tdri logo
tdri logo

Sustainable

Agricultural

Products

ผลลัพธ์การผลิตสู่การบริโภคที่ดี… จากกระบวนการเกษตรยั่งยืน

ทำไมต้องทำเกษตรกรรมยั่งยืน

วัตถุดิบในจานอาหารที่เราทานกันอยู่ทุกวัน กว่าที่จะเดินมาทางถึงมือเราต้องผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต แปรรูป การจำหน่าย กิจกรรมทางเกษตรทั้งการขุดดินเตรียมพื้นที่ ไปจนถึงการขนส่งมาถึงมือผู้บริโภค ล้วนเป็นกิจกรรมที่มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

ในภาคการเกษตรมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สูงเป็นอันดับสอง รองจากภาคพลังงาน เมื่อแยกตามกิจกรรมของภาคการเกษตรไทย พบว่า การปลูกข้าวเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และยังมีกิจกรรมอื่นเช่น การใช้ที่ดิน การเผาในที่โล่ง การจัดการมูลสัตว์ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยไปกว่ากัน ครอบคลุมเกือบครบทั้งวงจรการผลิตและบริโภคทางการเกษตร ดังนั้นการทำการเกษตรกรรมยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นทางออกสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรของไทยปี 2556

ที่มา: รายงานความก้าวหน้ารายสองปีฉบับที่ 2 (Second Biennial Update Report), 2017

จากต้นทางสู่ปลายทาง… การส่งเสริม

การทำเกษตรกรรมยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

ก่อนจะมาเป็นสินค้าเกษตรยั่งยืนที่มีคุณภาพในมือเรา สินค้าเกษตรเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การคัดสรรปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิต การตลาด และการบริโภค การส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนในภาคเกษตรจำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เปลี่ยนมาใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยของเสียและมลพิษจากกระบวนการผลิต รวมถึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กระบวนการทำเกษตรยั่งยืน

“ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน” หมายถึง ระบบการผลิตทางการเกษตร การแปรรูป การจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และรวมถึงคำนึงถึงวิถีการดำเนินชีวิตของเกษตรกรที่คำนึงและรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยอาหาร สร้างความสมดุลความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ อีกทั้ง ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค

 

ที่ดินและดิน

ที่ดิน ควรมีการจัดที่ดินทำกินและใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ป่าด้วยวิธีที่ยั่งยืน รวมถึงนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ มาใช้สร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้าเกษตรมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมาย

ดิน สนับสนุนการเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพดิน ใช้กฎหมายกำหนดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาดินเสื่อมโทรม ให้เป็นเขตอนุรักษ์ดิน

น้ำ

เพื่อจัดการกับปัญหาการใช้น้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ควรมีการนำเครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์มาใช้ เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แรงงาน

ส่งเสริมการอบรมให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกรสูงวัย เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีทักษะและสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงใช้มาตรการจูงใจให้คนรุ่นหนุ่มสาวหันมาทำการเกษตรแบบยั่งยืน

เงินทุน

เพื่อให้เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนมีเงินทุนสำหรับหมุนเวียนโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่าน ควรมีการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงการให้สินเชื่อสีเขียว (Green Credit)

การเตรียมพื้นที่เกษตร

เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรเตรียมพื้นที่เพาะปลูกด้วยวิธีที่ไม่ยั่งยืน เช่น การเผาในที่โล่ง ต้องมีการให้ความรู้และรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึก พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น นำมาผลิตเป็นพลังงาน และควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการควบคุมการเผาในที่โล่ง รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

การใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย

ควรนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมสารเคมีเกษตร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้สารทางชีวภาพเพื่อกำจัดศัตรูพืช อย่างไรก็ดี ก่อนที่ภาครัฐจะเก็บภาษีสารเคมีอันตรายทางการเกษตร ต้องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) พัฒนาสารทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ ไม่กระทบต่อผลิตผล มีราคาที่ไม่สูงจนเกินไป โดยสามารถนำเงินจากภาษีดังกล่าวไปสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไป

สำหรับกระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อให้เก็บรักษาได้ยาวนานยิ่งขึ้น ต้องมีการกำหนดมาตรฐานในการแปรรูป ซึ่งควบคุมการใช้สารและป้องกันการปนเปื้อนในขั้นตอนการแปรรูป นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย เพื่อให้มีปริมาณวัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปอย่างต่อเนื่อง

เพื่อรักษาความสดใหม่ให้กับสินค้าเกษตรระหว่างขั้นตอนการขนส่ง ควรมีการนำแนวคิดของการจัดการความเย็น (Cold chain management) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาศัยการนำเทคโนโลยีมาช่วยรักษาอุณหภูมิระหว่างขนส่งสินค้าในระดับที่เหมาะสม

ควรขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรยั่งยืนส่งเสริมการสร้างตลาดสินค้าเกษตรยั่งยืนในท้องถิ่น และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ควรสนับสนุนให้จัดซื้อสินค้าเกษตรยั่งยืนจากกลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มเพื่อให้มีสินค้าสำหรับจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

สร้างองค์ความรู้ด้าน Food Literacy ให้กับผู้บริโภคเปลี่ยนมาบริโภคสินค้าเกษตรที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่ยั่งยืน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และการรณรงค์ รวมถึงสอดแทรกไว้ในหลักสูตรการศึกษา นอกจากนี้ ควรมีการให้ข้อมูลด้านความยั่งยืนแก่ผู้บริโภคผ่านทางฉลากผลิตภัณฑ์ 

6 มาตรการสนับสนุนเกษตรยั่งยืน

 

การส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืนในภาคเกษตรจำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เปลี่ยนมาใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

มาตรการแก้ปัญหาการบุกรุกป่า
เพื่อทำการเกษตรแบบไม่ยั่งยืน

ควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่บุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยใช้สารเคมีมาทำเกษตรแบบยั่งยืน เช่น ปลูกพืชผสมผสานและใช้วิธีการปลูกแบบปราศจากสารเคมี โดยอาจจะต้องมีการแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรในพื้นที่ป่าได้

มาตรการพักชำระหนี้

เนื่องจากการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนต้องใช้เวลานานก่อนที่จะสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต อีกทั้งต้องใช้เงินลงทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยี ฯลฯ ดังนั้น จึงควรมีการนำมาตรการพักชำระหนี้มาใช้กับเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบยั่งยืน

มาตรการสินเชื่อสีเขียว

การให้เงินกู้สีเขียวแก่เกษตรกรเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือลงทุนในการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยให้อัตราดอกเบี้ยแบบพิเศษ

มาตรการการเก็บภาษี
สารเคมีอันตราย

การเก็บภาษีสารเคมีเกษตรอันตราย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้สารทางชีวภาพเพื่อกำจัดศัตรูพืช อย่างไรก็ดี ก่อนที่ภาครัฐจะเก็บภาษีสารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย จำเป็นจะต้องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสารชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ ไม่กระทบต่อผลิตผล รวมถึงมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไป

การกำหนดมาตรฐานสินค้า

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค จำเป็นจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรยั่งยืนที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและในระดับสากล เพื่อรองรับการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปต่างประเทศ

การเพิ่มช่องทางการจำหน่าย
สินค้าเกษตรยั่งยืน

เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าที่ผลิตด้วยวิธีที่ยั่งยืนได้สะดวกมากขึ้น ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ควรช่วยในการรวบรวมสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรที่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้าปลีกในการซื้อสินค้าไปเพื่อจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้มีตลาดสินค้าเกษตรยั่งยืนในท้องถิ่น

ส่วนหนึ่งของโครงการมาตรการเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก
และส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตร