tdri logo
tdri logo
19 พฤษภาคม 2025
Read in 5 Minutes

Views

จยย.เสี่ยงตายสูง พบ 7 ล้านคันไม่ทำประกันภาคบังคับ

3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในจ.ปราจีนบุรีมาจากรถจักรยานยนต์ โดย 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิต คือกลุ่มเยาวชน และผู้สูงอายุ

เป็นสถิติที่ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในเวทีเสวนา Road Safety Talk: “ถอดรหัส 304 ปักหมุดปราจีนต้นแบบถนนปลอดภัย” ที่จ.ปราจีนบุรี ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับจังหวัดปราจีนบุรี และทีดีอาร์ไอ

ดร.สุเมธ ระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีความพยายามลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากรภายในปี 2570 แต่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาไทยยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย โดยในปี 2567 จำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าเป้าที่วางไว้ถึง 125% 

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

นั่นหมายความว่าหากต้องการเดินสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้ จุดเน้นสำคัญอยู่ที่การลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ให้ได้

สอดรับกับความเห็นของศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (TARC) ระบุว่า  80% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมาจากรถจักรยานยนต์  โดยลักษณะของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มี  3 ลักษณะ คือ การชนแบบตัดหน้า ชนท้าย รวมทั้งการออกมาจากซอยไม่มองทางขวา

ที่มา: ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (TARC)

อุบัติเหตุทั้ง 3 ลักษณะนี้ มีสาเหตุมาจากความผิดพลาดในการคาดการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ขาดทักษะในการประเมินสถานการณ์เสี่ยง ซึ่งในกลุ่มนี้พบว่ามีถึง 45 % ที่ไม่มีใบขับขี่

จากการรวบรวมข้อมูลยังพบด้วยว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำนวนถึง 98% ระบุว่าหัดขี่รถด้วยตนเอง มีไม่ถึง 2% ที่เรียนขี่รถจักรยานยนต์ผ่านโรงเรียนการขับขี่ที่ปลอดภัย จึงเป็นที่มาของการคาดการณ์ที่ผิดพลาดเวลาเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นหากอยากจะลดอุบัติเหตุให้ได้ผลจะต้องเน้นไปที่เยาวชน รวมทั้งผู้ขับขี่หน้าใหม่ ให้มีความสามารถในการควบคุมรถขณะที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (TARC)
“ข้อมูลเราเคยไปสัมภาษณ์มา 70% ไม่รู้ว่าเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินจะต้องเบรคอย่างไร เบรคหน้าอย่างเดียว หรือเบรคหลังอย่างเดียว ส่วนใหญ่บอกไม่เบรคเลย ใช้หักหลบเอา หรือมีการใช้เบรคที่ผิด” ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ระบุ

สำหรับมาตรการในการแก้ปัญหานั้น ดร.สุเมธมองว่า ควรเน้นการบังคับใช้กฎหมาย และส่งเสริมมาตรการลดความเสี่ยง เช่น การจับความเร็ว การส่งเสริมการใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงการปรับปรุงกายภาพ อีกทั้งจะต้องหามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมซึ่งจะต้องหารือร่วมกับนักวิชาการ และคณะทำงานในจังหวัดเพื่อลดความเสี่ยงในพื้นที่ต่อไป

ขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยภาคบังคับ ซึ่งในปี 2567 พบว่า มีรถจักรยานยนต์อย่างน้อย 7.3 ล้านคัน หรือ 32% ไม่ทำประกันภัยภาคบังคับที่วิ่งอยู่บนท้องถนน ขณะที่สัดส่วนการไม่ทำประกันภัยภาคบังคับใน จ.ปราจีนบุรีมากกว่าสัดส่วนของประเทศ อยู่ที่43% หรือ 7 หมื่นคัน ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการทำประกันภัยภาคบังคับในกลุ่มเป้าหมาย อย่างผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดปราจีนบุรี เช่น นิคม 304 จะเป็นสิ่งที่โครงการนี้จะทดลองศึกษา และสังเคราะห์แนวทางที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการดำเนินงานของ คปภ. ต่อไป

ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

“การทำประกันภัยด้านหนึ่งเป็นปลายเหตุแต่ถ้าไม่มีประกันภัยเลยการชดเชยเยียวยาจะทำได้ยากมาก และจะได้ชดเชยเยียวยาที่น้อยมาก เพราะฉะนั้นการทำประกันภัยอย่างไรก็มีความจำเป็นอยู่ในต่างประเทศ รถทำประกันภัยกันทุกคัน ถึงแม้ว่าจะมีการเกิดเหตุค่อนข้างน้อย” ดร.สุเมธระบุ

ด้านนายเสรี กวินรัชตโรจน์ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ กล่าวว่า ประกันภัยภาคบังคับเป็นสิ่งที่สามารถช่วยเหลือเขาได้ในยามเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ดังนั้นรถทุกคันควรทำประกันภัยภาคบังคับ แต่ปัญหาคือคนรู้สึกว่าใช้ทางสั้น ความเสี่ยงไม่มี จึงไม่ซื้อประกันภัยภาคบังคับ แต่อยากให้ทุกคนคิดว่าประกันภัยเป็นการบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ขณะที่สถานะของประกันภัยภาคสมัครใจนั้น มีความน่าเป็นห่วงมากกว่าภาคบังคับเพราะสัดส่วนน้อยกว่าภาคบังคับกว่าครึ่ง

นายเสรี กวินรัชตโรจน์ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์

ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ ระบุว่า ภาคประกันภัยต้องการส่งเสริมมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ดี ในปีที่ผ่านจึงมีมาตรการ “Pay How You Drive” ในรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ซึ่งประกันภัยยนต์จะมีเงื่อนไข หากผู้ขับขี่มีประวัติการขับรถดีแบบต่อเนื่อง หรือไม่ได้เป็นฝ่ายหรือฝ่ายประมาทจะทำให้ได้ลดค่าเบี้ยประกันภัยในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งหมายความว่าพฤติกรรมการขับขี่ของแต่ละบุคคลมีผลต่อราคาค่าเบี้ยประกันรถยนต์ที่จะต้องจ่าย  ซึ่งมาตรการนี้จะส่งเสริมให้เกิดการขับรถที่ดีขึ้น และในปีหน้าประกันภัยในรูปแบบนี้จะใช้ได้กับกรมธรรม์ในทุกประเภท

ด้านนางมยุรินทร์ สุทธิรัตนพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า แม้กองทุนทดแทนจะให้ความช่วยเหลือทันทีโดยไม่ต้องพิสูจน์สิทธิ แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกรณีที่รถไม่มีประกันภัยภาคบังคับ

ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นทุกปี แต่การทำประกันภัยภาคบังคับกลับยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด โดยเฉพาะในกรณีรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงถึง 80% และในจำนวนนั้นมีถึง 60% ไม่มีประกันภัย ในปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุเข้าสู่กองทุนทดแทนมากกว่า 14,000 รายต่อปี โดยเฉพาะกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บที่ไม่มีประกันภัยกว่า 12,000 ราย

นางมยุรินทร์ สุทธิรัตนพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

นางมยุรินทร์ เน้นย้ำว่า คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยมีเป้าหมายชัดเจนในการลดความสูญเสีย โดยไม่ต้องการให้การเยียวยาเป็นเพียงแค่การแก้ไขหลังเกิดเหตุ แต่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการป้องกันและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันภัยภาคบังคับอย่างทั่วถึง

“การบริหารความเสี่ยงหรือการประกันภัยภาคบังคับ ควรเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับทุกคน ไม่ใช่เรื่องทางเลือก แต่คือสิ่งจำเป็น เชื่อมั่นว่าการสนับสนุนจากภาควิชาการ และกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยบนท้องถนนในพื้นที่จ.ปราจีนบุรีจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่ไม่ใช่แค่กิจกรรมชั่วคราว แต่เป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศต่อ”ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษคปภ.ระบุ

ติดตามมาตรการและข่าวสารแคมเปญลดอุบัติเหตุทางถนนในจ.ปราจีนบุรีได้ที่เพจ Road Safety ที่ปราจีน 

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด