tdri logo
tdri logo
23 พฤษภาคม 2025
Read in 5 Minutes

Views

ประธานทีดีอาร์ไอ ชี้ เครือข่ายมือถือล่ม สะท้อนปัญหาระบบโทรคมนาคมไทย เหลือผู้ให้บริการ 2 ราย

ประธานทีดีอาร์ไอ ชี้ เครือข่ายมือถือล่ม สะท้อนปัญหาระบบโทรคมนาคมไทย เหลือผู้ให้บริการ 2 ราย พบเหตุขัดข้องมากขึ้นหลังควบรวม เสนอ กสทช. เพิ่มบทลงโทษหากเกิดเหตุซ้ำ และรัฐบาลควรเปิดเสรีให้มีผู้ให้บริการรายใหม่จากต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ เข้ามาแข่งขันเพิ่ม เชื่อผู้บริโภคได้ประโยชน์ด้านราคาและคุณภาพ แถมไทยสามารถใช้เป็นโอกาสเจรจาภาษีกับทรัมป์ได้   

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขัดข้องทั่วประเทศเป็นเวลานาน และมีผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบจำนวนมากว่า เหตุที่เกิดสะท้อนให้เห็นถึงอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของระบบโทรคมนาคมในประเทศไทย ที่มีผู้ให้บริการเหลืออยู่เพียง 2 ราย ซึ่งและข้อมูลหลังการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค และ AIS-3BB ชี้ว่าผู้บริโภคประสบปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพสัญญาณมากขึ้น เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า หลุดบ่อย หรือมีเหตุขัดข้องที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานจริง

ดร.สมเกียรติ ระบุด้วยว่า จากผลสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่าผู้ใช้บริการกว่า 81 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครือข่ายของบริษัทที่มีการควบรวมพบปัญหามากที่สุด ส่วนผลกระทบด้านความเสียหายนั้นมีทั้งความไม่สะดวกในการใช้งาน ธุรกิจที่ต้องหยุดชะงัก ซึ่งเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้างเมื่อเกิดเหตุขัดข้องเป็นเวลานาน

“เมื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันหลังควบรวมกิจการในไทยพบว่าปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพและความถี่ของเหตุขัดข้องเพิ่มขึ้น และมีผลกระทบทั้งต่อผู้บริโภคทั่วไปรวมทั้งภาคธุรกิจ นอกจากนี้ตลาดโทรคมนาคมแบบมีผู้ประกอบการเพียง 2 ราย ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ต้องใช้ฐานความรู้ ระบบไอที และไอโอที (Internet of Things หรือ IoT) ในการพัฒนาเศรษฐกิจพัฒนาอุตสาหกรรม การทำเกษตรอัจฉริยะ และการให้บริการต่าง ๆ อีกด้วย” ประธานทีดีอาร์ไอระบุ

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศจะมีความมั่นคงมากขึ้น หากไทยสามารถลดความเสี่ยงอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (22 พ.ค.)ได้ ด้วยการที่ตลาดโทรคมนาคมต้องเป็นตลาดที่มีการแข่งขันมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงคาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งรัดเปิดเสรีให้มีผู้ให้บริการโทรคมนาคมหน้าใหม่เกิดขึ้นในอนาคต โดยเริ่มจากการเปิดเสรีบริการโทรคมนาคมให้แก่สหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นระหว่างผู้ให้บริการ ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการเจรจาต่อรองกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ดำเนินนโยบายภาษีตอบโต้กับไทย ซึ่งจะครบกำหนดการชะลอการขึ้นภาษี 90 วันในต้นเดือนกรกฎาคมนี้

เสนอกสทช. เข้มกวดขันให้บริการตามมาตรฐานสากล ใช้บทลงโทษตามระดับความรุนแรง ยกเคสตปท.ปรับหนักปรับจริง

