สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์ บวก ลบ คูณ หาย ในสังคมไทย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่การพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ขอเชิญทุกท่านติดตามหนังสือ “สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์บวก ลบ คูณ หายในสังคมไทย”

หนังสือที่จะชวนผู้อ่านเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย ผ่านการพูดคุยกับทั้งผู้ที่ศึกษาประเด็นคอร์รัปชัน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการต่อต้านคอร์รัปชันในแง่มุมต่างๆ ทั้ง 11 ท่าน ผ่านโจทย์ “สมการคอร์รัปชัน” ของศาสตราจารย์โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) ที่ได้เสนอกรอบแนวคิดเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตในรูปแบบของ “สมการคอร์รัปชัน” ว่าต้องเข้าใจประเด็น  “การผูกขาด” “การใช้ดุลยพินิจ” และ “กลไกความรับผิดชอบ” 

นอกจากนี้ เรายังเพิ่มเติมประเด็น “การเมืองแบบเปิด” ในส่วนสุดท้ายของหนังสือ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจระบบการเมืองที่เป็นอยู่ เพื่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันด้วยความยั่งยืนอีกด้วย 

“การพูดถึงประชาธิปไตยที่สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์มันเป็นภาพมายา การทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการและมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้นหมายถึงกำกับรัฐบาลได้ ผ่านสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิเสรีภาพของสื่อ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสู้กับคอร์รัปชัน”

ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความไร้ประสิทธิภาพกับการทุจริต ก็มักจะปนๆกัน เมื่อมันปนๆ กันกระบวนการพิสูจน์จึงทำได้ไม่ง่าย เพราะการจะหาโจทก์หรือจำเลยว่าเกิดการทุจริตหรือไม่ มันต้องเป็นกระบวนการค้นหา ซึ่งมันหายาก เมื่อมันหายากการจัดการให้เกิดการรับผิดในทางกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก”
รศ.ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์

ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“การกำหนดนโยบาย และการกำกับดูแลของภาครัฐไม่เคยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลหลักฐานเชิงวิชาการที่น่าเชื่อถือเลย หากแต่เป็นไปตามอำเภอใจของผู้ที่มีอำนาจในมือ ทำให้สามารถใช้ดุลพินิจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางกลุ่มได้อย่างง่ายดาย”
ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

ผู้อำนวยการวิจัย ด้านบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ

ผลเสียของการผูกขาดจึงไม่ใช่ผลเสียในแง่ที่ว่าสังคมจะล่มสลายหรือผู้คนสิ้นไร้ไม้ตอก แต่เป็นการสูญเสียโอกาส หมายความว่าชีวิตเราดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ถ้าการผูกขาดน้อยลง“

สฤณี อาชวานันทกุล

กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

“อำนาจ คือ ต้นตอของการแสวงหาผลประโยชน์ มันเริ่มจากตรงนี้ อำนาจในการควบคุมทรัพยากร อำนาจในการออกกฎหมาย อำนาจในกระบวนการยุติธรรม เมื่อคุณมีอำนาจ คุณก็ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของคุณได้ อำนาจจึงก่อให้เกิดการผูกขาด ก่อให้เกิดการใช้ดุลยพินิจ และ ก่อให้เกิดการไม่มี accountability ซึ่งก็คือ การทำเพื่อพรรคพวกของตัวเองทั้งนั้น และประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้ เรากำลังเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบที่ผมเชื่อว่ามันควบคุมเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันได้ดีกว่าระบอบเผด็จการ นี่เป็นความเชื่อของผม”

รศ.ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร

นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ

“ถ้ามีกฎหมายออกมาเยอะแยะมาก แต่บังคับใช้ไม่ได้เลย ในมุมนี้มันแย่กว่าไม่มีกฎหมายด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ส่งสัญญาณสู่สามัญสำนึกของคนว่า ไม่ต้องเชื่อกฎหมายหรอก เพราะออกมาแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ มันเป็นแค่หมึกบนกระดาษ แต่ถ้ามีกฎหมายน้อย ๆ แต่มีความศักดิ์สิทธิ์ มันก็จะเป็น Focal Point ที่ชี้ว่านี่คือพฤติกรรมที่สังคมอยากจะเห็น ปัญหาของเมืองไทยคือมีกฎหมายออกมาเยอะแยะ แต่ไม่ถูกยังคับใช้ และการที่มันไม่ถูกบังคับใช้ก็เพราะการออกแบบไม่ดี เราไม่คิดถึงการบังคับใช้ตั้งแต่ต้น”

