ผลดีผลเสียของการจำนำข้าวทุกเม็ด

ปี2012-09

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

กันยายน 2555

หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายที่หาเสียงไว้มาเป็นเวลาหนึ่งปี ปรากฏชัดว่าโครงการนี้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการค้าข้าวไทยและภาวะหนี้สินจนมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แม้รัฐบาลจะยอมรับว่าการจำนำข้าว มีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตในบางขั้นตอน  แต่พณฯนายกรัฐมนตรียังยืนยันว่าการจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ดี

สถาบันฯ ขอนำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับผลดี-ผลเสียของโครงการจำนำข้าว เพื่อให้รัฐบาลท่านสมาชิกรัฐสภาในฐานะผู้ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล สื่อมวลชนและประชาชนสามารถตัดสินใจได้ว่าโครงการจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดี หรือเป็นโครงการที่จะสร้างความหายนะต่อเศรษฐกิจข้าวไทย

โครงการนี้สามารถเพิ่มรายได้ให้ชาวนาได้จริง 2 ทาง ทางแรก คือ ชาวนาที่เข้าโครงการจำนำข้าวได้รับประโยชน์จากส่วนต่างระหว่างราคาจำนำกับราคาตลาดเป็นเงิน 72,712 ล้านบาท โดยมีชาวนาที่ขายข้าวนาปีจำนวน 841,391 รายได้รับเงินรายได้เพิ่มขึ้น 25,653 ล้านบาท และชาวนาที่เข้าโครงการจำนำข้าวนาปรังจำนวน 614,399 ราย[1] ได้รับเงิน รายได้เพิ่มขึ้น 47,059 ล้านบาท

ประโยชน์ทางที่สอง คือ ชาวนาที่อยู่นอกโครงการแต่มีผลผลิตข้าวส่วนเกินขายในตลาดสามารถขายข้าวได้ในราคาสูงขึ้น[2]  เพราะนโยบายซื้อข้าวเปลือกทุกเม็ดมาเก็บได้ในโกดังกลางของรัฐ ย่อมทำให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น สถาบันฯ คาดว่าจะมีชาวนาที่มีผลผลิตเหลือขายจำนวน 7 ล้านตันข้าวเปลือกในปี 2554/55 ส่วนในกรณีนาปรังข้าวทั้งหมดไหลสู่โครงการรับจำนำของรัฐบาล จึงไม่มีชาวนาที่ขายข้าวให้พ่อค้าในตลาดข้าวนอกโครงการรับจำนำ

ข้อสังเกต คือ ครัวเรือนชาวนาทั่วประเทศมีประมาณ 3.8-4 ล้านครัวเรือน แต่ชาวนาที่เข้าโครงการจำนำมีไม่ถึง 9 แสนครัวเรือน

คำถามสำคัญที่ตามมา คือชาวนาที่ยากจนได้รับประโยชน์จากโครงการจำนำเท่าใด เงินจำนวน 3 แสนล้านบาท ที่นำมาใช้ในโครงการจำนำข้าวตกไปอยู่ในมือใครบ้าง โครงการจำนำข้าวมีการรั่วไหลอย่างไรบ้าง และประเทศสูญเสียอะไรจากโครงการจำนำ

ประการแรก ในบรรดาชาวนาที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการจำนำข้าว มีหลักฐานชัดเจนว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับชาวนาที่มีฐานะร่ำรวย และฐานะปานกลาง ชาวนารายเล็กที่ยากจนซึ่งเป็นชาวนาส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากโครงการน้อยมาก (ดูตารางที่ 1) โปรดสังเกตว่าในกรณีนาปรัง ผลประโยชน์ของเงินจำนำส่วนใหญ่จะตกแก่ชาวนาที่มีฐานะดี ซึ่งมีข้าวขายให้รัฐบาลเป็นมูลค่าหลายแสนบาทต่อคน เช่น ชาวนาที่มีข้าวขายให้รัฐตั้งแต่รายละ 6 แสนบาทมีจำนวน 33,309 ราย (หรือร้อยละ 5.4 ของชาวนาที่เข้าโครงการจำนำนาปรัง) แต่กลับมียอดขายข้าวให้รัฐบาลสูงถึง 27,034 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.1 ของมูลค่าการจำนำนาปรังทั้งหมด

ชาวนายากจนที่ปลูกข้าวนาปี เพื่อเก็บข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน หรือไม่มีผลผลิตเหลือขาย จะไม่ได้ประโยชน์แม้แต่บาทเดียวจากโครงการรับจำนำ ชาวนาที่ต้องซื้อข้าวกินมี 7.4 แสนครัวเรือน และชาวนาที่ปลูกข้าวไว้กินในบ้านมีจำนวน 1.3 ล้านครัวเรือน ฉะนั้นชาวนาที่ยากจนจึงมิได้ประโยชน์ใดๆจากการจำนำ ยกเว้นว่าต้องซื้อข้าวบริโภคในราคาแพงขึ้น

ประเด็นสำคัญที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดคือ ชาวนาส่วนใหญ่เป็นคนจน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงว่า ในบรรดาครัวเรือนคนไทยทั้งหมดที่อยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนสูงสุด 40% ของครัวเรือนไทยทั้งหมด ปรากฎว่าเป็นครัวเรือนชาวนาจำนวน 1.185 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการจำนำมากที่สุด เพราะมีผลผลิตข้าวเหลือขายให้รัฐบาลมากที่สุดถึงร้อยละ 52 ของผลผลิตที่ชาวนาทั่วประเทศนำออกขายในตลาด ดังนั้นโครงการรับจำนำจึงเป็นการนำเงินภาษีที่เก็บจากประชาชนทุกคน (รวมทั้งคนจน) ไปแจกจ่ายให้เกษตรกรที่มีฐานะร่ำรวยและฐานะปานกลาง นโยบายแบบนี้เป็นการเพิ่มความไม่เท่าเทียมของการกระจายรายได้ ซึ่งสวนทางกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาล

ประการที่สอง โครงการจำนำข้าวต้องใช้เงินภาษีประชาชนในการแทรกแซงตลาดข้าวเป็นจำนวนมาก นอกจากเงินกู้ที่ใช้ซื้อข้าวแพงกว่าราคาตลาดจำนวนกว่า 3 แสนล้านบาทในปี 2554/55 แล้ว รัฐบาลยังต้องใช้เงินเป็นจำนวน 20,644 ล้านบาท ในการจ้างโรงสีเพื่อสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร จ่ายค่าเช่าโกดังและค่ารักษาสภาพข้าว จ้าง surveyors เพื่อตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ปีละ 5,516 ล้านบาท รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินงานตามนโยบายรวมทั้งสิ้นเป็นมูลค่าอีก 5,946 ล้านบาท และการที่ข้าวเสื่อมคุณภาพอีกปีละ 5,532 ล้านบาท (ตารางที่ 2) เงินจำนวนนี้ยังไม่นับรวมผลขาดทุนจากการขายข้าว

หากใช้ข้อสมมุติว่ารัฐบาลสามารถขายข้าวในราคา เท่ากับราคาประมูลข้าวครั้งล่าสุด ในวันที่ 5 กันยายน 2555 คือ ขายข้าวขาวราคาตันละ 14,300 บาท และข้าวหอมมะลิตันละ 29,800 บาท รัฐบาลก็จะขาดทุนถึง 112,521 แสนล้านบาท แต่ถ้าราคาข้าวลดลง รัฐบาลก็จะขาดทุนเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าราคาข้าวลดลง 10% รัฐบาลอาจขาดทุนถึง 135,780 ล้านบาท (ดูตารางที่ 2) หรือร้อยละ31.7-38.2 ของงบลงทุนของประเทศในปี 2554/55  โครงการจำนำข้าวจึงก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาจากเงินภาษีที่เก็บจากประชาชน ทำไมเราจึงไม่เอาเงินส่วนต่างราคาข้าว 72,246 ล้านบาท จ่ายให้ชาวนาทั่วประเทศจำนวน 4 ล้านครัวเรือน โดยให้ธกส.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรเท่าๆกันทุกคน ทำไมต้องควักเงินภาษีจากทุกคนอีก 40,275-63,535 ล้านบาท ไปแจกจ่ายให้บรรดาโรงสี เจ้าของโกดังและเซอร์เวย์เยอร์ที่เป็นคนมีฐานะดี

