ทีดีอาร์ไออัดการเมืองแทรกแผนปล่อยน้ำ ทำเกิดภัยแล้ง

วันที่2015-07-02

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ภัยแล้งเกิดจากการเมืองแทรก ปรับแผนปล่อยน้ำปี 54 หนุนนโยบายจำนำข้าว แนะภาครัฐคุมผังเมือง ให้ ปชช.ร่วมจัดการน้ำ เชื่อแก้ปัญหาได้

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดสัมมนาเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย: ข้อเสนอเชิงนโยบาย” โดยนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ นำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอแนะว่า วิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วมที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากธรรมชาติอย่างเดียว แต่เกิดจากความผิดพลาดของนโยบายและการจัดการน้ำ รวมทั้งปัญหาการใช้ที่ดินที่ขาดการควบคุม แต่แนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐยังคงเน้นสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก โดยจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่าปัญหาของการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา คือปัญหาการจัดการด้านการลงทุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขาดการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อคัดเลือกโครงการลงทุนที่เหมาะสมที่สุด การตัดสินใจลงทุนที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็มีการเปลี่ยนโครงการ นอกจากนี้กฎหมายในการจัดการน้ำของไทย เป็นการมุ่งแก้ปัญหาเพียงการป้องกันและระวังภัย แต่ไม่ได้คำนึงถึงการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว รวมทั้งปัญหานักการเมืองหรือผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซง กดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ทีดีอาร์ไอจึงมีข้อเสนอในการบริการจัดการน้ำโดยให้มีการพัฒนามาตรการด้านผังเมือง อาทิ การควบคุมความหนาแน่นของการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะในชานเมืองและพื้นที่เสี่ยง พัฒนามาตรการด้านผังเมืองที่เอื้อต่อการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินลุ่มน้ำ อีกทั้งจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่ระดับลุ่มน้ำที่แสดงความต้องการใช้น้ำและความเสี่ยงต่อน้ำท่วมที่นำมาเป็นเกณฑ์ในการวางแผนการใช้ที่ดิน นอกจากนั้นควรให้ความสำคัญของการสร้างสถาบัน องค์กร หรือกลุ่มในการจัดการน้ำที่มากกว่าสิ่งก่อสร้าง อาทิ ตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีความเชื่อมโยมกับกรรมการลุ่มน้ำย่อยประจำจังหวัด และกลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยสถาบันหรือองค์กรที่ตั้งขึ้นต้องมีตัวแทนจากกลุ่มลุ่มน้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำเข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนข้อเสนอสำหรับท้องถิ่นควรยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการวางแผนและผังของพื้นที่ตนเอง

นายนิพนธ์ ยังให้สัมภาษณ์ภายหลังการสัมมนา ถึงปัญหาเรื่องน้ำในปัจจุบันว่า ภาวะน้ำแล้งที่กำลังกระทบการทำนาปีในขณะนี้ เริ่มต้นจากการเมืองเข้าแทรกแซงการบริหารเขื่อนใหญ่ในปลายปี 2554 เพราะความกังวลเรื่องน้ำท่วม และนโยบายรับจำนำข้าวที่ทำให้ชาวนาเพิ่มการปลูกข้าวในฤดูแล้ง ทำให้ปล่อยน้ำมากกว่าแผน และเกษตรกรไม่เชื่อคำเตือนภัยแล้งของกรมชลประทาน ดังนั้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต่อไป ควรตั้งคนที่มีความรู้เข้าไปทำงาน ไม่ควรให้นักการเมืองที่ไม่มีความรู้เรื่องน้ำมาทำให้เกิดปัญหา ส่วนผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อปริมาณการผลิตข้าวนั้น ยืนยันว่ามีแน่นอน แต่ยังไม่สามารถคำนวณความเสียหายได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีฝนตกและน้ำเข้ามาเติมในเขื่อนเมื่อใด.

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ในชื่อ ทีดีอาร์ไออัดการเมืองแทรกแผนปล่อยน้ำ ทำเกิดภัยแล้ง