tdri logo
tdri logo

มูลนิธิสืบฯ หวั่นรัฐบิดเบือนข้อมูลใช้งบน้ำ 3.5 แสนล้าน สร้าง ‘เขื่อนแม่วงก์’ กระทบป่าต้นน้ำ-ไม่แก้น้ำท่วมจริง สภาทนายความเสนอปลุกคนไทย-สื่อผนึกกำลังป้องป่า

isranews20130528

วันที่ 27 พ.ค. 56 เครือข่ายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (สสท.) จัดเวทีรับทราบ ‘สถานการณ์เขื่อนแม่วงก์’ ณ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยสืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อ 10 เม.ย. 55 อนุมัติงบประมาณก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์กั้นลำน้ำแม่วงก์ บริเวณเขาสบกก ต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลางตอนกลาง เนื่องจากหวั่นซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยถูกสอดแทรกใน 9 โมดูล ซึ่งจะทราบผลการประมูลในวันที่ 4 มิ.ย.นั้น

ดร.รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถก่อสร้างได้ เพราะจะทำลายป่าต้นน้ำฝั่งตะวันตกของไทย ซึ่งถือเป็นป่าผืนสุดท้ายที่มีความอุดมสมบูรณ์เนื้อที่รวม 12 ล้านไร่ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง โดยพบว่ามีเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตกกว่า 200 ตัว เฉพาะในป่าแม่วงก์มีถึง 11 ตัว อีกทั้งนกยูงพันธุ์ไทย สมเสร็จ และอีกหลายชนิด นอกจากนี้หากมีการสร้างเขื่อนจริงจะต้องตัดต้นไม้บริเวณท้องเขื่อนและสันเขื่อน จนหวั่นว่าอาจเป็นการเปิดช่องให้คนตัดไม้ลักลอบล่าสัตว์ได้อีก

“ปัจจุบันป่าต้นน้ำของไทยเหลือน้อยมาก ฉะนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างถูกต้องนั้นจะต้องไม่ทำลายป่า เพราะหากไม่มีป่าก็จะไม่มีน้ำ ซึ่งการทำลายป่าเป็นสาเหตุสำคัญของน้ำท่วม และคาดการณ์ว่าอนาคตไทยอาจเกิดน้ำท่วมอีก แม้จะรณรงค์ปลูกป่ากันตอนนี้ แต่ก็ไม่ทันที่จะทำหน้าที่ให้ป่าซับน้ำได้ เพราะต้องใช้เวลานานกว่า 30 ปีกว่าต้นไม้จะเติบโต ดังนั้นหากเราเป็นคนไทยที่รักประเทศไทย รู้อยู่ว่าน้ำย่อมมาจากป่าจึงไม่อยากให้ทำลายป่า หากจะก่อสร้างจริง ๆ ให้สร้างพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่ป่าดีกว่า

ด้านนายวิเชียร เจษฎากานต์ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้มีโอกาสพานักธุรกิจลงไปสำรวจพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งพบว่ามีกลุ่มชาวบ้านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยเป็นกลุ่มที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ผิด คือ เมื่อมีเขื่อนแม่วงก์ เกษตรกรจะมีน้ำใช้ ทั้งที่บริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยมาก อีกทั้งยังต้องสูญเสียพื้นที่ป่า สัตว์ป่าด้วย

เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เพราะจะทำลายป่าสักทองของไทยที่มีราว 2 ล้านต้น หากคิดเป็นมูลค่าต้นละ 50,000 บาท จะมีราคารวม 100,000 ล้านบาท ซึ่งมีราคาสูงกว่างบประมาณสร้างเขื่อนเสียอีก อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่าในอดีตนายปลอดประสพ สุรัสวดี เคยคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะไม่คุ้มค่ากับผลที่จะได้รับ แต่เพราะอะไรปัจจุบันนายปลอดประสพจึงบอกว่าคุ้มค่า?

ขณะที่ผู้แทนสภาทนายความ กล่าวว่า การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะส่งผลเสียต่อทรัพยากรป่าไม้มหาศาล ดังนั้นจำเป็นต้องทำให้ประชาชนในประเทศเห็นถึงผลกระทบและลุกขึ้นมาเป็นแกนนำหลักด้วย โดยมีกลุ่มองค์กรต่าง ๆ คอยสนับสนุน ซึ่งเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมยังมีการเสนอแนวทางเร่งด่วนต่อการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ โดยให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำแก่ภาคประชาสังคมรับรู้ ผ่านทางสื่อกระแสหลัก ได้แก่ ช่อง 3, 5, 7, 9 และไทยพีบีเอส รวมถึงทางสื่อโซเซียลมีเดีย อีกทั้งจัดเวทีเสวนาภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาชน และเอ็นจีโอ เพื่อผนึกกำลังหาทางออกร่วมกัน โดยต้องสื่อสารให้ประชาชนรู้ว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นมิได้มีผลกระทบในพื้นที่เท่านั้น แต่มีผลกระทบในพื้นที่อื่นด้วย เพราะถือว่าเป็นป่าต้นน้ำสำคัญของไทย.


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา (ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน) วันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ในชื่อ หวั่นใช้งบน้ำ 3.5 แสนล้านสร้าง ‘เขื่อนแม่วงก์’ กระทบป่า-ไม่แก้น้ำท่วมจริง