โครงการน้ำ 3 แสนล้าน จะดันทุรังต่อไปได้อย่างไร?

วันที่2013-07-04

naewna20130704

สารส้ม

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ขณะนี้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกำลังยกร่างสัญญาโครงการบริหารจัดการน้ำระหว่าง กบอ.กับ 4 กลุ่มบริษัท คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งสามารถจะลงนามได้ และมั่นใจว่าไม่มีปัญหาทางเทคนิค เช่น เรื่องการจัดทำประชาพิจารณ์ หรือการปรับแก้ไขทีโออาร์ การใช้งบประมาณเงินกู้ที่ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินการกำหนดเพดานราคาก่อสร้างสูงสุดในโครงการ 9 โมดูล ให้กับเอกชนไปแล้ว สามารถที่จะมาเขียนในสัญญาได้

พูดง่ายๆ ว่า จะเดินหน้าทำสัญญากับเอกชนต่อไป

1) คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง มีความชัดเจนอยู่ในตัวเอง

แม้จะไม่ได้สั่งยกเลิกแผนงานและโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งหลาย แต่ก็ได้ชี้ชัดถึงการละเลย ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญ ยังระบุว่า หากดำเนินการตามแผนการของรัฐบาลต่อไป โดยใช้วิธีการจ้างเหมาเอกชนแบบเบ็ดเสร็จนั้น กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ดี การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนก็ดี เล็งเห็นได้ว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และผู้ถูกฟ้อง (นายกฯ และพวก) ก็จะถือว่าละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติเป็นแน่แท้

คำพิพากษาบางตอนว่า

“…เมื่อพิจารณารายละเอียดของการดำเนินการตามข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) ตามโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย แล้วจะเห็นได้ว่า หากมีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวจริงย่อมต้องมีการใช้พื้นที่จำนวนหนึ่งในการก่อสร้าง ซึ่งบางส่วนเป็นพื้นที่ป่าไม้ บางส่วนเป็นที่ดินที่ประชาชนอยู่อาศัยและใช้ประกอบอาชีพ ทำให้เข้าลักษณะเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือ

ด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว

แม้ว่าเมื่อพิจารณาข้อกำหนดดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับรูปแบบของโครงการตามที่กำหนดไว้ในหัวข้อ 6 และขอบเขตงานหลักตามที่กำหนดไว้ในหัวข้อ 4 ของแต่ละ Module แล้วจะเห็นได้ว่า จะต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน อันเป็นการแสดงเจตนาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่การที่ข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) ดังกล่าว กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างในการศึกษาในด้านต่างๆ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น นอกจากการดำเนินการดังกล่าวของผู้รับจ้างอาจเบี่ยงเบนหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากผู้รับจ้างดังกล่าวเป็นผู้ที่ได้ทำสัญญารับจ้างออกแบบและก่อสร้างกับรัฐไปแล้ว และเป็นปกติวิสัยในทางธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งหลายที่ย่อมคำนึงถึงผลกำไรสูงสุดจากการประกอบการเป็นสำคัญ จึงย่อมประสงค์และอาจพยายามให้ผลการศึกษาดังกล่าวออกมาในลักษณะที่ให้มีการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวนอกจากจะทำให้เป็นที่ไม่มั่นใจในความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของผลการดำเนินการแล้ว ยังเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายในการกำหนดให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการเป็นผู้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบดังกล่าว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้กำหนดข้อกำหนดและขอบเขตงานหรือ TOR ให้คู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการ และคู่สัญญาที่ได้ทำสัญญาจ้างให้ทำการออกแบบและก่อสร้างไปแล้ว ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในการศึกษาและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น เป็นกรณีที่ถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจ

หน้าที่ในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวละเลยต่อหน้าที่ตามที่มาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้ต้องปฏิบัติ แม้ว่าในขณะที่ยื่นคำฟ้องรวมถึงระหว่างที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้จะยังอยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นคู่สัญญา และยังไม่มีการออกแบบและก่อสร้างจริง อันจะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ต้องจัดให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสียก่อนตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่เมื่อได้มีข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) กำหนดไว้ชัดแจ้งว่า ให้คู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ จึงเป็นที่เล็งเห็นได้ว่า เมื่อมีการทำสัญญาขึ้นแล้วย่อมเกิดการกระทำที่ถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอย่างแน่แท้…”

