นักวิชาการเสนอตั้งบอร์ด-ซุปเปอร์บอร์ดน้ำ

วันที่2014-08-19

นักวิชาการเสนอให้จัดตั้งบอร์ดและซุปเปอร์บอร์ดน้ำ เพื่อขับเคลื่อนและบูรณาการโครงการน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงการเร่งด่วน เช่น ภัยแล้งที่กำลังรุนแรงขึ้นในขณะนี้

ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการสัมมนา “ยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย” ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดขึ้นเพื่อนำผลการสัมมนาเสนอต่อ คสช. ว่าจุดเด่นของการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยคือสามารถพัฒนาเข้าถึงชนบทได้มาก ซึ่งขณะนี้มีถึง 70,000 หมู่บ้านที่มีน้ำใช้ทั่วถึง ขาดเพียง 2,000 หมู่บ้านที่ยังรอความช่วยเหลือ ขณะที่จุดอ่อนสำคัญคือขาดระบบดูแลด้านภัยพิบัติและการจัดการน้ำเพื่ออนาคต ทำให้มีความเสี่ยงทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังขาดหน่วยงานที่จะรวบรวมแผนการบริหารจัดการน้ำที่เป็นภาพรวมของประเทศ ทำให้การนำเสนอโครงการต่างๆ ยังเป็นลักษณะคล้ายขนมชั้น คือ ต่างคนต่างเสนอโครงการของตัวเอง แต่ไม่สามารถบริหารจัดการหรือประสานงานให้เป็นโครงการเดียวกันได้ ดังนั้น เห็นว่า คสช.หรือรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีอายุในการบริหารงานไม่นาน ควรต้องเร่งพิจารณาจัดตั้งซุปเปอร์บอร์ดน้ำขึ้นมาขับเคลื่อนโครงการเร่งด่วนที่จะแก้ปัญหาด้านน้ำในระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี โดยเฉพาะโครงการป้องกันภัยแล้ง และโครงการต่างๆ ที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้ทันที โดยซุปเปอร์บอร์ดจะต้องทำงานเหมือนกับซุปเปอร์บอร์ดของรัฐวิสาหกิจ ขณะเดียวกันก็ต้องตั้งวอเตอร์บอร์ด หรือบอร์ดน้ำ เพื่อวางรากฐานโดยเฉพาะด้านกฏหมายต่างๆ สำหรับโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการมากว่า 1 ปี ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศมีทิศทางที่ชัดเจนและสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังกังวลกับปัญหาภัยแล้งที่มีทิศทางรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ ในขณะที่ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือรับมือกับปัญหาอย่างชัดเจน ดังนั้น คสช.ต้องมีคณะทำงานหรือมีกระบวนการที่จะรับมือกับปัญหานี้เป็นการเร่งด่วน รวมถึงต้องบรรจุแนวทางการแก้ปัญหาไว้ในแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศที่ คสช.กำลังดำเนินการอยู่ และจะแล้วเสร็จในกลางเดือนตุลาคมด้วย

ดร.สุทัศน์ วีสกุล นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่าแผนแม่บทพัฒนาและบริหารน้ำของประเทศที่จะเกิดขึ้นมีการตั้งข้อสังเกตว่าควรจะต้องพิจารณาปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยและลุ่มน้ำหลักควบคู่กันไป เพราะเมื่อทำสมดุลน้ำรายเดือนแล้วจะพบว่ามีปริมาณน้ำขาดหรือเกินเท่าไหร่ การบริหารจัดการเป็นอย่างไร จากนั้นจึงจะกำหนดวิธีการและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาได้ โดยรัฐบาลใหม่ต้องตั้งแผนและกำหนดโครงการก่อนถึงจะกำหนดงบประมาณในการดำเนินการ. – สำนักข่าวไทย

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวไทย TNA News วันที่ 19 สิงหาคม 2557 ในชื่อ นักวิชาการเสนอตั้งบอร์ด-ซุปเปอร์บอร์ดน้ำ