ชะตากรรมภาคเกษตรไทยวิกฤติภัยแล้ง..ลามถึงปี 60

วันที่2016-01-11

เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที: ข่าวทั่วไป
ชะตากรรมภาคเกษตรไทยวิกฤติภัยแล้ง..ลามถึงปี60: ดลมนัส กาเจ

kcl20160111

หากดูตัวเลขจากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครั้งล่าสุด ณ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าในอ่างเก็บน้ำเขื่อนต่างๆ ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 33 แห่งทั่วประเทศมีปริมาตรน้ำทั้งหมด 39,410 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากจำนวนเต็ม 70,370 ล้าน ลบ.ม. หรือ 56% ในจำนวนนี้มีปริมาตรน้ำที่ใช้ได้จริงเพียง 15,908 ล้าน ลบ.ม. หรือ 23% เท่านั้น ถ้าจะโฟกัสให้แคบลงเฉพาะ 4 เขื่อนสำคัญที่หล่อเลี้ยงลงสู่พื้นที่การเกษตรทั้งสองฟากฝั่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด อันเป็นพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉพาะมากที่สุดในประเทศไทย พบว่าเขื่อนภูมิพลที่ จ.ตาก มีปริมาตรน้ำ 4,891 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 13,462 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% ในจำนวนนี้ใช้ได้จริง 1,091 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 8% เท่านั้น
ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาตรน้ำ 4,704 จากความจุทั้งหมด 9,510 ล้าน ลบ.ม. เหลืออยู่ 49% ใช้ได้จริง 1,854 หรือ 19% ด้านเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาตรน้ำน้ำ 379 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 939 ล้าน ลบ.ม. หรือ 40% สามารถใช้ได้จริง 336 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% ขณะที่เขื่อนปาสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาตรน้ำ 496 ล้าน บล.ม. จากความจุ 960 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% ใช้ได้จริง 493 ล้าน ลบ.ม. หรือ 51%

น้ำอุปโภคบริโภคมีถึงเดือนพฤษภาคม
สอดคล้องกับตัวเลขที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (5 ม.ค.59) ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 10,499 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรวมกัน 4.25 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.60 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้การได้ คงเหลือรวมกันจำนวน 3,803 ล้าน ลบ.ม. (แผนการใช้น้ำระหว่าง 1 พ.ย.58-30 มิ.ย.59) ยืนยันว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนและรักษาระบบนิเวศไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2558/2559 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึงปัจจุบัน (5 ม.ค.59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,011 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของแผนการจัดสรรน้ำ (แผนกำหนดไว้ 2,900 ล้าน ลบ.ม.) คงเหลือน้ำใช้การได้ตามแผนในฤดูแล้งนี้อีกประมาณ 1,889 ล้านลูกบาศก์เมตร (การส่งน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.-30 เม.ย. ของทุกปี)

“ตัวเลขของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,636,000 ไร่ ขณะที่ปริมาณน้ำที่ค้างในพื้นที่หลังหมดฤดูฝน ได้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีการปลูกข้าวนาปรังอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต หากยังมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง จึงขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย-ปศุสัตว์-ประมง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พล.อ.ฉัตรชัย พร้อมคณะที่เป็นผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นสพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2558/59 และติดตามความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนในพื้นที่ จ.พิษณุโลก โดยมีนายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ต้อนรับ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งนั้น มีการแจกปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปลูกพืชน้ำน้อย เลี้ยงสัตว์ ทำประมง, การปรับปรุงดิน/ปุ๋ยพืชสดเกษตรกร เป้าหมาย 385,958 ราย งบประมาณ 971.98 ล้านบาท แจกปัจจัยการผลิต (ปลูกพืชน้ำน้อย เลี้ยงสัตว์ ทำประมง ปรับปรุงดิน/ปุ๋ยพืชสด) มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยผลการดำเนินงานในส่วนของพืชไร่ อาทิ ถั่วเหลือง/ถั่วเขียว/ถั่วลิสง 140.22 ตัน เกษตรกร 5,021 ราย จะให้แล้วเสร็จในวันที่ 15 มกราคมนี้

