เร่งผันน้ำเข้าแก้มลิง อยุธยาเปิด 4 ทุ่งนารับน้ำ

วันที่2013-10-04

ชลประทานอยุธยาเร่งผันน้ำเหนือเข้าทุ่งนาพื้นที่แก้มลิง 4 ทุ่ง รวมพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมริมฝั่งเจ้าพระยา

ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือและไหลรวมลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย จนหลายพื้นที่ริมตลิ่งได้รับผลกระทบ ทำให้ชลประทานพระนครศรีอยุธยา ได้ผันน้ำเข้าทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังหมดแล้ว พื้นที่กว่า 100,000 ไร่

นายไมตรี ปิตินานนท์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยเมื่อวานนี้(3 ต.ค.) ว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งผันน้ำเหนือหลากเข้าทุ่งนา ที่กำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำนองหรือแก้มลิง จำนวน 4 ทุ่ง รวมพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ โดยแยกเป็นจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผันเข้า 2 ทุ่ง คือทุ่งบางบาล 1 และ ทุ่งบางบาล 2

ส่วนแม่น้ำน้อย ผันเข้าทุ่งผักไห่ และแม่น้ำลพบุรี เข้าทุ่งมหาราช ซึ่งทั้งหมดเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบ 2 ไปหมดแล้ว เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาน้ำท่วมริมแม่น้ำ ซึ่งมีระดับเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน

ด้านนางอำไพ สุดสาคร ซึ่งปลูกบ้านอยู่ในทุ่งบางบาล 1 กล่าวว่า น้ำท่วมหมู่บ้านกลางทุ่ง ในพื้นที่แก้มลิงแล้ว 2 หมู่บ้าน คือหมู่บ้านโรง และหมู่บ้านขวาง ซึ่งถนนเข้าชุมชนได้ถูกท่วม จึงเรียกร้องว่าหากจะให้แบกรับน้ำในทุก ๆ ปี ควรจะมายกถนนในชุมชนให้สูงกว่านี้ เพราะชาวบ้านเดือนร้อน พายเรือไกลกว่า 2 กิโลเมตร กว่าจะมาถึงจุดที่น้ำไม่ท่วม

ฝนหนักเขื่อนป่าสักเพิ่มการพร่องน้ำ

ขณะที่ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำป่าสักชลสิทธิ์ ประจำวันที่ 3 ต.ค. ว่า เขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำ 932 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 96% ของความจุเก็บกักสูงสุด (ที่ระดับ 960 ล้านลบ.ม.) ซึ่งกรมชลประทาน ได้พร่องน้ำออกจากเขื่อนป่าสักฯ เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เนื่องจากมีฝนตกหนักทางตอนบน ในเขต ต.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี วัดปริมาณฝนสูงสุดได้ 130 มิลลิเมตร และน้ำจำนวนมากไหลลงเขื่อนป่าสักฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กรมชลประทาน ได้วางมาตรการการพร่องน้ำออกจากเขื่อนเป็นระยะ ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อตัวเขื่อน

ปัจจุบันกรมชลประทาน จำเป็นต้องพร่องน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ในเกณฑ์ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในเกณฑ์ประมาณ 600-620 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมทั้งรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองระพีพัฒน์ เพื่อลดยอดน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนมากนัก

แม่น้ำภาคเหนือเพิ่มปริมาณมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนที่ตกสะสมนานหลายวันที่ จ.เชียงราย ทำให้ระดับในแม่น้ำคำเพิ่มขึ้นและไหลเชี่ยว กระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งริมถนนสายเชียงแสน-เชียงของ บริเวณเชิงสะพานบ้านสบคำ ลึกเข้ามากว่า 20 เมตร ทำให้ถนนพังไปแล้วบางส่วน เสาไฟฟ้าเริ่มเอนจนเกือบล้มลงไปในแม่น้ำ และดินยังไหลลงต่อเนื่อง

ที่ จ.พิษณุโลก น้ำท่วมใน ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม ล่าสุดพนังคันคลองเนินกุ่ม ถูกน้ำกัดเซาะพังเสียหายเป็นระยะทางกว่า 10 เมตร ทำให้น้ำหลากทะลักขยายวงกว้าง กำลังทหารจากกองพลทหารราบที่ 4 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ช่วยกันซ่อมแซมพนัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ส่วนที่ จ.พิจิตร พื้นที่ อ.โพธิ์ประทับช้าง ฝนยังตกสะสม ประกอบกับน้ำเหนือจากพิษณุโลกหลากลงมาสมทบไม่ขาดสาย อีกทั้งยังมีน้ำป่าทางด้าน อ.บึงสามัคคี และ อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร จึงเกิดปัญหาน้ำหลากท่วมบ้านเรือน นาข้าวและสวนกล้วยน้ำว้า ระดับน้ำบางแห่งสูง 1 เมตร นอกจากนี้น้ำยมยังเอ่อล้นตลิ่งท่วมชุมชนโบราณและย่านเศรษฐกิจการค้าเก่าแก่ในตลาดวังจิก

เพชรบูรณ์น้ำล้น 4 อ่าง

สำหรับ จ.เพชรบูรณ์ อ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง เฉลียงลับ ห้วยนา และอ่างเก็บน้ำคลองลำกง มีระดับน้ำสูงเกินกว่าปริมาณเก็บกัก จนล้นทะลักออกทางช่องสปินเวย์ จึงต้องเร่งระบายน้ำออก ทางจังหวัดประกาศเตือนชาวบ้านในเขตเทศบาลเมือง และที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อน ให้ระวังอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

พื้นที่ จ.ชัยภูมิ เกิดฝนตกหนักซ้ำอีกบนเทือกเขาพังเหย เทือกเขาภูแลนคาและเทือกภูเขียว มวลน้ำจำนวนมากไหลทะลักลงแม่น้ำชี บ้านเรือนราษฎร เรือกสวนไร่นา ใน 7 อำเภอ ถูกน้ำท่วมซ้ำอีกระลอก ความเสียหายขยายวงกว้าง มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 2 แสนคน ล่าสุดทางเทศบาลได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพิ่ม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากตัวเมือง กู้โซนเศรษฐกิจในเทศบาลเมือง

น้ำจากปราจีนฯ ไหลท่วมแปดริ้ว

ขณะที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้ประกาศให้ อ.ราชสาส์น เป็นเขตภัยพิบัติอุทกภัย หลังมีน้ำไหลบ่ามาตามคลองสายต่างๆ จากอ.ศรีมหาโพธิ และอ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี จนเอ่อล้นท่วมถนนสายบ้านสร้าง-พนมสารคาม พร้อมประสานชลประทานเร่งระบายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมโบสถ์วัดจันทน์กะพ้อ พระอารามหลวงชั้นตรี ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าอาวาสวัดจันทน์กะพ้อระบุว่า น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งซึมผ่านคันกั้นน้ำเข้าท่วมโบสถ์ ซึ่งอยู่ด้านหลังของวัด จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือ วัดต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันเดียวกัน สถานการณ์น้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่งส่งผลกระทบให้พื้นที่ 3 อำเภอ ของจ.สิงห์บุรี ประกอบด้วย อ.อินทร์บุรี 6 ตำบล 47 หมู่บ้าน อ.เมืองสิงห์บุรี 6 ตำบล 7 หมู่บ้าน 6 ชุมชน อ.พรหมบุรี 7 ตำบล 33 หมู่บ้าน

น้ำทะลักท่วมด่านเกวียนสูง 50 ซม.

เจ้าหน้าที่สำนักบำรุงทาง นครราชสีมาที่ 3 ได้ช่วยกันขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ขึ้นบนที่สูง และบางส่วนใช้รถตักดินขนาดเล็ก ขุดดินที่อยู่บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 81/1 บ้านท่าอ่าง ม.1 ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เพื่อช่วยเปิดทางระบายน้ำให้กว้างขึ้น ภายหลังจากที่ฝนตกหนักในพื้นที่ ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาระบายไม่ทัน จนเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนดังกล่าว

นายนิติพงษ์ สุวรรณปัญญา อายุ 33 ปี เจ้าของบ้านที่ถูกน้ำท่วม เปิดเผยว่า ระดับน้ำที่ไหลเข้าท่วมภายในบ้านอยู่ที่ประมาณ 50 เซนติเมตร(ซม.)

