ปัดฝุ่นดำเนินการใหม่ ‘อ่างเก็บน้ำ’ ชื่อ ‘น้ำปี้’ จะมีแล้ว?

วันที่2013-06-01

dailynews20130601

ภัยธรรมชาติที่เกี่ยวกับน้ำ ทั้งอุทกภัย และภัยแล้ง เป็นปัญหาใหญ่ที่ไทยต้องเร่งแก้ไขป้องกัน และขณะเดียวกันการจะทำโครงการใดๆ ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนควรให้ความสนใจในการทำความเข้าใจ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ลงพื้นที่ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ไปดู โครงการอ่างเก็บน้ำ น้ำปี้ จ.พะเยา ซึ่งกรมชลประทานเคยศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2520 และเป็นอีกโครงการใหญ่ที่ถูกนำมาทบทวนเพื่อใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำ

โครงการนี้ก็น่าทำความเข้าใจ และติดตามดู…

ทั้งนี้ แม่น้ำปี้ หรือแม่น้ำพี้ หรือแม่น้ำปี๊ เป็นแม่น้ำสาขาแม่น้ำยม ซึ่งจากเอกสารโครงการอ่างเก็บน้ำ น้ำปี้ จ.พะเยา ระบุไว้ว่า แม่น้ำปี้มีความยาว 66 กม. มีลำน้ำสาขาไหลสมทบลงมาหลายสาขา บริเวณนี้ในฤดูฝนมีปริมาณน้ำมาก แต่ฤดูแล้งลำน้ำปี้มีน้ำน้อยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมชาติ และในลุ่มน้ำมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 8-9 แห่ง มีความจุน้อย ปริมาณน้ำจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยรวม จึงมีการย้ายถิ่น

กับการทบทวนโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ตามแผนใหม่ อ่างจะมีความจุน้ำ 96 ล้านลูกบาศก์เมตร (เดิม 26-27 ล้านลูกบาศก์เมตร) ส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรหน้าฝนใน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ได้ 28,000 ไร่ และในฤดูแล้งส่งน้ำให้พื้นที่ อ.เชียงม่วน และพื้นที่ จ.แพร่ ได้รวม 51,800 ไร่ โดยโครงการนี้มีค่าก่อสร้างรวม 2,215.65 ล้านบาท แบ่งเป็นเขื่อนและอาคารประกอบ 1,200 ล้านบาท, ระบบท่อส่งน้ำชลประทาน 612.00 ล้านบาท, ค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน 173.06 ล้านบาท, ค่าลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 230.59 ล้านบาท

ประสิทธิ์ สมัคร นายกเทศมนตรีตำบลเชียงม่วน จ.พะเยา ระบุว่า…ชาวบ้านจำเป็นต้องให้รัฐบาลสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ เพราะคนเชียงม่วนกว่า 90% ทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ทำนา ปลูกพืชไร่ และผลไม้ ซึ่งในช่วงฤดูฝนน้ำมีเยอะ แต่พอฤดูแล้งไม่มีน้ำใช้อุปโภค-บริโภค ในส่วนของฝายน้ำปี้เดิมที่มีพื้นที่รับประโยชน์ 3,000 ไร่ แต่พอฤดูแล้งรับประโยชน์ได้ไม่ถึง 1,000 ไร่ ชาวบ้านจึงต้องการอ่างเก็บน้ำ เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตเดิมที่เคยทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง แต่ตอนหลังเหลือปีละ 1 ครั้ง ชาวบ้านอยากทำนาปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ

’ถ้าโครงการสำเร็จเชื่อว่าความเป็นอยู่ชาวบ้านจะดีขึ้นมาก ทั้งด้านเกษตร ทำประมงได้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย ถ้ารายได้เพิ่ม มีอาชีพเสริม ความเป็นอยู่ชาวบ้านก็จะดีขึ้น“…ประสิทธิ์ ระบุ

ด้าน สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ระบุว่า…สำหรับลุ่มน้ำยมนี้มีการศึกษากันมาก เพราะเป็นลุ่มน้ำที่เกิดปัญหาหวือหวามาก ยกตัวอย่าง…บางระกำ มีปัญหาชัดเจนมาก ซึ่งที่ผ่านๆ มาก็มีการสร้าง มีการพัฒนาลุ่มน้ำในหลายๆ รูปแบบ เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อยู่ตอนบน อยู่เชิงเขา, ประตูระบาย, ฝาย อย่างไรก็ตาม ลำน้ำยม-น่าน ทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่ระบบระบายน้ำมีความจำเป็น

สำหรับลุ่มน้ำสาขาของน้ำยม เช่น น้ำปี้ ก็มีปัญหามานาน หน้าฝนน้ำมีเยอะมาก แต่ไม่มีที่เก็บ จึงต้องหาที่เก็บน้ำ อย่างฝาย อ่างเก็บน้ำ ซึ่งอ่างเก็บน้ำนั้นไม่ใช่จะสร้างได้ทุกที่ ต้องมีภูมิประเทศที่เฉพาะจึงจะสร้างได้

“โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ แรกเริ่มวางเอาไว้ที่ความจุ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปรากฏว่ามีน้ำไหลเข้า 130 ล้านลูกบาศก์เมตร ตอนแรกจะสร้างเพื่อเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ต่อมาจุดประสงค์ปรับใหม่ คือสร้างเพื่อกักเก็บน้ำในหน้าฝนเพื่อไม่ให้รวมไปกับแม่น้ำยม และช่วงหน้าแล้งสามารถเผื่อชาวบ้านได้ คือพื้นที่ด้านล่างได้ประโยชน์ในยามต้องการ จึงจำเป็นต้องขยายขนาดของอ่างให้ใหญ่ขึ้น”

สมเกียรติระบุอีกว่า…ประโยชน์ที่จะได้รับจากอ่างนี้จะมีมาก ทั้งสร้างความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์บริเวณรอบๆ สร้างอาณาเขตป่าได้ชัดเจน และเมื่อมีแหล่งน้ำประชาชน 3 ตำบล ของ อ.เชียงม่วน ก็ได้ประโยชน์ มีแหล่งน้ำใช้ ซึ่งโครงการจะมีระบบท่อให้ด้วย จะเกิดแหล่งท่องเที่ยว เกิดอาชีพเสริม รวมถึงเกิดการทำประมง

ส่วนผลกระทบที่บางฝ่ายกังวล ผอ.สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ระบุว่า…การก่อสร้างก็อาจกระทบกับป่า ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่จะลดผลกระทบอย่างไร?? ต้องหาทางป้องกัน ให้ข้อมูลที่แท้จริงแก่ชาวบ้านและให้เข้ามีส่วนร่วม มีแผนปลูกป่า มีการถ่ายเทน้ำถ้าเกิดน้ำท่วม ซึ่งเรื่องผลกระทบนี้ได้ศึกษาเทียบเคียงโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ถ้ามีการสูญเสียก็มีแผนชดเชยและตอบแทนเท่ากันทุกอย่าง

ทั้งนี้ ในส่วนของ นิรันดร์ บางท่าไม้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกภัย และด้านวางโครงการ กรมชลประทาน ก็บอกว่า…จากที่ได้ลงพื้นที่ 10 เดือน มีการทำแบบสอบถามประชาชนทุกครั้ง ปรากฏว่ากว่า 90% เห็นด้วยกับโครงการ ก็มีบางส่วนที่ไม่แน่ใจ ไม่ออกความคิดเห็น และมีบางส่วนไม่เห็นด้วย เหตุผลคือกลัวเสียพื้นที่ กลัวเสียป่า ชาวบ้านท้ายน้ำเห็นด้วยหมด ส่วนคนที่อยู่ต้นน้ำที่ไม่เห็นด้วยก็มีการเชิญเข้าประชุมชี้แจงว่าจะไม่เสียพื้นที่

’ที่ผ่านมาประชากรบริเวณนี้ลดลงจากการย้ายถิ่นไปทำกินที่อื่น เพราะหน้าแล้งที่นี่แห้งแล้งมาก แทบไม่เห็นสีเขียวเลย โครงการนี้จึงมีความจำเป็นมาก“…เจ้าหน้าที่กรมชลประทานรายนี้ระบุ

’อ่างเก็บน้ำ น้ำปี้“ โครงการนี้จะเป็นเช่นไร??

จะแจ้งเกิดได้สำเร็จหรือไม่?? ก็รอดูกัน…


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 1 มิถุนายน 2556 ในชื่อ ปัดฝุ่นดำเนินการใหม่ ‘อ่างเก็บน้ำ’ ชื่อ ‘น้ำปี้’ จะมีแล้ว?