แจงจบโปรเจกต์ 3.5 แสนล. ตั้งกระทรวงน้ำ

วันที่2013-04-18

“ปลอดประสพ” ระบุหลังจบโปรเจกต์ 3.5 แสนล้าน เดินหน้าตั้งกระทรวงน้ำ

ความคืบหน้าในการดำเนิน โครงแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาวตามวงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ในวันที่ 3พ.ค.เป็นวันที่บริษัทเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกจาก กบอ. ใน 9 กลุ่มงาน (โมดูล) ซึ่งแต่ละโมดูลจะมี 3 บริษัท จะเข้ามายื่นซองราคาและซองเทคนิคในวันดังกล่าว โดยแบ่งเป็นซองราคา 1 ซอง และซองเทคนิค 25 ซอง ส่งให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และจากนั้นจะเลือกเหลือโมดูลละ1กลุ่มบริษัท เข้ามาทำโครงการทีโออาร์เท่านั้น

แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะถึงวันยื่นซอง ปรากฏว่านายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กบอ. ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการแก้ปัญหาน้ำ ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมในระยะต่อไปภายหลังจากการคัดเลือกบริษัทเข้ามาทำ โครงการ 3.5 แสนล้านบาท

นายปลอดประสพ มั่นใจว่าโครงการ 3.5 แสนล้านบาท ผู้รับเหมาจะไม่ทิ้งงาน เหมือนโครงการอื่นๆ และยืนยันว่าไม่เคยมีผู้รับเหมารายใดมากินข้าวกับตนที่บ้านเลย และไม่เคยมีเอกชนรายไหนที่ตนพูดดีด้วย เพราะตนพูดไม่ดีกับทุกคนเพราะเป็คนตรง รวมทั้งใครวิจารณ์มาถ้าถูกต้องก็รับฟัง ไม่ถูกต้องก็ด่ากลับทันที พร้อมจะสร้างศัตรูได้ทุกเมื่อ
ส่วนความคืบหน้าในการตั้งกระทรวงน้ำขึ้น นั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ทำไปเรื่อยๆ อยู่ในหัวหมด เขียนร่างเสร็จแล้ว 2-3 ร่าง เพราะเมื่อได้บริษัทที่เข้ามาทำโครงการ 3.5 แสนล้านบาท ก็จะทำเรื่องตั้งกระทรวงน้ำต่อไป เพื่อคุมการก่อสร้างทั้งหมดไม่ให้กระจัดกระจาย และเมื่อโครงการเสร็จกระทรวงน้ำจะได้เป็นเจ้าของโครงการเพื่อเป็นเจ้าของตั้งแต่ต้น ส่วนจะมีบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาคุมโครงการหรือไม่ กระทรวงน้ำก็ ต้องควบคุมโครงการ โดยจะมีการตั้งหัวหน้าโครงการโดยที่ตนจะเลือกเอง หรือเป็นโปรเจกต์เมเนเจอรร์ประจำโครงการที่เป็นคนรุ่นใหม่ในแต่ละโครงการ อาทิ ลุ่มน้ำยมบน1คน ลุ่มน้ำยมล่าง1คน ไม่ใช่มาคุมแต่ละโมดูล แต่ทั้งนี้เรื่องแต่งตั้งรมว.กระทรวงน้ำไม่ใช่เรื่องของตน

“ยังไม่ได้คุยกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ เอาไว้คุยทีเดียวพอ เพราะท่านนายกฯเป็นคนคุยรู้เรื่อง ท่านเพียงให้แนวทางมาก็พอแล้ว เมื่อไรถึงจุดสำคัญก็จะเรียนให้ท่านทราบ ไม่จำเป็นต้องพูดตลอดเวลา และหน่วยงานที่จะเข้ามาสังกัด อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ก็เข้าใจ ไม่มีแรงต้าน และถามว่าเมื่อไรจะเอาสักที” นายปลอดประสพกล่าว

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ตั้งกระทรวงน้ำ จะเข้าครม.ได้เมื่อไร นายปลอดประสพ กล่าวว่า “ยังไม่ทราบ แต่ถ้าให้ทำจริงก็ 3 วันคงเสร็จ หมู ไม่เห็นมีอะไรเลย จะเสียเวลาก็ตอนเข้าสภาฯ เท่านั้นแหละ”

ส่วนกรณีที่ ครม. อนุมัติงบกว่า 1 หมื่นกว่าล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการปลูก ป่าใน 25 ลุ่มน้ำ รองนายกฯ กล่าวว่า ถ้าต้นน้ำป่าไม่ดี ฝนก็ไม่ตกในป่า และถ้าป่าไม่ดีก็จะไม่เก็บน้ำ แต่ถ้าป่าดีจะซับน้ำได้ดีแล้วค่อยคายน้ำแล้วระบายออก เขื่อนก็จะค่อยๆ เต็มเพราะมีน้ำเติมตลอดเวลา ซึ่งเป็นโครงการ 11,000 ล้านบาทที่ใช้เพื่อการฟื้นฟูป่า ดังนั้นการปลูกป่าครั้งนี้ไม่ใช่การปลูกป่าแบบสะเปะสะปะ โดยเป็นการปลูกในพื้นที่ วิธีการ และชนิดที่เพิ่มการซับน้ำ