ประการที่สาม โครงการจำนำข้าวก่อให้เกิดการรั่วไหลและความสูญเปล่าจำนวนมหาศาล เงินรั่วไหลก้อนแรก คือ เงินที่ซื้อข้าวจากชาวนาบางส่วนรั่วไหลไปยังโรงสีและชาวนาในประเทศเพื่อนบ้านเพราะมีโรงสีบางแห่งลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์การจำนำ ไม่มีใครทราบว่ามีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์เป็นจำนวนเท่าไร แต่จากนักวิชาการในเขมรคาดว่าอาจจะมีข้าวจำนวนหลายแสนตันเข้ามาในประเทศไทย ถ้ามีข้าวลักลอบสวมสิทธิ์ 5 แสนตัน ก็แปลว่ามีเงินภาษีคนไทยจำนวน 2,000 ล้านบาท รั่วไหลไปยังชาวนาในประเทศเพื่อนบ้านและโรงสีที่ทุจริต

การรั่วไหลที่สำคัญเกิดจากการทุจริตของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าวในทุกๆขั้นตอนของการจำนำ เริ่มจากการที่เกษตรกรบางรายร่วมกับเจ้าหน้าที่จดทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าความจริง โรงสีบางแห่งลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ โดยใช้ชื่อของเกษตรกรบางคน การที่โรงสีตัดค่าความชื้นและสิ่งเจือปนในข้าวของชาวนาเกินความจริง โรงสีบางแห่งร่วมมือกับเจ้าของโกดัง เซอร์เวเยอร์และเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดส่งข้าวจำนวนต่ำกว่าจำนวนที่ต้องส่งจริง และ/หรือส่งข้าวคุณภาพต่ำเข้าโกดังรัฐบาล หรือแม้แต่การที่มีข่าวว่ามีนายหน้านักการเมืองวิ่งเต้นนำข้าวของรัฐบาลไปส่งขายให้แก่ผู้ส่งออกบางคนและโรงสีบางแห่งรวมทั้งการที่โรงสีบางแห่งต้องจ่ายเงินค่าวิ่งเต้นเพื่อขออนุญาตข้ามเขตไปซื้อข้าวในจังหวัดอื่นๆ โครงการรับจำนำจึงก่อให้เกิดการทุจริตที่เป็นระบบอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงแต่การทุจริตเล็กๆน้อยๆเพียงบางจุด ระบบป้องกันทุจริตมีแต่บนกระดาษ และไม่สามารถตรวจจับผู้ทุจริตรายใหญ่ๆได้เพราะผู้เกี่ยวข้องต่างได้ประโยชน์ร่วมกันจากการทุจริต การทุจริตในโครงการจำนำจึงเป็นอาชญากรรมไร้เจ้าทุกข์ โครงการรับจำนำข้าวเป็นการส่งเสริมให้ทุกคนทุจริต เมื่อชาวนาและโรงสีที่สุจริต เห็นว่าคนอื่นที่ทุจริตไม่เคยถูกลงโทษ แต่กลับร่ำรวยมากขึ้น คนเหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนใจหันมาร่วมกระบวนการทุจริต

ประการที่สี่ โครงการจำนำก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมที่เป็นการสูญเปล่า การรั่วไหลข้างต้นเป็นการถ่ายโอนเงินภาษีจากกระเป๋าของประชาชนผู้เสียภาษีไปสู่ชาวนา โรงสีและนักธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งการถ่ายโอนเงินจากชาวนาและโรงสีในโครงการที่สุจริตไปสู่มือผู้ทุจริต แต่ยังมีความเสียหายอีก 5 ประเภทที่เป็นการสูญเปล่าของสังคม

เงินสูญเปล่าก้อนแรก คือ การที่รัฐบาลเก็บข้าวไว้ในโกดังกลางเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ งานวิจัยพบว่าการเก็บข้าวไว้ในโกดังแบบปกติ (คือไม่มีห้องเย็นหรือระบบ airtight) จะทำให้ข้าวเหลืองและมีมอด เช่น ใน 3 เดือนแรกดัชนีความขาวจะลดลงจากร้อยละ 51.5 เหลือ 49.5 แมลงจะเพิ่มขึ้น 23.2 ตัว ต่อก.ก. ถ้าเก็บไว้ 6 เดือน ความขาวลดลงเหลือ 49 และแมลงเพิ่มขึ้นอีก 90 ตัวต่อกิโลกรัม หากสมมุติว่าปัญหาดังกล่าวทำให้มูลค่าข้าวลดงลงปีละ 5% ก็แปลว่ามูลค่าข้าวในโกดังจะหายไปปีละกว่า 5,266 ล้านบาท