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ประธานทีดีอาร์ไอ

“การล้มระบบที่มีการคอร์รัปชันมาก ๆ อย่างมีประสิทธิภาพแบบทันทีทันใดอาจทำได้ยาก หากผู้ได้ประโยชน์ดังกล่าวมีจำนวนมาก การต่อต้านการคอร์รัปชันจึงต้องอาศัยการเมืองแบบเปิด เปิดพื้นที่การแข่งขันทางการเมืองให้มีพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่ดีกว่าเกิดขึ้นได้ และเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจได้อย่างเสรี มีข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ หากทำเช่นนี้ได้ กลไกการต่อต้านหรือลดคอร์รัปชันจึงจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นพร้อมๆ กับระดับการคอร์รัปชันที่ลดลงในที่สุด”

ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์

ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง (CBEE) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เมื่อเรามีความมั่นใจว่าเราไม่ต้องพึ่งพิงเครือข่ายอุปถัมภ์ เครือข่ายอุปถัมภ์และความสัมพันธ์ทางอำนาจในระบบอุปถัมภ์ก็จะมีความสำคัญลดน้อยถอยลงในชีวิตประจำวันของเรา เรามองมันด้วยสายตาที่วิพากษ์วิจารณ์ได้มากขึ้น เราจะมีความรู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่กลมกลืนกับชีวิตของเรามากขึ้น เราสามารถยืนหลังตรงแล้วพูดในสิ่งที่เราคิดได้ชัดถ้อยชัดคำมากขึ้น และเราก็จะบอกเพื่อนร่วมสังคมได้ว่าขั้นตอนต่อไปที่เราเห็นว่ามันเป็นกุญแจในการปิดล็อคไม่ให้คนคอร์รัปชันได้ง่าย ก็คือการสร้างกลไกความรับผิดชอบ”

อธิคม คุณาวุฒิ

บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way

“พฤติกรรมคอร์รัปชันที่เคยเกิดขึ้นแล้ว สังคมจะเรียนรู้ด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ แต่สังคมก็จะเรียนรู้ แต่คอร์รัปชันใหญ่ๆ มันจะไหลลื่นไปเรื่อยๆ มันจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เรื่อยๆ ซึ่งพอถึงวันนั้น ประชาชนก็ไม่เข้าใจ นักวิชาการอย่างเราก็จะนั่งมองอย่างงงๆ เช่น อย่างตอนนี้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งทหารเป็นผู้บริหาร เรื่องแบบนี้ ถ้าย้อนหลังไปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว มันไม่เกิดขึ้น แต่ทำไมทุกวันนี้มันกลับมาได้”

ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

“ถ้ารัฐคิดว่าโครงการนี้ดี คุณน่าจะถามสังคมก่อน เปิดให้สังคมมีส่วนร่วมก่อนจะออกมาเป็นนโยบาย ไม่ใช่ออกมาเป็นนโยบายแล้วก็ไปแก้ปัญหากันเอาเอง ถ้าคุณไปผิดทิศผิดทาง นอกจากไม่ได้แก้ปัญหา มันกลับทำให้เกิดอีกปัญหาหนึ่ง”

ดาววัลย์ จันทรหัสดี

เจ้าหน้าที่อาวุโสและที่ปรึกษาชุมชน มูลนิธิบูรณะนิเวศ (มบน.) แกนนำชาวบ้านที่เคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริตในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

“เราคิดว่ากระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็งของภาคประชาชน มันทำให้คอร์รัปชันยาก เพราะฉะนั้นต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ไม่ใช่การผูกขาดการตรวจสอบไว้เพียงที่หน่วยงานของรัฐ”
บุญยืน ศิริธรรม

ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรสงคราม

[real3dflipbook id='4']