โครงการ “รูปแบบการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำ บ้านโนนอุดม ตำบลไร่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร”

โครงการ “รูปแบบการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำ บ้านโนนอุดม ตำบลไร่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร”
พลนภา รัตนะ และคณะ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
2554

โครงการ รูปแบบการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำ บ้านโนนอุดม ตำบลไร่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร โดยนายพลนภา รัตนะ เป็นหัวหน้า โครงการมีพื้นที่การดำเนินงานคืออ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโนนอุดม ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในอดีตได้ริเริ่มสร้าง โดยกลุ่มชาวบ้านโนนอุดมร่วมใจกันสร้างขึ้น เป็นลักษณะฝายกั้นน้ำเล็กๆ สร้างกั้นลำห้วยยางที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาภูพาน ซึ่งจุดประสงค์ในการก่อสร้างนั้นเพื่อนำน้ำจากลำห้วยยางมาใช้ในการเกษตรของตนเอง และได้มีพระราชดำริในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำขึ้น ในปี 2524 แล้วเสร็จในปี 2525 บ้านโนนอุดม มีประชากร 826 ครอบครัว แยกเป็นชาย 397 คน หญิง 429 คน มีภาษาภูไทเป็นภาษาท้องถิ่น คนในชุมชนบ้านโนนอุดมทำการเกษตรจำนวน 248 ครอบครัว ทำนาในพื้นที่กว่า 3 พันไร่ นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชหลังนา เช่น การทำสวนข้าวโพด ปลูกแตงโม ปลูกถั่วลิสง ปลูกพริก ปลูกถั่วฝักยาว มะเขือเทศ ซึ่งการปลูกพืชดังกล่าวเป็นรายได้เสริมของคนในชุมชนนอกเหนือจากการทำนา

ปัจจุบันแม้มีอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำ แต่การนำน้ำมาใช้ประโยชน์ยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากคลองส่งไม่ทั่วถึง ส่วนใหญ่เป็นคลองดินและพื้นที่นาบางจุดอยู่สูงกว่าคลองส่งน้ำทำให้น้ำเข้าไม่ถึงไร่นา อีกทั้งพื้นที่อ่างเก็บน้ำตื้นเขิน โดยเฉพาะในปีที่ฝนตกน้อยและในหน้าแล้ง ปริมาณน้ำในอ่างไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนในหมู่บ้านเกิดการแย่งน้ำกันขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกฎกติกาหรือมีการจัดการน้ำที่เป็นระบบ ทำให้การนำน้ำไปใช้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำมีมากขึ้น เพราะคนในชุมชนหันมาปลูกพืชเพื่อการค้า ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อปริมาณการใช้น้ำ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการตั้งคณะกรรมการการใช้น้ำ ที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกผู้ใช้น้ำ 215 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนบ้านโนนอุดม และผู้นำชุมชน แต่ก็ยังพบว่ายังมีการใช้น้ำไม่ทั่วถึง สมาชิกผู้ใช้น้ำมีการแย่งน้ำเพื่อใช้ในแปลงเกษตรโดยเฉพาะในหน้าแล้ง คนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำได้ใช้น้ำอย่างเต็มที่ ส่วนคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างออกไปต้องรอน้ำ บางครั้งน้ำไปไม่ถึงขาดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างสมาชิกและคณะกรรมการดำเนินงาน

จากสาเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย รูปแบบการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำ บ้านโนนอุดม เพื่อเรียนรู้การนำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ในการศึกษาครั้งนี้มีเป้าหมายที่กลุ่มผู้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำและชาวบ้านโนนอุดมเป็นกลุ่มหลัก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการแหล่งน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งชุมชนคาดหวังว่า กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การคิดร่วม ทำร่วมกัน ประเมินผลด้วยกัน และข้อมูลที่ได้จากกระบวนวิจัยที่มาจากชุมชนจริงๆ จะทำให้ชุมชนอยากแก้ไขปัญหาของตนเอง กระบวนการงานวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนในชุมชนมองเห็นทางออกร่วมกัน จากการพูดคุย เรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ กันมากขึ้น แล้วนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการศึกษาข้อมูลในเบื้องต้นจึงใช้วิธีการเก็บข้อมูลบริบทชุมชนและการจัดการน้ำที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูล 4 ประเด็นคือ เหตุการณ์ในอดีต ช่วงของการเปลี่ยนแปลงโดยมีคำบอกเล่าจากผู้รู้แล้วนำข้อมูลที่ได้มาสรุปผลดีและผลเสีย วิถีชีวิตความสัมพันธ์และคุณค่า การศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของบ้านโนนอุดมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นการศึกษา มิติประวัติศาสตร์ มิติความทรง จำมิติเวลาและการสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ส่วนการศึกษาสาเหตุ ปัจจัยเงื่อนไขในการใช้น้ำเพื่อการเกษตร มีการใช้เครื่องมือการเก็บข้อมูล 5 ประเด็นคือสถานการณ์หรือปรากฏการณ์ การจัดการหรือพฤติกรรม ระบบโครงสร้าง ปัญหาเหตุปัจจัย ผลดีและผลเสีย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจากแผนที่ศักยภาพของชุมชนและแผนที่จำลองอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำ

จากการศึกษานี้ได้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับบริบทประวัติศาสตร์ชุมชน การจัดการน้ำที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและสาเหตุปัจจัยเงื่อนไขในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการน้ำชลประทานของกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำ นำไปสู่การสังเคราะห์ข้อมูลซึ่งได้รูปแบบดังนี้ รูปแบบการพึ่งตนเอง โดยการประหยัดและอดออม การทำบัญชีในครัวเรือนการปลูกพืชในระบบอินทรีย์ รูปแบบการบริหารจัดการน้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำ จะมีการพัฒนาคลองส่งน้ำทุกปีออกกฎระเบียบในการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำและจัดตั้งกองทุนกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน รูปแบบการสร้างภาคีความร่วมมือในการฟื้นฟูระบบนิเวศอ่างเก็บน้ำห้วยวังถ้ำ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกพื้นที่และจัดกิจกรรมปลูกป่าในเขตพื้นที่ชลประทานต้นน้ำจาก 3 รูปแบบนี้นำไปสู่การทำแผนงานระยะที่ 2


ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ ห้องสมุดออนไลน์ http://elibrary.trf.or.th