นอกจากการสูญเสียตลาดส่งออกข้าวของไทยเพราะรัฐไม่มีความสามารถในการขายข้าวเหมือนพ่อค้าส่งออกแล้ว (ดูตารางที่ 3)[3] ยังมีการสูญเสียรายได้จากการส่งออกข้าวคุณภาพสองชนิดที่ไทยเคยขายได้ในราคาสูง ตลาดแรก คือ การส่งออกข้าวหอมมะลิที่ภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์ต่างเพียงพยายามสร้างตลาดส่งออกมาเป็นเวลากว่า 20 ปี การเก็บข้าวหอมไว้ในโกดังเป็นเวลาหลายเดือนทำให้ข้าวหอมหมดความหอม และกลายเป็นข้าวแข็ง ข้าวหอมที่เคยส่งออกได้ในราคาสูงกว่าตันละ 1,000 เหรียญ จะหมดราคา กลายเป็นข้าวหอมคุณภาพต่ำ ราคาอาจลดเหลือ 700-900 เหรียญ ขณะนี้มีข้าวหอมในคลังกลางรัฐบาลจำนวน 3 ล้านตันข้าวสารที่เก็บไว้นานกว่า 9 เดือนแล้ว หากราคาตกลงเหลือตันละ 800 เหรียญ ก็เท่ากับว่าโครงการจำนำข้าวทำให้ประเทศทำเงินรายได้จากการส่งออกหายไป $200×31บาท/$x 3 ล้านตันหรือ 18,600 ล้านบาท

การสูญเสียตลาดข้าวราคาสูงอีกประเภทหนึ่ง คือ การสูญเสียตลาดส่งออกข้าวนึ่งที่ไทยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ผู้ประกอบการไทยใช้เวลากว่าสี่สิบปีในการพัฒนาตลาดข้าวนึ่ง สามารถนำข้าวเปลือกธรรมดามานึ่ง เพื่อส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางและอาฟริกาบางประเทศ ระหว่างปี 2552-54 ข้าวนึ่งดังกล่าวขายได้ในราคาสูงตันละ $567 สูงกว่าข้าวขาว 5% ตันละ $35 การส่งออกข้าวนึ่งสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ประเทศ โดยในปี 2553 ไทยส่งออกข้าวนึ่ง 3.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 53,866 ล้านบาท แต่การจำนำข้าวที่กำหนดให้โรงสีในโครงการต้องแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารภายใน 7 วัน ทำให้โรงสีและผู้ส่งออกไม่สามารถหาซื้อข้าวเปลือกมาทำข้าวนึ่งส่งออกได้

ความสูญเสียอีกรายการหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของชาวนา โรงสี และโกดังที่ต้องการหากำไรส่วนเกินจากโครงการ ชาวนาจะขยายพื้นที่และรอบการเพาะปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากที่สุดมาขายให้รัฐบาล ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวถีบตัวขึ้นจนเท่ากับราคาจำนวน 15,000 บาท นอกจากการสิ้นเปลืองน้ำและปัจจัยการผลิตต่างๆแล้ว ชาวนาจะลดพื้นที่เพาะปลูกสินค้าเกษตรอื่นๆ ทำให้ผลผลิตอาหารของประเทศลดลง

โรงสีเองก็ได้กู้เงินมาขยายกำลังการผลิตของโรงสี ทำให้ปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตในการสีข้าวถึง 90 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีผลผลิตข้าวให้สีเพียงปีละ 35 ล้านตัน กำลังการผลิตส่วนเกินของโรงสีนับว่าเป็นการถลุงทรัพยากรที่มีค่าไปโดยเปล่าประโยชน์ พฤติกรรมนี้กำลังเกิดขึ้นกับการที่นักธุรกิจและโรงสีในต่างจังหวัดต่างพากันลงทุนสร้างโกดังให้รัฐบาลเช่าเก็บพืชผลที่รัฐรับจำนำเพราะการลงทุนสามารถคืนทุนในเวลาปีเดียว แม้เอกชนจะได้ผลประโยชน์ คุ้มค่า แต่สังคมกลับสูญเสียทรัพยากรที่มีค่า เพราะโกดังมิได้ทำให้ผลผลิตข้าวมากขึ้น หากไม่มีโครงการจำนำข้าว นักธุรกิจเหล่านั้นก็จะนำทรัพยากรของตนไปลงทุนในกิจกรรมอื่นที่มีประโยชน์ต่อสังคม

ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ คือ เมื่อระบบการค้าข้าวแบบแข่งขันของภาคเอกชนถูกทำลาย และทดแทนด้วยระบบการค้าข้าวของรัฐ ที่ต้องอาศัยเส้นสายทางการเมือง ประเทศไทยจะเปลี่ยนจากผู้ผลิตและค้าข้าวคุณภาพที่สูงที่สุดในโลกมาเป็นข้าวคุณภาพต่ำ เพราะรัฐบาลไม่ได้ซื้อข้าวตามคุณภาพเหมือนกับพ่อค้าเอกชน

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เมื่อการส่งออกข้าวไทยลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย สิ่งที่เกิดขึ้น คือ พ่อค้าข้าวส่งออก หยง (หรือนายหน้าผู้จัดหาข้าวให้ผู้ส่ออก) พนักงานและลูกจ้างในธุรกิจการส่งออก และธุรกิจโลจีสติกส์จำนวนหลายหมื่นคนต้องตกงาน เพราะไม่มีข้าวให้ซื้อขายทางเลือกของนักธุรกิจข้าวพ่อค้าส่งออกข้าวและแรงงานเหล่านี้มี 3 ทาง (ก) เข้าร่วมโครงการรับจำนำ รวมทั้งเข้าร่วมกระบวนการทุจริตเงินภาษีประชาชน (ข) โยกย้ายไปทำธุรกิจนอกประเทศ (ค) เลิกประกอบธุรกิจข้าว แล้วหันไปทำอาชีพอื่น โครงการจำนำข้าวกำลังทำลายอาชีพธุรกิจข้าวไทยที่ทั้งชาวนา-โรงสี-ผู้ส่งออก-พ่อค้าและภาครัฐร่วมกันสร้างเนื้อสร้างตัวมาเป็นเวลากว่า 100 ปี  จนข้าวไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขันมากที่สุดในโลก มีลูกค้าซื้อข้าวไทยเกือบ 200 ประเทศ เมื่อทรัพยากรบุคคลเหล่านี้เลิกทำธุรกิจข้าว ไทยก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปตลาดกาล เหลือแต่ชาวนา โรงสี และนักธุรกิจที่เป็นฝูงเหลือบคอยดูดกินเงินภาษีของประชาชน

นโยบายการจำนำจึงไม่เพียงแค่ทำลายเศรษฐกิจข้าวส่งออกของไทย แต่กำลังทำลายเศรษฐกิจข้าวไทยทั้งระบบ ข้อมูลนี้ขัดแย้งกับการที่นักการเมืองและนักธุรกิจรายใหญ่บางคนที่สนับสนุนโครงการจำนำข้าว ซึ่งต่างก็ให้สัมภาษณ์แก่สื่อว่าโครงการจำนำข้าวจะทำให้ไทยขายข้าวส่งออกได้ราคาสูงขึ้น

ปัญหาประการสุดท้าย คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวในปีนี้และปีหน้า มีประเด็นพิจารณา 2 ประเด็น

(1) หากรัฐบาลยังคงใช้นโยบายจำนำข้าวทุกเม็ดเหมือนเดิม แต่วางแผนระบายข้าวในโกดังออกทั้งหมด ปริมาณการระบายข้าวออกก็จะใกล้เคียงปริมาณการนำข้าวเข้าโกดังในปีใหม่ การกระทำเช่นนี้จะทำให้ราคาข้าวในฤดูใหม่ไม่สูงขึ้นเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ถ้ารัฐต้องการยกระดับราคาข้าวให้สูงกว่าตลาดโลก ในฤดูหน้ารัฐบาลก็ต้องซื้อข้าวเข้าโกดังมากกว่าการขายข้าวออกจากโกดัง และปีต่อไปก็ต้องทำแบบเดียวกัน หรือพูดง่ายๆก็คือ แต่ละปีรัฐบาลจะต้องเอาข้าวไปทิ้งทะเล ปรากฏการณ์แบบนี้จะทำให้รัฐสะสมภาระหนี้สาธารณะทุกปี จนในที่สุดรัฐบาลถังแตกเกิดวิกฤตการคลังเหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในกรีก

