ทุ่มเงินล้านล้านก็จัดการน้ำไม่ได้ ถ้า…..

วันที่2015-10-21

คอลัมน์: ส่อง…เกษตร: ทุ่มเงินล้านล้านก็จัดการน้ำไม่ได้ ถ้า…..
สาโรช บุญแสง

ช่วงนี้ แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนงานกันอยู่ แต่ข่าวยังวนเวียนเรื่องเดิมๆ จนผมก็ “ตื๊อๆ” ที่จะหาแง่มุมเขียนถึง อีกทั้งขณะปั่นต้นฉบับอยู่นี้ ผมก็ติดพันภารกิจบางอย่าง ฉะนั้นขออนุญาตทุ่นแรงนำงานศึกษาของ TDRI-สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยมาบอกเล่ากันไปพลางก่อน เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐควรใส่ใจรับฟัง

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร หัวหน้าทีมวิจัยของ TDRI แถลงสรุปผลศึกษาการจัดการน้ำแบบไม่ใช้สิ่งก่อสร้างในลุ่มเจ้าพระยา ในเวทีสัมมนา “วิกฤติน้ำท่วม-น้ำแล้ง: พลิกโฉมการบริหารจัดการน้ำของไทย” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยชี้ประเด็นวิกฤติทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้งว่า ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความบกพร่องของนโยบายและการจัดการน้ำ รวมทั้งปัญหาการใช้ที่ดินที่ขาดการควบคุมด้วยและเนื่องจากแนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐ ยังคงเน้นสิ่งก่อสร้างเป็นหลัก TDRI จึงต้องเติมช่องว่างด้านนโยบายการจัดการสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ด้วยงานวิจัยนี้ที่ประกอบด้วยโครงการย่อย 4 ด้านคือ 1.การจัดการน้ำชลประทานและน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2.การวางแผนและการควบคุมการใช้ที่ดินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม 3.การปรับตัวของเกษตรกรและอุตสาหกรรมเพื่อรับมือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และ 4.การออกแบบสถาบันการจัดการน้ำที่เหมาะสม ซึ่งสรุปผลวิจัยได้ดังนี้

1.ผลวิจัยด้านการจัดการน้ำชลประทานพบจุดอ่อน คือ เป็นการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ รัฐไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม ปัญหาสำคัญสุดคือ โครงสร้างการจัดการน้ำปัจจุบันมีแต่คณะกรรมการลุ่มน้ำในระดับชาติกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในระดับชุมชน ยังขาดข้อต่อเชื่อมคณะกรรมการลุ่มน้ำกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ “หมายความว่า หากรัฐต้องการกระจายอำนาจการจัดการน้ำอย่างแท้จริง การสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ใช้น้ำ และสนับสนุนให้กลุ่มผู้ใช้น้ำจากจังหวัดที่มีปัญหา หันมารวมกลุ่มบริหารจัดการน้ำด้วยตนเอง จะทำให้ความพยายามตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำประสบความสำเร็จ”

2. ผลวิจัยด้านการจัดการน้ำท่วมการวิเคราะห์เรื่องการจัดการน้ำท่วมในลุ่มเจ้าพระยาพบปัญหาสำคัญคือ การจัดการด้านลงทุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ขาดการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อคัดเลือกโครงการลงทุน ไม่มีการจัดทำ EIA (ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ขาดระบบชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงความผิดพลาดในการจัดการน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ปัญหาการแทรกแซงทางการเมือง โดยรัฐไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า แต่กลับบอกว่า “เอาอยู่”

3. ผลศึกษาการจัดการใช้ที่ดิน จุดอ่อนสำคัญที่สุดในการป้องกันอุทกภัยระยะยาว คือ ขาดการวางแผนและควบคุมการใช้ที่ดิน เวลาถามถึงการวางแผนและควบคุมการใช้ที่ดิน ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เห็นความสำคัญ แต่หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 พบว่า รัฐบาลทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นไม่ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางและกติกาการวางแผนและควบคุมการใช้ที่ดินเลย นโยบายและแผนโครงการต่างๆยังเน้นสิ่งก่อสร้าง ถึงแม้ชุมชนมีการรวมกลุ่มรับมือปัญหาน้ำท่วมอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นกิจกรรมเฉพาะหน้าเท่านั้น

4. ผลศึกษาด้านการปรับตัวของเกษตรกร พบว่า มีโอกาสที่จะเกิดภาวะภูมิอากาศแปรปรวนผิดปกติมากขึ้น ซึ่งจะมีผล กระทบต่อผลผลิต ซึ่งเกษตรกรที่ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สามารถลดความเสียหายได้ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ปรับตัว เพราะขาดข้อมูลและความรู้วิธีปรับตัว

5. ผลศึกษาการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่เสียหายจากน้ำท่วมปี 2554 มากที่สุด จากนั้นจึงมีการปรับตัวเพื่อรับมือความเสี่ยงน้ำท่วมในอนาคต ทั้งที่ทำโดยรัฐบาลและโดยโรงงานเอง แต่ก็ยังมีจุดอ่อนหลายอย่าง โดยเฉพาะการทำประกันภัยต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว

“ในยามปกติไทยใช้การจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ แต่กลับกันในยามวิกฤติ ยกตัวอย่างปี 2554 กลับเริ่มด้วยการจัดการแบบกระจายอำนาจ ทั้งๆ ที่ต่างประเทศจะใช้การจัดการน้ำแบบกระจายอำนาจในภาวะปกติ และใช้แบบรวมศูนย์ในภาวะฉุกเฉิน หรือวิกฤติเท่านั้น”

ดร.นิพนธ์สรุปว่า เรายังขาดระบบจัดการน้ำท่วมที่เน้นการป้องกันในลักษณะการประเมินความเสี่ยงและพยากรณ์อุทกภัย รวมถึงขาดกฎหมายและขาดองค์กรระดับประเทศที่รับ ผิดชอบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ยังขาดข้อต่อสำคัญ กลไกที่เชื่อมองค์กรผู้ใช้น้ำ ในท้องถิ่นกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ และเพื่อพลิกโฉม การบริหารจัดการน้ำของไทย รัฐอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่า จะบริหารจัดการอย่างไร

“เราไม่จำเป็นต้องเอาเงินล้านล้านบาท เข้ามาจัดการปัญหา แต่ที่จำเป็นกว่าคือการเอาผู้ใช้น้ำนับล้านคนมาคุยกัน และเน้นกระจายอำนาจสู่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้ผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการจัดสรรน้ำ ให้มีการจัดการเรื่องที่ดิน เพราะถ้าไม่พูดเรื่องการจัดการที่ดิน ก็ไม่มีทางแก้น้ำท่วมได้”

เป็นข้อสรุปที่ภาครัฐควรรับฟังยิ่ง

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์แนวหน้า วันที่ 21 ตุลาคม 2558