ศาลปกครองจึงสั่งให้รัฐบาลไปดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน (Module)

2) หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์เดินหน้าทำสัญญากับเอกชนต่อไป ตามผลการคัดเลือกเอกชนที่ กบอ.นำเสนอรัฐบาลนั้น ก็เท่ากับว่ารัฐบาลจงใจที่จะกระทำในสิ่งที่คำพิพากษาศาลปกครองได้ชี้ชัดไว้แล้วว่าจะเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

คำพิพากษาระบุชัดว่า ให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่จ้างเหมาเบ็ดเสร็จ ยกให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการตามที่ กอบ.และรัฐบาลได้เห็นชอบไปแล้ว

ก็น่าจะเป็นกรณีที่ “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างชัดเจนที่สุด

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านยื่นถอดถอน ครม.ทั้งคณะ เพราะเห็นว่าโครงการดังกล่าวส่อว่าทุจริตและกระทำผิดกฎหมาย 5 ฉบับ โดยความผิดสำเร็จไปแล้ว ได้แก่ 1.ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 57 และ 67 2.ผิดพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103/7 3.พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 4.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) และ 5.ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่

3) หากรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินกระบวนการการมีส่วนของประชาชน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเอง แต่ยังยอมให้เอกชนได้รับกรอบวงเงินตามเดิม ทั้งๆ ที่ กรอบวงเงินเดิมนั้น รวมงานการมีส่วนร่วมของประชาชนและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหลายอยู่ด้วย ก็จะไม่เป็นธรรมต่อภาครัฐอย่างยิ่ง

เอกชนรับผิดชอบงานลดลง แต่จะได้เงินเท่าเดิม

ยิ่งกว่านั้น เมื่อตัดงานศึกษาผลกระทบและการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไปแล้ว หากรัฐบาลยังเดินหน้าทำสัญญากับเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกมาภายใต้แผนการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จเดิม ก็จะไม่เป็นธรรมต่อบริษัทเอกชนที่ถอนตัวออกไปก่อนหน้านั้น เช่น ญี่ปุ่น หรือแม้แต่หลายๆ ชาติที่ไม่ได้เข้ามาเสนอราคาตามเงื่อนไขเดิมของรัฐบาล อาจจะด้วยเล็งเห็นถึงความเสี่ยง ความไม่ถูกต้อง ความไม่แน่นอนของเงื่อนไขในทีโออาร์ที่รัฐบาลกำหนดให้เอกชนต้องรับผิดชอบดำเนินการเรื่องเหล่านั้นเอง

เหมือนตอนแรกตั้งกติกาให้แข่งไตรกีฬา มีเงื่อนไขให้ผู้เข้าแข่งจะต้องว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง ปรากฏว่า นักกีฬาที่ว่ายน้ำไม่เป็นหรือว่ายน้ำไม่เก่งก็ถอนตัวออกไป (หรือถูกกันออกไป) แต่ภายหลังกลับเปลี่ยนเงื่อนไข ไม่ต้องว่ายน้ำแล้ว ย่อมจะไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ถอนตัวไปก่อนอย่างยิ่ง

ยังไม่ต้องเอ่ยถึงกระบวนการคัดเลือกที่ไม่มีราคากลาง เต็มไปด้วยข้อครหาและจุดเสี่ยงต่อปัญหาการทุจริต

ทำให้รัฐเสียประโยชน์ แทนที่จะได้คัดเลือกเอาเอกชนที่ให้ข้อเสนอดีที่สุดสำหรับประเทศไทย

เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรจะเริ่มดำเนินการเสียใหม่ เลิกวิธีการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ ทำตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญให้ถูกต้อง เรียบร้อย จะดีที่สุด จะไม่ต้องสะดุดหรือล่าช้าออกไปอีก

หยุดดันทุรังต่อไปได้แล้ว!


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์แนวหน้า วันที่ 4 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ โครงการน้ำ 3 แสนล้าน จะดันทุรังต่อไปได้อย่างไร?