(2) หากรัฐบาลไม่อยากสะสมหนี้สาธารณะ รัฐบาลก็ต้องขายข้าวทั้งหมดในโกดัง เพื่อให้ได้เงินมาจำนำข้าวทุกเม็ดในปีต่อไป การขายข้าวเก่าของปี 2554/55 จะก่อให้เกิดปัญหา 2 ประการๆ แรก อาจจะมีนายหน้านักการเมืองบางคนที่วิ่งเต้นนำข้าวที่จำนำในฤดูใหม่ไปแลกกับข้าวเก่าที่พ่อค้าประมูลได้ ผล คือ ข้าวในโกดังยังคงเป็นข้าวเก่าจากปี 2554/55 แต่บัญชีข้าวของโกดังจะเปลี่ยนเป็นข้าวใหม่ปี 2555/56 ประการที่สอง การระบายข้าวจะทำให้ราคาข้าวในตลาดลดลงการขาดทุนของรัฐก็จะมากขึ้น

หลักฐานเชิงประจักษ์ข้างต้นล้วนบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงผลดีและผลเสียของนโยบายการจำนำข้าว ท่านสมาชิกรัฐสภา ประชาชนและสื่อมวลชนที่นับถือ หากท่านเห็นว่าหลักฐานเหล่านี้แสดงว่านโยบายการจำนำข้าว เป็นนโยบายที่จะก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออนาคตข้าวไทย ขอได้โปรดนำประเด็นนี้ไปอภิปรายในรัฐสภา และเผยแพร่ต่อประชาชนเพื่อหาหนทางป้องกันความเสียหาย และรักษาอนาคตของข้าวไทย


 


[1] ข้อมูลเดือนกันยายน 2555 ที่มีการนับซ้ำ ปรากฏว่ามีเกษตรกรเข้าโครงการจำนำนาปรัง 1.02 ล้านคน

[2] เราไม่ทราบว่าหากไม่มีโครงการรับจำนำ ราคาตลาดจะลดลงเหลือเท่าไร แต่ถ้าใช้ราคาเฉลี่ยในฤดูเก็บเกี่ยวปี 2553/54 ที่ไม่มีการจำนำ ราคาข้าวเปลือกในตลาดเท่ากับ 10,049 บาทต่อตัน เทียบกับราคาตลาดในปี 2554/55 ที่เฉลี่ย 11,671 บาทต่อตัน ชาวนานอกโครงการจะได้ประโยชน์ตันละ 1,622 บาท

[3] การที่รัฐไม่ยอมส่งออกข้าวในราคาตลาด เพราะยังคงหลอกตัวเองว่าจะขายข้าวได้ในราคาแพงในภายหลัง รัฐบาลจึงปล่อยให้ประเทศอื่นขายข้าวก่อน ผลก็คือ ระหว่างเดือนตุลาคม 2554-สิงหาคม 2555 ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยลดลงเหลือ 6.14 ล้านตัน เทียบกับการส่งออก 11.24  ล้านตัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ต.ค.2553-ส.ค. 2554) ทำให้รายได้จากการส่งออกของประเทศลดจาก 1.98 แสนล้านบาทในเดือนตค.2553 ส.ค. 2554 เหลือเพียง 1.3 แสนล้านบาท ในเดือน ตค.2554-ส.ค.2555 การส่งออกข้าวที่ลดลงนี้เป็นตัวฉุดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นผลที่ตรงข้ามกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้ชาวนาเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนั้นการที่รัฐบาลซื้อข้าวมาเก็บไว้ในโกดังกลาง  แล้วปล่อยให้ประเทศคู่แข่งขายข้าวในราคาสูงขึ้น ก็เท่ากับการเอาเงินภาษีของคนไทยไปอุดหนุนชาวนาและผู้ส่งออกของเวียดนาม อินเดีย และเขมร

ตำแหน่ง0