นอกจากนี้ในส่วนแรกโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย/ใช้ความชื้นในดิน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 กรมส่งเสริมการเกษตรได้โอนเงินให้ 22 จังหวัด 57 อำเภอ 129 ตำบล 159 โครงการ งบประมาณ 153.02 ล้านบาท เกษตรกรจะดำเนินการในเดือนมกราคม 2559 กระนั้นต้องยอมรับว่าหลายเรื่องยังติดขัดเรื่องกระบวนการจัดหาและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอาจจะทำให้การเพาะปลูกไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศและความชื้นในดิน ดังนั้นจะส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนชนิดของพืชที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับความชื้นในดินเพื่อลดความเสียหาย

มอบเมล็ดพันธุ์ใช้น้ำน้อย 2.3 พันตัน
ท่ามกลางความปั่นป่วนของเกษตรกรที่ไม่มีน้ำเพื่อการเพาะปลูกนั้น กรมวิชาการเกษตรได้สำรองเมล็ดพันธุ์พืชไร่ใช้น้ำน้อยและมีอายุเก็บเกี่ยวสั้นไว้รองรับความต้องการของเกษตรกรที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ดีไปปลูกในช่วงหน้าแล้ง เพื่อสร้างรายได้ทดแทนการทำนาปรัง รวมกว่า 2,300 ตัน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง จำนวน 800 ตัน และถั่วเขียว 1,300 ตัน และถั่วลิสง 200 ตัน โดยพืชเหล่านี้ใช้เวลาปลูกไม่เกิน 110 วันหลังทำนา ทั้งยังเตรียมเชื้อไรโซเบียมเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชตระกูลถั่วด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการปลูกข้าวโดยเฉพาะพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเป็นแนวทางช่วยให้เกษตรกรสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แนะนำว่า การเลือกปลูกพืชไร่ใช้น้ำน้อย เกษตรกรควรพิจารณาถึงพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ทั้งยังต้องมองความต้องการของตลาด ราคาผลผลิต และมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงความเหมาะกับสภาพแวดล้อมด้วย

สอดคล้องกับแนวทางสนับสนุนของ นายโอฬาร พิทักษ์ กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำว่า ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังซึ่งใช้น้ำมากมาปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเขียวทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง เพราะพืชเหล่านี้มีอายุการเก็บเกี่ยวใกล้เคียง หรือสั้นว่าข้าว แต่ใช้น้ำน้อยกว่า ให้ผลตอบแทนในการผลิตมากกว่า โดยมีตลาดรองรับอีกด้วย เน้นในพื้นที่เขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดพบว่ามีพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชไร่ดังกล่าวราว 4 ล้านไร่

ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ 6 เดือน
ขณะที่ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ บอกว่า ส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 206.233 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ประสบภัยแล้ง อัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีสมาชิกเป้าหมายจำนวน 134,479 ราย จาก 651 สถาบันเกษตรกร ซึ่งมีทั้งสัญญากู้เดิมและสัญญากู้ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557-30 เมษายน 2559 นอกจากนี้มีแผนสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นให้แก่สมาชิกในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) อนุมัติกรอบวงเงิน กพส. จำนวน 300 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ยืมไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนแบบปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน

ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินภาพของสถานการณ์ภัยแล้งและมาตรการในการช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยในฤดูการผลิตปี 2558/2559 ขณะที่ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่ามีข้อบ่งชี้ทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า อุณหภูมิบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ภาคเกษตรอาจได้รับผลกระทบทั้งในเรื่องปริมาณน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต และในแง่ของปริมาณผลผลิตอีกด้วย

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์คม-ชัด-ลึก วันที่ 11 มกราคม 2559 ในชื่อ ชะตากรรมภาคเกษตรไทยวิกฤติภัยแล้ง..ลามถึงปี 60