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า จะมีการสร้างเขื่อนขนาดเล็กและขนาดกลางประมาณ 30 กว่าแห่ง ที่จะทำให้น้ำเพิ่มประมาณ 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นความสามารถในการเก็บน้ำที่จะใช้ในฤดูแล้งก็จะมากขึ้นด้วย และจากการขุดลอกตั้งแต่ จ.ชัยนาทขึ้นไปก็จะทำให้ความสามารถในการเก็บกัก ประมาณ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งแก้มลิงที่จะถูกสร้างขึ้นมาเพิ่มในพื้นที่เหนือจังหวัดนครสวรรค์ก็จะได้พื้นที่เก็บน้ำอีกประมาณ 500-1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

“ฉะนั้นตัวเลขที่เห็นอยู่นี้ก็เท่ากับประเทศไทยจะมีน้ำเพิ่มประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในประเทศ ณ ปัจจุบัน ถ้าน้ำจำนวนนี้ในอีกหลายปีข้างหน้าก็คือเอา 4 พันบวกกับ 4 พัน เพราะฉะนั้นปัญหาภัยแล้งก็จะเบาลง” นายปลอดประสพ กล่าว และว่าในโครงการนี้ก็จะมีทางน้ำ หรือฟลัดเวย์อยู่ด้วย ที่จะให้น้ำออกในเวลาน้ำล้นน้ำเกินเท่านั้น ซึ่งจะไม่ใช่อุปสรรคของโครงการ

นายปลอดประสพ กล่าวอีกว่า ถ้าบอกว่าปีนี้น้ำแล้ง ดังนั้นถ้ามีโครงการนี้ก็จะไม่แล้งขึ้นมาทันทีเพราะจะมีปริมาณน้ำมากกว่านี้ กว่าวันนี้เป็นเท่าตัว ทั้งนี้โครงการด้านนี้จะมีอยู่ในภาคอีสานด้วยแต่ใช้เงินไม่มากนักคือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ต่างจากการใช้เงินในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ใช้มากว่าถึง 2 แสนล้านบาท

น้ำต้นทุนในภาคอีสานน้อยกว่าพื้นที่ที่เรามี เพราะฉะนั้นจะต้องเพิ่มน้ำต้นทุน ไม่อย่างนั้นถ้าทำคลองส่งน้ำแต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาน้ำที่ไหนไปให้ส่ง ทั้งนี้การทำน้ำต้นทุนในภาคอีสานยังไงก็ต้องทำการผันข้ามลุ่มน้ำ (Tran basin diversion)

“ถ้าถามว่าลุ่มน้ำไหน 1.ก็ลุ่มน้ำโขงนั่นเเหละ เอามาตรงๆเลยจากชายแดน หรือ 2.เอามาจากเขื่อนในลาว หรือ 3.เอามาจากลุ่มน้ำสาละวินมาลงทางเหนือของไทยแล้วย้ายกลับภาคตะวันออก เฉียงเหนือ อันนี้ยากหน่อยแต่ว่าเห็นแนวทาง ถ้าทำที่ว่านี้ได้น้ำต้นทุนก็จะเพิ่มกว่านี้ก็จะทำระบบส่งน้ำได้อีสานก็จะหายแล้ง” นายปลอดประสพ กล่าว

รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า เมื่อจบโครงการ 3.5 แสนล้านบาทก็จะเริ่มต้นโครงการว่าด้วยเรื่องน้ำต้นทุนในภาคอีสาน พร้อมๆ กับจะทำเรื่องน้ำทะเลหนุนสูง สองโครงการคู่กันในเวลาอีก 2 ปีข้างหน้า เพราะเรื่องน้ำทะเลหนุนสูงทุกชาติเดินหน้าทำหมดแล้ว เราก็ต้องทำและเริ่มศึกษาได้แล้ว เมื่อถามว่าถ้าทำ2โครงการนี้งบจะใกล้เคียงกับโครงการ 3.5 แสนล้านบาทหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ว่ามันเป็นแสนล้านบาทแน่นอน ทั้งนี้ในส่วนของน้ำต้นทุนในภาคอีสานไม่แพงเท่าไรและไม่ต้องศึกษาเท่าไร แต่ต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าให้ตนเดาก็คาดว่าใช้เงินประมาณ1แสนล้านบาทเศษๆก็น่าจะอยู่แล้ว แต่ถ้าเขื่อนป้องกันน้ำทะเลหนุนสูงที่ป้องกันน้ำเกินทุนอันนี้ก็อาจจะ แพงกว่าหน่อย
“รวมความแล้วก็ต้องการเงินแบบ 3.5 แสนล้านบาทอีกทีหนึ่ง” นายปลอดประสพ กล่าว

