tdri logo
tdri logo

รัฐบาลเดินหน้าเปิดยื่นซองประกวดราคาโปรเจคน้ำ 3.5 แสนล้าน วันนี้ หลังศาลปกครองยกคำร้องคุ้มครองฉุกเฉิน “ธงทอง” ยันแค่ยื่นซอง ยังไม่เปิดซอง

ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ
ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) สำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้ (3 พ.ค.) เป็นวันที่กลุ่มบริษัทเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจากการเสนอกรอบแนวคิดจะต้องเข้ามายื่นซองราคาและซองเทคนิคเพื่อประมูลงานตามนัดหมายที่อาคารสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ตึกแดง 1 ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 08.00- 14.00 น. ของวันนี้เท่านั้น

เดิมกลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกมี 6 กลุ่มบริษัท แต่ปรากฏว่า มี 1 กลุ่มบริษัทที่ขอถอนตัวในการยื่นซอง คือ “กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย” จึงทำให้เหลือ 5 กลุ่มบริษัทที่มีสิทธิ์มายื่นซองในวันนี้ ได้แก่1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (K-Water) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเดียวที่มีสิทธิ์ยื่นเสนอซองราคาและเทคนิคครบทั้ง 9 โมดูล 10 โครงการ 2. ITD POWER CHINA JV 3. กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที 4. กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ และ5. กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์

สำหรับโครงการที่จะมีการยื่นซองราคาและเทคนิคในวันนี้นั้นประกอบด้วย 9 โมดูล 10 โครงการ ได้แก่

Module A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ให้ได้ความจุเก็บกัก 1.3 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

Module A2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งบประมาณไม่เกิน 2.6 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

Module A3 การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือจ.นครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราวโดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

Module A4 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่แม่น้ำยม น่าน เจ้าพระยา โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1.7 หมื่นล้านบาท ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

Module A5 การจัดทำทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดประมาณ1500 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งการก่อสร้างถนนเพื่อรองรับการคมนาคม โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1.53 แสนล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

Module A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 4 พันล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 5 ปี

Module B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำโดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

Module B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ งบประมาณไม่เกิน1.4หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

และ Module B3 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ งบประมาณไม่เกิน 5 พันล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ การยื่นซองราคาและเทคนิคสามารถเดินหน้าต่อไปได้หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องของสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉินเพื่อระงับการยื่นซองประมูลจัดซื้อจัดจ้างโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล 3.5 แสนล้านบาท เนื่องจากยังไม่มีเหตุผลจำเป็น แต่ทั้งนี้ศาลได้รับคำร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนแผนบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ที่นายกรัฐมนตรี และพวกรวม 4 คนตกเป็นผู้ถูกร้องไว้พิจารณา

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ กล่าวว่า คณะกรรมการกบอ.นำข้อมูลเข้าชี้แจงต่อศาลปกครองกลาง ยืนยันว่า การยื่นซองประมูลเป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นของโครงการที่ยังไม่มีความชัดเจนของการจัดสรรวงเงินงบประมาณ แต่เป็นการพิจารณาจากเอกสารของ 5 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเดินทางมายื่นซองราคาและเทคนิคให้พิจารณาเท่านั้น โดยคณะกรรมการฯจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด คาดว่า จะใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเป็นการดำเนินการขั้นตอนเจรจาต่อรองและยกร่างสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้วันที่ 3 พ.ค.จะมีการเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลทั้ง 2 ด้านได้ตามกำหนดเดิม ตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น. ที่ อาคาร สบอช.ทำเนียบรัฐบาล

นายธงทอง กล่าวอีกว่า ในวันนี้จะเป็นเพียงการยื่นซองประมูลเท่านั้น ยังไม่มีการการเปิดซองประมูลราคาตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ เพราะต้องใช้เวลาในการพิจารณาและตรวจสอบด้านเทคนิคที่จะมาใช้ในการก่อสร้างโครงการบริหารจัดการน้ำ ที่มีคณะกรรมการฯเข้าร่วมอ่านและพิจารณาเอกสารทั้งหมดประมาณ 50 คน หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 15.30 น. คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการฯจะมีการประชุมและประมวลผลเอกสารที่ยื่นมาทั้งหมดจาก 5 กลุ่มบริษัท เพื่อวางแผนการดำเนินงานต่อไปจะเป็นไปในทิศทางใดบ้าง และจะมีการชี้แจงต่อสื่อมวลชน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ในชื่อ รัฐยื่นซองโปรเจคน้ำ3.5แสนล้าน!วันนี้