เปิดเทอมใหม่นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะทดลองใช้ “หลักสูตรใหม่” กับโรงเรียนกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ แม้ข่าวนี้จะเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งแต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายสำคัญของระบบการศึกษาไทย ที่ยังอิงกับแรงผลักดันทางการเมืองมากกว่ากลไกการพัฒนาหลักสูตรอย่างเป็นระบบ
17 ปีผ่านไป เด็กไทยยังเรียนเรื่องเดิม
นักเรียนไทยตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 – ม.6 ต้องเรียนตามเป้าหมาย และเนื้อหาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งประกาศใช้มากว่า 17 ปี
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผลการทดสอบ PISA ของเด็กไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด กระแสวิพากษ์วิจารณ์หลักสูตรแกนกลางฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับเป้าหมายของหลักสูตร ที่เน้นถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ มากกว่าพัฒนาให้ผู้เรียนเกิด “สมรรถนะ” หรือสามารถนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
แม้ศธ. ได้ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางฯ มาโดยตลอด แต่การปรับปรุงกลับไม่มีทิศทาง หรือแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ส่งผลให้การปรับหลักสูตรแต่ละครั้งมักเป็นการตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การบริหารจัดการเวลาเรียน หรือเกณฑ์การจบหลักสูตร หรือเป็นไปตามวาระทางการเมืองมากกว่าตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม หรือทิศทางการจัดการศึกษาของโลก
การปรับเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ ในปี 2560 ที่ ศธ. ได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยกเครื่องเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภูมิศาสตร์ให้ทันสมัย ขณะที่เนื้อหาของวิชาอื่น ๆ ยังคงเดิม กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป้าหมายและเนื้อหาส่วนใหญ่ของหลักสูตรเด็กไทยต้องเรียนแทบไม่เปลี่ยน ไปจาก 17 ปีที่แล้วที่โทรศัพท์มือถือเป็นยุค 2G และ AI ยังคงเป็นเรื่องไกลตัว
5 ปีผ่านไป หลักสูตรใหม่ยังไม่ได้ใช้จริง
ด้วยข้อจำกัดของหลักสูตรแกนกลางฯ ทำให้ตั้งแต่ปี 2560 หลายองค์กรภาคประชาสังคมจึงได้ร่วมกันผลักดันข้อเสนอให้ ศธ. ปรับหลักสูตรแกนกลางฯ ให้สอดคล้องกับแนวคิดการศึกษาฐานสมรรถนะ ซึ่งเน้นพัฒนาให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
ศธ.จึงได้ริเริ่มแนวคิดที่จะเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางฯ ฉบับปัจจุบัน ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะตั้งแต่ปี 2563 แม้จะถูกล้มเลิกไปถึง 2 ครั้งจากกระแสต่อต้านของครูจำนวนหนึ่ง และการเปลี่ยนรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุดร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ (ระดับประถมศึกษา) ก็แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564 พร้อมแผนทดลองใช้หลักสูตรตั้งแต่ปี 2565 และประกาศใช้หลักสูตรทั่วประเทศภายในปี 2567
จากการติดตามการของทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ พบว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีหลายประการเมื่อเทียบกับหลักสูตรแกนกลางฯ เช่น เป้าหมายการเรียนรู้ที่ทันสมัย และเน้นการปฏิบัติจริงมากขึ้น การมีชั่วโมงเรียนบูรณาการให้นักเรียนฝึกนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง และการมีคู่มือครูที่ชัดเจน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้น่าจะช่วยให้การเรียนการสอนตอบโจทย์ผู้เรียนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 หลังจากที่รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ศธ. ในขณะนั้นระบุว่ายังไม่มีแนวคิดที่จะปรับหลักสูตร ศธ.ก็ไม่มีการดำเนินการขับเคลื่อนการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างเป็นรูปธรรม และหยุดแผนการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาเป็นหลักสูตรแกนกลางฯ ฉบับใหม่ ดังที่วางแผนไว้ก่อนหน้า
