ได้ฤกษ์เบิกเงินลงทุนน้ำแม้โครงการยังเสี่ยง”ล่ม”

วันที่2013-06-18

posttoday20130618

โดย…จตุพล สันตะกิจ

วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะพิจารณาเห็นชอบรายชื่อกลุ่มบริษัทผู้รับเหมา พร้อมทั้งอนุมัติแผนลงทุนเมกะโปรเจกต์น้ำ 3 แสนล้านบาท

ก่อนที่จะเซ็นสัญญากับสถาบันการเงินขอเปิดวงเงินกู้เกินบัญชี (Over Draft) กรอบวงเงินกู้ 3.04 แสนล้านบาท ภายในเส้นตายตามกฎหมายวันที่ 30 มิ.ย.นี้

เป็นการเริ่มต้นศักราชของการกู้เงินลงทุนที่มีกรอบวงเงินมากที่สุดของไทย ณ เวลานี้

ไม่ว่าผลของการพิจารณารายชื่อผู้ชนะการประมูลจะเป็นอย่างไร แต่ทุบโต๊ะลงไปได้ว่า การกู้เงินจะเกิดขึ้นแน่

แต่ที่แน่ๆ การกู้เงินของรัฐบาล โดยออกกฎหมายกู้เงิน เปิดวงเงินโอดีให้มีการนำเงิน “กู้นอกงบ” มาใช้จ่ายล่วงหน้า 5 ปี ทั้งๆที่โครงการอาจแท้งกลางทาง เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ส่งผลร้ายต่อวินัยการคลังของประเทศ

พ.ร.ก.น้ำ แบ่งการจัดสรรเงินเป็น 2 ส่วน ได้แก่ วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท เป็นอำนาจการบริหารจัดการของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)ที่มี ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ส่วนที่เหลือ 1 หมื่นล้านบาท เป็นอำนาจจัดสรรของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน

กรอบเงินกู้ลงทุนระบบน้ำ 3.4 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 6,960.3 ล้านบาท

มีการกันวงเงินสำหรับว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา 2 ส่วน วงเงิน 8,730.83 ล้านบาท

จึงเหลือยอดเงินที่ใช้ได้ 3.01 แสนล้านบาท เมื่อหักลบกับโครงการปลูกป่าต้นน้ำ พื้นที่ป่าต้นน้ำตอนเหนือ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและ 17 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ที่จัดสรรงบไว้ 1 หมื่นล้านบาท จะเหลือเงินกู้ที่ใช้ได้ 2.91แสนล้านบาท

เม็ดเงินก้อนโต 2.91 แสนล้านบาทนี่เองที่ กบอ.จะว่าจ้าง 4 บริษัทรับเหมาลงทุนโครงการน้ำ

ขณะที่การเจรจาต่อรองราคารอบสุดท้าย กบอ.โชว์ฝีมือต่อรองกับเอกชนแบบไม่น่าประทับใจนัก เพราะลดค่าจ้างได้เพียง 6,000 ล้านบาท หรือ 2% จากวงเงินลงทุน ถือว่าน้อยกว่าการเจรจาลดราคาสัมปทานสร้างรถไฟฟ้า 1 เส้นที่ใช้เงินหลักหมื่นล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ดี จนถึงบัดนี้ยังไม่มีใคร ซึ่งอาจรวมถึงนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่รู้ว่าการลงทุนโครงการน้ำ 9 แผนงาน (โมดูล) มีรายละเอียดโครงการอย่างไร ราคากลางเป็นอย่างไร จะสร้างฟลัดเวย์พาดผ่านพื้นที่ใดบ้าง สร้างเขื่อนที่ไหนบ้าง เป็นเขื่อนดินหรือเขื่อนคอนกรีต แก้มลิงและแนวป้องกันน้ำอยู่ที่ไหน เป็นต้น

ทุกอย่างในแผนงานลงทุนมหึมา ยังเป็นปริศนาที่ดำมืด

“มีการระบุพื้นที่เรียบร้อยแล้วที่ไหน อย่างไร ไม่เช่นนั้นจะเสนอราคากลางไม่ได้ เช่น พื้นที่ต้นน้ำต้องมีอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง ต้องมีบ่อน้ำเท่าไหร่ถึงจะเก็บน้ำ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร” นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธาน กบอ. ระบุ

พร้อมยืนยันว่า ราคากลางโครงการมีที่มาที่ไป “ไม่ใช่รัฐบาลกำหนดเงิน โดยคิดเอาเอง”

แม้ นิวัฒน์ธำรง ซึ่งมีภาพลักษณ์มือสะอาดที่สุดคนหนึ่งใน ครม.ยิ่งลักษณ์ จะบอกเช่นนั้น แต่ก็ยังมีปัจจัยสุ่มเสี่ยงทำให้การเดินหน้าลงทุนไปไม่ตลอดรอดฝั่งถึงฝั่งฝันก็ได้ โดยมีเงื่อนปัจจัยอย่างน้อย 3 ประเด็น

ประเด็นแรก ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้ระงับโครงการลงทุนน้ำ เพราะการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ยึดเงินเป็นตัวตั้ง ทั้งๆ ที่ไม่ทราบว่าโครงการใดเกิดขึ้นได้จริงบ้าง และไม่มีการสอบถามความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ที่จะก่อสร้างว่ายินยอมหรือไม่

ทำให้ทีมกฎหมายของ กบอ. และทีมอัยการสู้คดีต้องจัดเตรียมข้อมูลชี้แจงศาลปกครอง โดยเฉพาะการชี้แจงความโปร่งใสในการดำเนินการ

หากศาลปกครองกลางตัดสินคดีนี้ในวันที่ 27 มิ.ย. 2556 และคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โครงการลงทุนระบบน้ำจะเริ่มต้น “นับหนึ่ง” ใหม่ทันที

ประเด็นที่สอง กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เฝ้าติดตามและตรวจสอบโครงการลงทุนน้ำอย่างไม่กะพริบตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ มีการชี้จุดเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุทุจริต ตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งการลงมือก่อสร้าง พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการป้องกันทุจริตล่วงหน้า

โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ใช้วิธีจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (ดีไซน์ & บิลด์) ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบพัสดุปี 2535 และระเบียบอีออกชันปี 2549 การรวบรัดใส่งานต่างๆ ไว้ในสัญญาเดียว และมีผู้รับเหมาเข้าแข่งขันน้อยรายซึ่งทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่แท้จริง ประเด็นเหล่านี้จะส่งผลให้ภาครัฐได้ “ของคุณภาพต่ำในราคาแพง”

เสียงเตือนจาก ป.ป.ช. ทำให้ นิวัฒน์ธำรงต้องนำทีม กบอ.เข้าไปหารือกับ ป.ป.ช.เพื่อการันตีความโปร่งใส และรับฟังข้อห่วงใยของ ป.ป.ช.

แต่จนถึงบัดนี้ยังมีบางประเด็นที่ไม่อาจคลายข้อสงสัยของ ป.ป.ช.ได้

เช่น การศึกษาความคุ้มค่าของโครงการลงทุนระบบน้ำ ป.ป.ช.เชื่อว่า ในสุดท้ายทุกโครงการที่เอกชนจะลงทุนต้องผ่านฉลุยในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าอย่างแน่นอน เพราะผู้รับเหมาเป็นทั้งผู้ศึกษาความเป็นไปได้โครงการ ออกแบบก่อสร้าง และลงมือก่อสร้าง เรียกว่าเบ็ดเสร็จในจุดเดียว

“ผู้ที่เข้ามาแข่งขันก่อสร้างในรูปแบบดีไซน์และสร้าง จึงไม่มีราคากลาง และการให้ผู้ได้รับคัดเลือกไปทำทุกอย่าง จะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นทั้งคนที่ศึกษาความเป็นไปได้โครงการ และก็รับงานด้วย เขาจะทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้โครงการมีความเป็นไปได้สูง เพราะเขาอยากสร้าง” สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุ

เช่นเดียวกับกรณีการว่าจ้างบริษัทรับเหมารายอื่นๆ มารับเหมาช่วง หรือ “ซับคอนแทรกเตอร์” ที่ ป.ป.ช.เป็นห่วงว่าจะทำให้คุณภาพงานลดลง

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ “เค-วอเตอร์” ที่ไม่มีบริษัทรับเหมาในกลุ่ม แต่ได้งานก่อสร้างฟลัดเวย์ 1.5 แสนล้านบาท แผนงานแก้มลิงเกือบ 1 หมื่นล้านบาท

งานเกือบทุกชิ้นเรียกได้ว่า จะต้องส่งต่อให้บริษัทรับเหมาช่วง เพื่อให้บริษัทรับเหมามีกำไร จึงต้องกดราคาค่าจ้างกับผู้รับเหมารายย่อยอีกต่อ หากให้ผู้รับเหมาช่วงมีกำไร สุดท้ายก็ต้องลดคุณภาพเนื้องานลงอย่างไม่ต้องสงสัย

กรณีตรวจรับงานก็นับว่าเป็นปมที่ ป.ป.ช.ตั้งประเด็นไว้ เพราะแม้จะมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาควบคุมงาน แต่ภาครัฐไม่มีเจ้าหน้าที่ที่จะไปตรวจซ้ำว่าคุณภาพงานเป็นไปตามสเปกหรือไม่ หากบริษัทที่ปรึกษาและบริษัทก่อสร้างฮั้วกันเอง จะตรวจสอบอย่างไร โดยเฉพาะกับโครงการน้ำที่มีพื้นที่ลงทุนกว้างขวางครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ

ขณะที่การว่าจ้างที่ปรึกษาในโครงการน้ำเป็นสิ่งที่ต้องจับตาไม่น้อยไปกว่าการได้ตัวผู้รับเหมา

ประเด็นสุดท้าย การต่อต้านโครงการของประชาชนในพื้นที่ นี่คือปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องเผชิญ เพราะการเข้าไปหารือกับประชาชนในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านในบางแห่งไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทรับเหมาและเจ้าหน้าที่รัฐลงพื้นที่ จึงเป็นอุปสรรคขวากหนามที่รออยู่ ทั้งอาจเป็นเหตุจูงใจให้บริษัทรับเหมาใช้สารพัดวิธีบีบให้ชาวบ้านยอมรับการเวนคืนที่ดิน และนั่นอาจหนีไม่พ้นการใช้ความ “รุนแรง” ให้เกิดขึ้นได้ง่าย

ต้องไม่ลืมว่า เงื่อนไขทีโออาร์กำหนดให้ก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จใน 5 ปี หากก่อสร้างไม่เสร็จ โดยเฉพาะหากเวนคืนที่ดินไม่ได้ ทำให้โครงการจะล่าช้า นั่นหมายความว่าบริษัทรับเหมาจะต้องเสียค่าปรับในอัตราที่สูง และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้าไทยญี่ปุ่นถอนตัว

เงื่อนปมเหล่านี้ ทำให้โครงการลงทุนน้ำ3 แสนล้านบาท ที่ได้ฤกษ์เบิกงบ แต่อาจสุ่มเสี่ยงล้มครืนอย่างไม่เป็นท่าได้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 มิถุนายน 2556 ในชื่อ ได้ฤกษ์เบิกเงินลงทุนน้ำแม้โครงการยังเสี่ยง”ล่ม”