tdri logo
tdri logo
21 มีนาคม 2025
Read in 5 Minutes

Views

ไร้ชดเชยเยียวยาผู้ใช้ทางด่วน ที่ได้รับผลกระทบ เหตุคานถล่ม พระราม2

ผอ.วิจัยนโยบายขนส่งฯ ทีดีอาร์ไอ กังขา โครงสร้างก่อสร้างทางด่วนพระราม2 ถล่ม แต่ไร้ชดเชยเยียวยาผู้ใช้ทาง และยังต้องจ่ายค่าทางด่วนเท่าเดิม ชี้ ก.คมนาคมต้องช่วยจัดการความเป็นธรรมให้ประชาชน แนะผู้ได้รับผลกระทบยื่นฟ้องศาลปกครอง ห่วงโครงการใหม่เตรียมก่อสร้างทางยกระดับคร่อมทางด่วนย่านพระรามหก เน้นย้ำ ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างให้สูง เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์  ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุโครงสร้างพังถล่มระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิต และกระทบต่อเส้นทางสัญจรทางด่วนเฉลิมมหานคร จนทำให้ต้องปิดทางพิเศษด่านดาวคะนองชั่วคราว ว่า ต้องมีการสอบสวนเชิงลึกถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไร ทั้งวีธีการก่อสร้าง คุณภาพของผู้รับเหมา ความประมาทเลินเล่อหรือเหตุสุดวิสัย แต่อุบัติเหตุจากการก่อสร้างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอาจแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องเชิงระบบ เช่น คุณภาพผู้รับเหมาและกระบวนการก่อสร้าง การเร่งงาน และควบคุมงานก่อสร้างหรือไม่

ดร.สุเมธ กล่าวว่า แม้จะมีความพยายามของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในการพยายามเร่งเคลียร์พื้นที่ทำให้สามารถเปิดด่านดาวคะนองขาเข้าเมืองไปในวันที่20 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ประเด็นที่ยังขาดไปคือ เหตุใดไม่มีการพูดถึงมาตรการเยียวยาประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการทางด่วน ที่ต้องจ่ายค่าผ่านทางเท่าเดิมแต่ไม่สามารถลงด่านเดิมได้ โดยต้องอ้อมไปใช้ด่านสุขสวัสดิ์แทน รวมทั้งประชาชนที่ใช้เส้นทางสุขสวัสดิ์อยู่เดิมต้องเผชิญกับภาวะการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้ต้องได้รับการชดเชยเยียวยาด้วยหรือไม่

“กทพ.เป็นรัฐวิสาหกิจ มีรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางจากประชาชน ถือเป็นองค์กรธุรกิจ แต่เมื่อมีความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังไม่เห็นกทพ.มีมาตรการชดเชยเยียวยากับผู้ใช้ทางที่ใช้ทางพิเศษ หรือประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด ซึ่งการชดเชยเยียวยานี้จะเป็นสัญญาณตอบกลับไปที่ตัวหน่วยงานว่า ถ้าไม่ระมัดระวัง สุดท้ายจะต้องชดเชยเยียวยา สิ่งที่ทำได้คือต้องป้องกันได้ดีว่านี้ คุณต้องลงทุน ต้องมีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการป้องกันให้มากกว่านี้หรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นเวลาเกิดเหตุ สุดท้ายคนที่ลำบากคือประชาชน และก็ไม่ได้รับการบรรเทาทุกข์ คำถามคือเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้กระทรวงคมนาคมอาจจะต้องเข้ามาดูแล ขณะที่ประชาชนอาจต้องใช้สิทธิด้วยการฟ้องร้องผ่านทางศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลออกคำสั่งให้มีการเยียวยา ” ดร.สุเมธกล่าว  

ดร.สุเมธ ยังกล่าวถึงรูปแบบการก่อสร้างโครงการทางยกระดับที่ถล่มว่า เป็นการก่อสร้างทางคร่อมทางด่วนเดิม หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าทางด่วนสองชั้น ซึ่งการก่อสร้างในลักษณะดังกล่าวจะต้องใช้มาตรฐานการก่อสร้างที่สูงมาก หากควบคุมงานก่อสร้างไม่ดี มีข้อผิดพลาดขึ้นมาก็จะเกิดการถล่มได้  

ทั้งนี้ล่าสุดทราบมาว่ากำลังจะมีโครงการที่ใช้การก่อสร้างลักษณะดังกล่าวอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งก็คือโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ศรีรัช บางซื่อ – พระราม 6  ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นมาว่า ด้วยลักษณะการก่อสร้างนี้ มีโอกาสหรือไม่ที่จะเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวจะมีความเสี่ยงมากกว่าพื้นที่ดาวคะนอง เนื่องจากเป็นพื้นที่ชั้นใน มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง และประชาชนใช้สัญจรจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือจะต้องยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซากขึ้นอีก

“เป็นหน้าของคนดูแลพื้นที่ก่อสร้างที่จะต้องกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยให้ได้ตามมาตรฐาน ในต่างประเทศให้ความสำคัญมากกับพื้นที่ทำงาน ที่ต้องมีมาตรฐานสูง แต่ของเรายังต่ำ ต้องมีการกำกับระยะร่น ระยะห่าง สัญญาณป้ายต้องชัดเจน ถ้าทำไม่ได้ปัญหาจะเกิดขึ้น และถ้าไม่สามารถจัดการความเสี่ยงได้ ก็ต้องปิดทาง หรือ ปิดเป็นบางช่วง เพราะความปลอดภัยต้องมาก่อน และค่อยมาบริหารจัดการระบบการจราจรกัน ไม่ใช้สร้างแบบเสี่ยง ๆ แล้วให้ประชาชนขับรถหลบเอา หน้าที่ของประชาชน คือขับรถในทางปกติ ปฏิบัติตามกฎจราจรและใช้ความเร็วที่กำหนดไว้เท่านั้น” ผอ.วิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ระบุ

นักวิจัย

ดร. สุเมธ องกิตติกุล
รองประธานสถาบัน ดูแลงานด้านการบริหารระบบงานภายใน / ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด