การปฏิรูปการจัดการน้ำของประเทศไทย :
การวิเคราะห์เชิงสถาบัน และรูปแบบการปรับตัว
Improving Flood Management Planning in Thailand
น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท สาเหตุสำคัญนอกจากปริมาณน้ำฝนที่ตกมากเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 70 ปี ผลจากพายุมรสุม 5 ลูกที่เข้าสู่ประเทศไทยในเวลาใกล้เคียงกัน ยังผลให้น้ำในแม่น้ำสายสำคัญเอ่อท้นจนท่วมพื้นที่ในหลายจังหวัดแล้ว ความผิดพลาดของการจัดการการใช้ประโยชน์จากที่ดิน การบริหารจัดการภาวะน้ำท่วม และการแทรกแซงทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในภาพรวมยังมีส่วนซ้ำเติมให้ปัญหาน้ำท่วมทวีความรุนแรงขึ้น
ทันทีที่น้ำลด รัฐบาลได้เร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดการน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว รวมทั้งจัดหางบประมาณจำนวน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ประสบภัย บูรณะซ่อมแซม และมีแผนลงทุนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว จุดเด่นของแผนแม่บทการจัดการน้ำท่วมคือ แผนป้องกันน้ำท่วมแบบบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อย่างไรก็ตาม แม้แผนแม่บทจะบรรจุเรื่องการบริหารจัดการน้ำ แต่งบประมาณส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องลงทุนด้านโครงสร้าง และหน่วยราชการยังเป็นผู้รับผิดชอบการปรับปรุงแผนบริหารจัดการน้ำ
วัตถุประสงค์ของโครงการ มุ่งศึกษาประเด็นด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง ผลการศึกษาจะเป็นการสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเกิดความเป็นธรรม การศึกษานี้จะวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็งของสถาบันการบริหารจัดการน้ำ และรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดินในปัจจุบัน จากนั้นจะนำเสนอการออกแบบสถาบันที่เติมเต็ม เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำและรูปแบบการใช้ที่ดินที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
คำถามหลักของงานวิจัย
– ทำไมสถาบันการจัดการน้ำและการใช้ที่ดินในปัจจุบันไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเมื่อเกิดน้ำท่วมในปี 2554
– เกษตรกรและชุมชนได้มีการรับมือกับเหตุการณ์วิกฤติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วมในปี 2554 อย่างไร
– มีการนำเสนอการเปลี่ยนแปลงอะไร ทั้งทางด้านโครงสร้างและที่ไม่ใช่โครงสร้างจากระบบปัจจุบัน ที่รัฐบาลไทยรวมเข้าไปในแผนแม่บท โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำและการใช้ที่ดิน และเกษตรกรและชุมชนที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรบ้าง
– เกษตรกรและชุมชนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวอย่างไรในระหว่างและหลังจากการใช้แผนแม่บทการจัดการน้ำท่วม
– จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นต่อสถาบันต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำและการใช้ที่ดินหลังจากที่มีการใช้แผนแม่บทจัดการน้ำท่วม
กรอบการศึกษา ประเด็นการศึกษามีสามด้าน ดังนี้ 1) รูปแบบการใช้ที่ดิน การบริหารควบคุมสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ลุ่มที่ใช้รับน้ำนอง การปรับตัวทั้งในส่วนชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม 2) รูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรที่รัฐกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง วิเคราะห์การปรับตัวของเกษตรกรและชุมชนในบริเวณดังกล่าวเพื่อรับมือกับผลกระทบทั้งภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง เพราะน้ำคือเส้นทางชีวิตของข้าวและเกษตรกร 3) ออกแบบและให้ข้อเสนอเกี่ยวกับโครงสร้างสถาบันจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โครงการวิจัยนี้จะเลือกศึกษาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเป็นจุดน้ำท่วมวิกฤติและน้ำแล้ง การศึกษาใช้เวลา 3 ปี
ความสำคัญของงานวิจัยนี้ จะมีข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยจะแสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะมีปริมาณน้ำฝนมาก แต่หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ความรุนแรงของความเสียหาย และระยะเวลาน้ำท่วมจะน้อยกว่าที่เกิดขึ้นในปี2554 และงานวิจัยนี้จะส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้และความร่วมมือด้านน้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำ