นักวิชาการ รวมตัวร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดิน พบผู้บุกรุกที่ดินรัฐเพิ่ม

วันที่2013-04-24
นักวิชาการ รวมตัวร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดิน เน้นจัดสรรที่ดินเป็นธรรม ระบุปัญหาผู้บุกรุกที่ดินรัฐเพิ่มมากกว่า 10 ล้านราย
นักวิชาการ รวมตัวร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดิน เน้นจัดสรรที่ดินเป็นธรรม ระบุปัญหาผู้บุกรุกที่ดินรัฐเพิ่มมากกว่า 10 ล้านราย

วันนี้(24 เม.ย.)ที่ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการสัมมนาทางวิชาการเพื่อการปฎิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน ซึ่งศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ศูนย์ศึกษานโยบายที่ดิน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกับสำนักงานปฎิรูป(สปร.) จัดการสัมมนาขึ้นเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องพร้อมรับฟังความเห็นประกอบการยกร่างกฎหมายการปฏิรูปโครงสร้างด้านที่ดิน เนื่องจากปัจจุบันการจัดการที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยพื้นที่มีจำกัดแต่มีประชากรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการบริหารจัดการที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็น ในขณะเดียวกันจะต้องจัดการให้เกิดความเป็นธรรมด้วย
ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษานโยบายที่ดิน กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลโดยศูนย์ศึกษานโยบายที่ดิน พบปัญหาผู้อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐมีจำนวนมากกว่า 10 ล้านราย ในพื้นที่ประมาณ 15 ล้านไร่ โดยแบ่งประเภทปัญหาที่พบ ได้แก่ ปัญหาประชาชนมีที่ทำกินแต่ไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน ปัญหาภาครัฐประกาศสิทธิ์ทับที่อยู่อาศัย และปัญหาผู้ไร้ที่ดินทำกิน นอกจากนี้ในส่วนของที่ดินซึ่งรัฐบาลให้กรรมสิทธิ์ไปแล้วนั้นก็พบปัญหาการกระจุกตัวในกลุ่มนายทุนและผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตามขนาดของปัญหาต่างๆ กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจำนวนผู้ต้องการที่ดินทำกินมีมากขึ้นแต่ที่ดินมีจำกัด ดังนั้นตนเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งให้มีกฎหมายเพื่อปฏิรูปโครงสร้างที่ดิน ซึ่งขณะนี้ตนร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการอิสระกำลังดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ,ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธนาคารที่ดิน และ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยโฉนดชุมชน คาดว่าจะแล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อพิจารณานำเสนอเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป

ต่อข้อถามถึงกรณีการจัดสรรพื้นที่ของจุฬาฯ โดยการให้สถาบันการศึกษาอื่นย้ายออกจากพื้นที่จะเปรียบเทียบได้กับกรณีการไล่ที่ระหว่างภาครัฐกับประชาชนหรือไม่ ผศ.อิทธิพล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ถือเป็นการรุกไล่ที่ เนื่องจากพื้นที่เป็นของจุฬาฯ ที่ได้รับพระราชทานมา ดังนั้นจึงถือเป็นสิทธิ์ของจุฬาฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่แต่เพียงผู้เดียวสามารถบริหารจัดการพื้นที่ให้มีความเหมาะสมได้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 24 เมษายน 2556 ในชื่อ นักวิชาการ รวมตัวร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดิน พบผู้บุกรุกที่ดินรัฐเพิ่ม