ท่ามกลางสถานะที่คลุมเครือของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ศธ.เพิ่งเผยแพร่ร่างหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัยในระดับชั้นปฐมวัย และประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงปลายปี 2567 และจะทดลองใช้ในสถานศึกษากว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เปิดเทอมใหม่ที่จะถึงนี้ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการปรับหลักสูตรใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะยังคงใช้หลักสูตรเดิมที่ประกาศมาร่วม 17 ปีต่อไป และจะมีการทดลองใช้หลักสูตรสองฉบับพร้อมกันตั้งแต่ปี 2568 โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการปรับและประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางฯ ฉบับใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อใด
แนวทางการพัฒนาหลักสูตรของต่างประเทศ
งานวิชาการหลายชิ้นชี้ตรงกันว่า ประเทศที่ระบบการศึกษามีคุณภาพต่างวางกลไกเพื่อให้การปรับหลักสูตรเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทีมวิจัยทีดีอาร์ไอได้ศึกษาระบบการพัฒนาหลักสูตรของประเทศออสเตรเลีย และประเทศอังกฤษ ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีการปรับหลักสูตรเป็นประจำ และมีระบบการปรับหลักสูตรที่น่าสนใจ ดังนี้
ประเทศอังกฤษ เริ่มประกาศใช้หลักสูตรชาติ ตั้งแต่ปี 2531 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการปรับเนื้อหาหลักสูตรมาแล้ว 5 ครั้ง หรือเฉลี่ยทุก 8 ปี การปรับหลักสูตรแต่ละครั้งจะมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งคณะทำงานทบทวนหลักสูตร และกำหนดเป้าหมาย หลักคิด แนวทางการทำงาน รวมถึงกรอบระยะเวลาการทบทวนหลักสูตรไว้ใน (Term of Reference) อย่างชัดเจน
หลักการหนึ่งที่กำหนด คือ ให้กระบวนการทบทวนหลักสูตรมีการหารืออย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ หลังจากการทบทวนหลักสูตรเสร็จสิ้น หากคณะทำงานมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับหลักสูตร กระทรวงก็มีข้อกำหนดให้ต้องเว้นระยะเวลาให้สถานศึกษาเตรียมตัวอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา
ประเทศออสเตรเลีย แม้เพิ่งจะเริ่มประกาศใช้หลักสูตรในปี 2551 แต่ก็มีการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตรมามากถึง 9 ครั้ง และมีการทบทวนหลักสูตรครั้งใหญ่เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ 2 ครั้ง การปรับปรุงหลักสูตรของประเทศออสเตรเลียจะดำเนินงานโดย Australian Curriculum, Assessment and Reporting Authority (ACARA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อภารกิจเกี่ยวกับหลักสูตรโดยเฉพาะ และมีการกำหนดกฎระเบียบให้ต้องติดตามประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตรทุกปี รวมทั้งให้มีการทบทวน หลักสูตรครั้งใหญ่ทุก 6 ปี โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
หลักสูตรแกนกลางเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการจัดการศึกษา แต่การพัฒนาหลักสูตรของประเทศไทยกลับไม่มีระบบการพัฒนาหลักสูตรที่ชัดเจน จึงส่งผลให้การปรับหลักสูตรเกิดความล่าช้าขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ และต้องพึ่งแรงผลักดันจากภาคการเมืองเป็นหลัก
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทันสมัยอยู่เสมอ เราขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา และออกกฎหมายลำดับรองพร้อมระบุประเด็นที่สำคัญ
เช่น กรอบระยะเวลาสำหรับการติดตามประเมินผลหลักสูตร สัดส่วนของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการพัฒนาหลักสูตรและการสื่อสารกับสาธารณชน รวมทั้งกำหนดระยะเวลาเตรียมความพร้อมก่อนการนำหลักสูตรไปใช้จริง
เพื่อให้เด็กไทยได้เรียนหลักสูตรที่เท่าทันโลกที่ผ่านการพิจารณามาเป็นอย่างดี
บทความโดย ณัฐวุฒิ เพิ่มจิตร, พิทวัส นามนวด, ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา ทีดีอาร์ไอ
เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2568