ดร.สมเกียรติ ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อกสทช.ด้วยว่า กสทช.ควรเข้มงวดกวดขันกับผู้ให้บริการเพื่อให้การบริการได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งนอกจากผู้ให้บริการจะชดเชยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบตามที่ประกาศไปแล้ว เห็นว่ากสทช.ควรกำหนดบทลงโทษกับผู้ให้บริการ โดยใช้บทลงโทษตามระดับความรุนแรง และระยะเวลาที่เกิดเหตุขัดข้อง โดยพิจารณาเพิ่มค่าปรับหากเกิดเหตุซ้ำ หรือยาวนาน เช่น เมื่อปี 2022 หน่วยงานกำกับดูแลโทรคมนาคมออสเตรเลียปรับบริษัท Optus เป็นเงิน 12 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 250 ล้านบาท)เนื่องจากบริษัทไม่สามารถให้บริการโทรศัพท์ฉุกเฉินแก่ผู้ใช้บริการหลายพันราย ในช่วงที่เกิดเหตุขัดข้องทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักร ที่มีการปรับบริษัท BT เป็นเงิน 17.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 825 ล้านบาท) เมื่อปี 2018 เนื่องจากระบบขัดข้องทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่อสายด่วน 999 ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง  ส่วนในสหรัฐฯ บริษัท Charter Communication ตกลงชำระค่าปรับแพ่ง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 500 ล้านบาท) เพื่อยุติการสอบสวนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้านการขัดข้องของเครือข่ายและบริการ 911 เป็นต้น อย่างไรก็ตามในประเทศไทยเท่าที่ทราบ กสทช.เคยเตือนแต่ไม่เคยปรับผู้ให้บริการในลักษณะ เดียวกัน

ทั้งนี้ในอนาคตกสทช. ต้องเฝ้าระวังและกำกับให้ผู้ให้บริการรายงานการปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพบริการ ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะ และให้ดำเนินการแก้ไขโดยเร็วหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้ต้องสร้างความโปร่งใสและสื่อสารต่อสาธารณะ โดยให้ผู้ให้บริการแจ้งข้อมูลขัดข้องอย่างชัดเจน ถึงสาเหตุ พร้อมระบุระยะเวลาในการแก้ไขเมื่อเกิดเหตุ รวมทั้งเผยแพร่ “แผนที่สัญญาณ” ที่แสดงความแรงของสัญญาณในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยปกป้องผู้บริโภค  และกระตุ้นให้ผู้ให้บริการพัฒนาความน่าเชื่อถือของบริการ


แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

สรุป #ทรูล่ม เน็ต-มือถือใช้ไม่ได้ ผู้ใช้บ่นระงม งานนี้ใครต้องรับผิดชอบ? https://www.amarintv.com/spotlight/business-marketing/514934
กสทช.เมินกำกับควบรวม ปล่อยผู้บริโภคจ่ายอ่วม https://www.tcc.or.th/nbtc-ignore-telecommerger/
ผู้บริโภครับกรรม! กสทช.ล้มเหลวกำกับควบรวมทรู-ดีแทค และ AIS-3BB เอื้อ … https://www.infoquest.co.th/2025/474965
ส่องฐานลูกค้า True ผู้นำตลาดกับบททดสอบความเชื่อมั่นผู้บริโภค – posttoday https://www.posttoday.com/business/724410
‘สภาพัฒน์’ ชี้ผลกระทบ 2 ค่ายมือถือควบรวม พบปัญหาสัญญาณ – ค่าบริการ … https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1116213
#ทรูล่ม โซเชียลบ่นแฟ่ด ใช้เน็ต-มือถือไม่ได้ | Social Trends https://www.dataxet.co/social/2025/309789
โลกที่พบหลังการควบรวมยักษ์ใหญ่โทรคมนาคม ภายใต้การกำกับของ กสทช. https://www.the101.world/nbtc-assessment-and-consumer-impact-2/
สภาพตลาดโทรคมนาคม – TDRI

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.isranews.org/article/isranews-short-news/138183-isranews-Sapa-tcc.html
https://thestandard.co/true-internet-service-disruption-nbtc-enforcement/
https://www.consumerthai.org/main/index.php?option=com_content&view=article&id=1433%3A2010-10-05-10-41-34&catid=25%3A2008-12-15-17-48-17&Itemid=1
https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&id=L2xWeUs5Vmh4RXM9&security=TRUE
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_9770807
https://www.tcc.or.th/pirongrong-true-consumerprotection/
https://btfp.nbtc.go.th/getattachment/bb610388-c87e-4367-a6cc-d3a9b4145ae3/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%97%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%A1-%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A-23-2563-(25).aspx
https://www.infoquest.co.th/2024/397967

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด