทดสอบ (Sandbox) เพื่อให้สามารถพัฒนาและทดลองปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ระหว่างภาครัฐและเอกชน ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยและเป็นธรรม

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังได้วางกรอบสัญญามาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและกำหนดความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ พร้อมจัดตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายจากปัญญาประดิษฐ์ ในกรณีที่ไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้ และกำหนดมาตรการคุ้มครองข้อมูลลับของผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI Provider) ที่ส่งให้ภาครัฐ

ลักษณะของกลไกที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ จึงมีแนวทางกำกับปัญญาประดิษฐ์ที่ยืดหยุ่นกว่ากฎหมายปัญญาประดิษฐ์ของสหภาพยุโรป และร่างพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ พ.ศ. ….

ทางแยกของกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ไทยในการพัฒนานโยบาย

ความท้าทายสำคัญของประเทศไทยในเวลานี้ก็คือ เราจะเดินหน้าต่อไปกันอย่างไรในประเด็นด้านกฎหมาย เพราะในขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ ที่พูดเรื่องการกำกับปัญญาประดิษฐ์ในคนละลักษณะ ความแตกต่างระหว่างกฎหมายสองฉบับนี้สะท้อนถึงทางเลือกเชิงนโยบายที่สำคัญของประเทศไทย เพราะในด้านหนึ่ง กฎหมายฉบับแรกมุ่งควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างเข้มงวด แต่ในอีกด้านหนึ่งกฎหมายอีกฉบับก็มุ่งส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์

ในขณะเดียวกันทางเลือกของการพัฒนานี้ก็ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ หากประเทศไทยมุ่งมั่นจะเดินตามแนวทางของสหภาพยุโรป โดยประกาศใช้กฎหมายปัญญาประดิษฐ์ที่เข้มงวดในเรื่องจริยธรรม ความโปร่งใส และป้องกันอคติ แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่กรอบกฎหมายที่เข้มงวดเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ และทำให้ไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ข้อจำกัดนี้อาจลดโอกาสในการสร้างนวัตกรรมของภาคธุรกิจในประเทศ รวมถึงมาตรการดังกล่าวอาจจะยิ่งสร้างปัญหา เมื่อกฎระเบียบด้านดิจิทัลมีแนวโน้มขยายตัวและทับซ้อนกันมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของไทย

ในทางตรงข้ามหากประเทศไทยเลือกที่จะใช้กฎหมายที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะผ่าน กลไกการกำกับแบบสมัครใจ อาทิ AI Sandboxes ซึ่งเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถทดลองและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นกว่า โดยยังคงปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แม้ว่าแนวทางนี้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกฎหมายที่เข้มงวดเกินไป จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์

อย่างไรก็ดี แนวทางนี้ก็มีความท้าทายเช่นกัน กล่าวคือ ประเทศไทยต้องมั่นใจว่ากรอบกฎหมายปัจจุบัน สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง อาทิ ความโปร่งใส การป้องกันอคติ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจากการเก็บรวบรวมและการนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากการกำกับดูแลบกพร่อง ก็อาจจะนำมาสู่ผลกระทบทางสังคม

คำถามสำคัญในเวลานี้ก็คือ เราจะสร้างสมดุลในการพัฒนากฎหมายปัญญาประดิษฐ์ของไทยได้อย่างไร ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมควบคู่ไปกับการปรับลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

อนาคตของการพัฒนากฎหมาย AI ในประเทศไทย

นโยบายปัญญาประดิษฐ์ของไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ  อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นปัญหาร่วมกันของทั้งโลก โดยเฉพาะหลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำ AI Action ณ กรุงปารีส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการแสดงวิสัยทัศน์ตอบโต้กันระหว่างรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกากับประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ดังนี้ ทางเลือกของกฎหมายปัญญาประดิษฐ์ไทย จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเติบโตทางอุตสาหกรรม แต่ยังต้องคำนึงถึง กลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาด และปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังกำหนดทิศทางของปัญญาประดิษฐ์ในเวทีโลกด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยอาจจะต้องมองหาทางเลือกที่สาม คือ การมีกรอบทางกฎหมายที่รักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์กับการกำกับดูแลของภาครัฐ โดยแนวทางนี้จะช่วยให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สามารถดำเนินไปได้อย่างก้าวหน้า โดยยังคงอยู่ภายใต้การกำกับที่เหมาะสม รวมถึงอาจมีการกำหนดหลักจริยธรรมในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งแม้จะไม่มีผลบังคับทางกฎหมายโดยตรง แต่สามารถเป็นแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ กฎหมายอาจจะต้องมีมาตรการจำกัดการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยและชีวิตของมนุษย์ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางจัดการความเสี่ยงและข้อกำหนดเฉพาะในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์ถูกนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย

แนวทางนี้อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ในการสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ที่มีโครงสร้างชัดเจน ซึ่งเอื้อให้เทคโนโลยีสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการรักษาความรับผิดชอบและความโปร่งใส ในการกำกับและป้องกันผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อสังคม

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ยังจำเป็นต้องได้รับการศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงแนวทางการกำกับปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีของโลก ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความปลอดภัยของสังคม

บทความโดย เขมภัทร ทฤษฎิคุณ และวิชญาดา อำพนกิจวิวัฒน์ ทีมกฎหมายเพื่อการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ Tech for Good Institute โดยแปลจากบทความภาษาอังกฤษชื่อว่า Navigating Thailand’s AI Law: Development at a Crossroads

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด