เครือข่ายลุ่มน้ำฯ อัดรัฐบาล ทำประชาพิจารณ์แผนน้ำ 3.5 แสนล. แค่ “พิธีกรรม”

วันที่2013-09-08

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ อัดรัฐบาลไม่จริงใจ ทำประชาพิจารณ์แผนน้ำ 3.5 แสนล้าน แค่พิธีกรรม ไม่รับฟังความเห็นคนในพื้นที่ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องความเป็นธรรม ให้ประชาชนมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน

isranews20130908

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ประชาพิจารณ์แผนบริหารจัดการน้ำต้องมีส่วนร่วม เคารพสิทธิชุมชน”

โดยแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุว่า “แม้ขณะนี้รัฐบาลและกบอ. จะมีการเผยแพร่กำหนดการเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งจะจัดทั้งหมด 19 ครั้ง ใน 38 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 6 หมื่นคน ทั้งนี้การดำเนินการของรัฐบาลเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ให้รัฐบาลปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57(2) มาตรา 67(2) โดยให้นำแผนบริหารจัดการน้ำไปจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้เสียก่อนที่จะเนินการจ้างออกแบบ

การดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการครั้งนี้ พวกเราในนามภาคประชาชนเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือเห็นว่า การวางแผนมีความเร่งรีบ รวบรัด ไม่ได้มีความจริงใจในการ “รับฟังความคิดเห็น” อย่างจริงจังเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำของประเทศ แต่เป็นเพียงแต่พิธีกรรมที่ต้องทำให้ลุ่ล่วงโดยเร็วเท่านั้น

แถลงการณ์ระบุต่อว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าจนปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาว่าแผนบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูล ซึ่งประกอบด้วยเขื่อนกว่า 20 แห่ง ฟลัดเวย์ และโครงสร้างอื่นๆ จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง

ในขณะที่มีความกังวลว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นในวงกว้าง ดังนั้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ตลอดจนภาควิชาการ จึงเป็นสิ่งจำเป็นย่างยิ่ง เพื่อที่จะนำความคิดเห็นและข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจนโยบายสาธารณะครั้งนี้

เครือข่ายชาวบ้านที่จะเดือดร้อนจากโครงการเขื่อนภายใต้ชุดโครงการ 3.5 แสนล้านบาท อาทิ เขื่อนแม่แจ่ม เขื่อนแม่ขาน เขื่อนแก่งเสือเต้น (หรือเขื่อนยมบน-ยมล่าง) เขื่อนคลองชมภู พบว่ารัฐบาลไม่สร้างกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้ได้รับผลกระทบ จวบจนวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างไม่ได้รับข้อมูลโครงการ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

เวทีประชาพิจารณ์ระดับจังหวัดที่จะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ยังไม่มีวี่แววว่าจะเริ่มเผยแพร่ข้อมูลล่วงหน้า เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเตรียมตัวและแสดงความคิดเห็นในเวทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ลูกบ้าน ไม่มีใครได้ยินข่าวจากทางการว่าจะมีเวทีที่ไหน เมื่อไหร่ที่เราจะไปแสดงความเห็นได้” นายรอน ไพรินทร์ ชาวบ้านแม่เอาะ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อนแม่แจ่มตามแผนในโมดูล A1 กล่าวยืนยัน

เช่นเดียวกับนายเชาว์ เย็นฉ่ำ เลขาธิการเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนคลองชมภู ในโมดูล A1 กล่าวว่าชาวบ้านในพื้นที่ยังไม่ได้รับแจ้งให้ไปร่วมเวทีประชาพิจารณ์ โดยชาวบ้านอยากรู้ข้อมูล และอยากรู้เหตุผลว่าสร้างเขื่อนกั้นคลองชมภูทำไม ที่สำคัญคือชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

“เราเชื่อว่า ชาวบ้านจะได้รับแต่ความเดือดร้อนมากกว่า แถมยังเกิดผลกระทบต่อป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง แหล่งจระเข้น้ำจืด ซึ่งควรอนุรักษ์เอาไว้ นอกจากนี้ผลกระทบต่อแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านจะมีการจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้อย่างไร” นายเชาว์ กล่าว

นอกจากปัญหาที่ชาวบ้านยังไม่ได้รับข้อมูลล่วงหน้าก่อนทำประชาพิจารณ์แล้ว ในเอกสารกำหนดการ ยังพบว่าไม่มีการจัดเวทีในพื้นที่ที่ได้ผลกระทบต่อเนื่อง เช่นลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะถูกผันน้ำปิง ออกไปทางตะวันตกตามแผนฟลัดเวย์ ในโมดูล A5

ขณะเดียวกันในหลายพื้นที่แม้จะอยู่ในแผนการรับฟังความคิดเห็น แต่ชาวบ้านอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางจังหวัด หากจะเดินทางมาร่วมงานต้องใช้เวลาครึ่งค่อนวัน นอกจากนี้ชาวบ้านจำนวนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่รู้และไม่เข้าใจภาษาไทยกลางที่ภาครัฐใช้สื่อสาร

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้การจัดทำประชาพิจารณ์ครั้งสำคัญนี้เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยจัดเวทีย่อยในระดับพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าร่วมได้ แจกจ่ายข้อมูลโครงการล่วงหน้าเพื่อให้ชาวบ้านสามารถศึกษาทำความเข้าใจก่อนร่วมเวที

สำหรับพื้นที่ที่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นชนพื้นเมือง อาทิ ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่ อ.แม่แจ่ม เวทีรับฟังความคิดเห็นต้องเป็นไปตามหลักสากล คือ จัดเวทีในภาษาท้องถิ่น และให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจล่วงหน้า (Free Prior Informed Consent) เพื่อจะทำให้ชาวบ้านเข้าใจข้อมูลและร่วมแสดงความเห็นได้อย่างแท้จริง

เพื่อความยั่งยืนและความเป็นธรรม เพื่อทรัพยากรน้ำที่เราจะรักษาให้ลูกหลาน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 8 กันยายน 2556 ในชื่อ เครือข่ายลุ่มน้ำฯ อัดรัฐบาล ทำประชาพิจารณ์แผนน้ำ 3.5 แสนล. แค่ “พิธีกรรม”