นายปลอดประสพ กล่าวลงรายละเอียดถึงแนวคิดการทำโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนในภาคอีสานอีกว่า เเนวทางที่คิดไว้คือน้ำจะเข้าทางลำน้ำห้วยโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย แล้วก็ปล่อยให้ไปเติมน้ำในแม่น้ำชี ส่วนวิธีการนำเข้านั้นก็สูบเข้ามาไว้ที่สูงแล้วก็ปล่อยลงที่ต่ำไปไว้ในบ่อ พักน้ำที่ขุดเอาไว้ ส่วนสิ่งที่กังวลว่าน้ำในเเม่น้ำโขงแห้งแล้วจะทำอย่างไรนั้น นายปลอดประสพ กล่าวว่า แล้วจะเอาน้ำตอนที่มันแห้งทำไม ก็ตุนไว้ก่อนสิ

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาทำไมถึงไม่มีการทำโครงการแบบนี้ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ก็เพราะมัวดีแต่พูด จะลงทุนจริงก็แสนลำบาก เพราะที่ผ่านมาใช้งบประมาณประจำปี เนื่องจากงบของกรมชลประทานดูเหมือนว่างบจะมากคือ 3 หมื่นกว่าล้านบาท เเต่เป็นเงินเดือนบุคลากรประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เอามาทำโครงการจริงๆ แค่ 2 หมื่นล้านบาทที่กระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้นโครงการแบบนี้ต้องเป็นโครงการใหญ่ เป็นเมกะโปรเจกต์ ซัดตูมเดียวทีเดียวหัวท้ายจบ เพราะฉะนั้นจึงหนีไม่พ้นเรื่องที่จะต้องกู้หรอก ส่วนจะกู้ออกมาเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติตนก็ไม่ทราบ เพราะต้องขีดความสามารถในการชำระคืนด้วย

“ก็ต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ รัฐบาลนี้มาหัวหางจบเรื่องน้ำก็ถูกด่าแต่ด่าน้อยหน่อย พอเป็นรถไฟหัวหางก็ถูกด่าเยอะหน่อย เพราะรถไฟโดนหนักกว่าน้ำเพราะคนไม่เห็นความสำคัญนักก็อยู่ได้ แต่น้ำนี่ถ้าท่วมขึ้นมาก็จะรู้รส ดังนั้นอีก 2 ปีผมทำแน่นอน” นายปลอดประสพ กล่าว

ในส่วนมติ ครม.สัญจร จ.ฉะเชิงเทราที่มอบหมายให้ กบอ.แก้ปัญหาน้ำของภาคตะวันออกทั้งระบบนั้น อันนี้ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่มีเงินอยู่ในกระเป๋าแล้ว 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงิน กู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่อยู่ในงบของการฟื้นฟูประเทศของ กยอ. ที่กันลอยเอาไว้แต่ไม่ได้ใช้ เพราะภาคตะวันออกจะเน้นเรื่องน้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและน้ำเพื่อการเกษตรอีกนิดหน่อย ซึ่งขณะนี้คิดง่ายๆคือการจะทำให้ฝายทดน้ำในแม่น้ำบางปะกงกลับมาใช้ได้ตามที่ ครม.มอบหมาย หากใช้ได้ก็จะทำให้เพิ่มน้ำต้นทุนประมาณเกือบ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็จะช่วยส่งมาที่ภาคตะวันออกได้หมด

“การขาดแคลนในปัจจุบันก็จะยุติ และเรื่องของน้ำเสียในเมืองท่องเที่ยวก็บำบัดแล้วกลับไปใช้ตามที่นายก รัฐมนตรีไปดูงานที่สวีเดนและออสเตรเลีย ซึ่งเรื่องนี้ผมก็จะนำเอามาใช้ด้วย เท่ากับว่าเป็นการลดน้ำเสียและเพิ่มน้ำดิบด้วย” นายปลอดประสพ กล่าว

เมื่อถามว่าภาคใต้ไม่ต้องทำโครงการอะไรบ้างหรือ นายปลอดประสพ กล่าวว่า ภาคใต้ไม่มีอะไร แค่เอาน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคไปให้ จ.ภูเก็ตใช้ให้ได้เท่านั้น ซึ่งบริษัทอีสต์วอเตอร์ก็กำลังศึกษาอยู่ ทั้งนี้ในส่วนภาคใต้ไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนปัญหาน้ำท่วมคือเอาน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุดเท่านั้นเอง


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 18 เมษายน 2556 ในชื่อ แจงจบโปรเจกต์ 3.5 แสนล. ตั้งกระทรวงน้ำ