นายกฯ สั่งกลาโหมรับมือน้ำเหนือ

พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ ติดตามสถานการณ์ ประสานงานกับสำนักงานเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้การระบายน้ำออกสู่ทะเลมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า ในช่วงวันที่ 2-5 ต.ค.นี้ จะมีร่องมรสุมพัดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน อาจจะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนตกหนัก ประกอบกับ กรุงเทพฯ จะต้องรับปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนเหนือด้วย

ส.ส.3 พรรคตั้งกระทู้สดถามแก้น้ำท่วม

ขณะที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ และนางเพชรินทร์ เสียงเจริญ ส.ส.ปราจีน พรรคภูมิใจไทย ได้ตั้งกระทู้สดถามรัฐบาลถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

โดยนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ตอบกระทู้โดยยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมโดยเร่งด่วน ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ในพื้นที่ภาคอีสานต่างจากภาคเหนือและภาคกลาง เพราะอีสานใต้ไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำ หรือจะสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้

อย่างไรก็ตาม ในงบประมาณเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท มีโครงการในต้นแม่น้ำชี 3 โครงการ ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ในช่วงที่น้ำมา และจะแก้ไขปัญหาในยามที่น้ำขาดแคลนได้ ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำกำลังรับข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น นายวราเทพ กล่าวว่า หลังน้ำลดจะมีการเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจะได้ชดเชยให้กับเกษตรกรทันที และกรณีที่ประสบปัญหาอุทกภัยและเดือดร้อนไม่สามารถชำระหนี้ของ ธ.ก.ส.ได้ เรื่องการพักหนี้ ก็คงไม่มีปัญหา

เยียวยาบ้านพังทั้งหลัง 3 หมื่น-นาจม 1 พัน

ด้าน พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า กรมทางหลวงได้สำรวจความเสียหายในเส้นทางต่าง ๆ เพื่อจะได้ของบประมาณมาซ่อมให้คืนสภาพโดยเร็ว ขณะเดียวกันได้จัดสรรงบประมาณในการยกระดับถนน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอุทกภัย และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ จึงได้จัดทำสะพาน ซึ่งมี 91 โครงการ ทำแล้วเสร็จ ใช้งบ 9,040 ล้านบาท

นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยรัฐบาลจะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาครัวเรือนละ 33,300 บาท สำหรับบ้านที่เสียหายทั้งหลัง แต่หากเสียหายบางส่วนจะจ่ายค่าเสียหายตามความเป็นจริง ชดเชยพื้นที่การเกษตร 1,113 ต่อไร่ ไม่เกิน 30 ไร่ กรณีผู้เสียชีวิตจะจ่ายสงเคราะห์รายละ 2.5 หมื่นบาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะจ่ายเพิ่ม 2.5 หมื่นบาท

ปภ.ชี้พื้นที่เกษตรเสียหายพุ่ง 2.1 ล้านไร่

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.ถึงปัจจุบันเกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 33 จังหวัด 248 อำเภอ 1,479 ตำบล 11,895 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 846,436 ครัวเรือน 2,875,193 คน บ้านเรือนเสียหาย 14,703 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2,168,466 ไร่ ถนน 4,947 สาย สะพาน 201 แห่ง ฝาย/ทำนบ 518 แห่ง ผู้เสียชีวิต 27 ราย ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 24 จังหวัด

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการผู้ว่าฯ เร่งสำรวจสภาพความเสียหายของบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร พร้อมประเมินความเดือดร้อนของประชาชน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 ตุลาคม 2556 ในชื่อ เร่งผันน้ำเข้าแก้มลิง อยุธยาเปิด4ทุ่งนารับน้ำ